เพลิงไหม้โกดังเก็บสินค้า บ.เฟอร์นิเจอร์ และชุดอุปกรณ์เครื่องครัวพลาสติกชื่อดัง ในซอยฉลองกรุง 55 เหตุเกิดข้ามคืนยังดับไม่สนิทโดยเฉพาะจุดต้นเพลิงมาจากชั้นใต้ดินที่มีเม็ดพลาสติกที่เพิ่งสั่งซื้อมากว่า 300 ตัน ชุดผจญเพลิงยังเข้าไปไม่ได้เพราะความร้อนยังระอุอีกทั้งอาคารเริ่มทรุดตัวทำได้แค่ควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัด ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่อพยพชาวบ้านชุมชนโดยรอบย้ายไปที่วัดสุทธาโภชน์ และที่โรงเรียนวัดปลูกศรัทธา ห่างจุดเกิดเหตุประมาณ 7 กิโลเมตร เพราะบริเวณที่เกิดเหตุอากาศเต็มไปด้วยสารพิษรัศมี 300 เมตร ขณะที่ตัวแทนผู้บริหารโรงงานยันเป็นเหตุสุดวิสัย ยินดีให้ความร่วมมือกับทางราชการ และขออภัยเพื่อนบ้านในชุมชน ยืนยันจะเยียวยาให้ดีที่สุด ด้านนายกฯ “อิ๊งค์” เผยคุมเพลิงลาดกระบังได้พร้อมให้กำลังใจคนทำงาน

ไฟไหม้ข้ามคืน รง.ผลิตเฟอร์นิเจอร์และชุดครัวพลาสติกยี่ห้อดัง เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 11 พ.ค. ร.ต.อ.พิชิตชัย นาพัฒนกิจ รอง สว. (สอบสวน) สน.ฉลองกรุง รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้โกดัง บริษัท สยามเฮ้าส์ แอนด์ โฮม จำกัด ผลิตเฟอร์นิเจอร์ยี่ห้อคิงส์ เลขที่ 365 ซอยฉลองกรุง 55 ถนนฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ไปตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดกระบัง หนองจอก ร่มเกล้า หน่วยกู้ภัยใกล้เคียง และอาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พร้อมรถน้ำสนับสนุนกว่า 50 คัน

ที่เกิดเหตุอยู่ริมถนนเป็นโกดังขนาดใหญ่ 2 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน เปิดเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายชุดครัวพลาสติกส่งห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ในโกดังเก็บสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ภายในครัวเรือน มีวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งไม้อัด พาเลทวางสินค้า และพลาสติกอยู่จำนวนมาก ต้นเพลิงอยู่ชั้นใต้ดินมีแสงเพลิงและกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นด้านบนทางเข้าและมีความร้อนสูง เจ้าหน้าที่ต้องใช้ถังออกซิเจนลงไปตรวจสอบ จากนั้นการไฟฟ้าเข้าตัดกระแสไฟก่อนระดมฉีดน้ำรอบตัวอาคารป้องกันเพลิงกระจายวง ขณะที่เพลิงลุกลามทั้ง 2 โกดังพื้นด้านในอาคารมีรอยร้าวใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง จนควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัด เหลือแสงเพลิงอยู่เฉพาะในตัวอาคาร

...

ต่อมานายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภาฯ กทม. รับมอบหมายจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธราพงษ์ เพ็ชรคง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง ลงพื้นที่ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์บริเวณโรงเรียนลำพะอง โดยนายสุรจิตต์กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ตอนนี้กลุ่มควันมีปริมาณมากต้องใช้โฟมประกอบกับน้ำ เบื้องต้นไม่มีผู้ติดอยู่ด้านในตัวโรงงานหรือมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เนื่องจากตรงกับวันหยุดโรงงาน มีเพียงชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มควันมารวมตัวกันอยู่ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ในโรงเรียนลำพะอง กทม. สนับสนุนรถสุขาเคลื่อนที่ รวมถึงน้ำดื่ม อาหาร ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิต่างๆ ที่ร่วมอำนวยความสะดวกอยู่ในที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ กทม.ได้สนับสนุนเครื่องผลักดันและอัดอากาศ LUF-60 มายังจุดเกิดเหตุ

ต่อมาเวลา 08.00 น. วันที่ 12 พ.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านอาคารโรงงานอุตสาหกรรม และกำลังตำรวจพร้อมทีมกู้ภัย เข้าตรวจสอบความคืบหน้าในการควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้ และความเสียหายรอบพื้นที่โรงงาน พบว่าหลังโรงงานยังมีการลุกไหม้ของเปลวเพลิง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงชุดตรวจสอบรายงานว่า ต้นเพลิงอยู่ชั้นใต้ดินแต่ยังไม่สามารถลงไปได้ เนื่องจากมีกลุ่มควันและความร้อนสูงต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือพิเศษ ตลอดจนหน้ากากออกซิเจนให้เพียงพอกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่านี้

ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัย 3 รายที่เข้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเย็นวานนี้เปิดเผยว่า เพลิงเริ่มต้นจากชั้นใต้ดินของอาคาร ภายในมีเม็ดพลาสติกจำนวนมาก ทำให้การควบคุมเพลิงเป็นไปด้วยความยากลำบากช่วงแรกทำได้แค่ระบายควัน ไม่สามารถลงไปถึงต้นเพลิงได้ กลุ่มควันพวยพุ่งออกอย่างรุนแรง ความร้อนระอุมีอุณหภูมิถึง 700 องศาฯ ทำได้แค่เปิดพัดลมระบายควันออกมา ผ่านไป 2-3 ชั่วโมง ระดมฉีดน้ำต่อเนื่องแต่ยังไม่สามารถดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าต้องใช้เวลา 2-3 วันในการควบคุมเพลิงให้สงบอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากตัวโรงงานมีขนาดใหญ่และวัสดุภายในเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

จากนั้นนายชัชชาติเผยว่า แนวทางปฏิบัติเตรียมใช้โฟมประกอบน้ำระดมฉีดเข้าในจุดที่ยังคงมีเพลิงปะทุและความร้อนสูง คาดว่าจะควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในวงจำกัดภายในช่วงเที่ยง ส่วนพื้นที่ในโรงงานยืนยันว่าไม่มีผู้ติดค้าง ผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิต เนื่องจากเหตุเกิดในช่วงวันหยุดยาว ล่าสุด สำนักงานเขตลาดกระบังจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ และศูนย์ช่วยเหลือผู้พักพิงที่โรงเรียนลำพะอง มีชาวบ้านชุมชนริมคลองลำปลาทิว ชุมชนวัดทิพพาวาส ชุมชนทิวไผ่พัฒนาและหมู่บ้านหรู 4-5 แห่ง มารวมตัวเพราะได้รับผลกระทบจากความร้อนและกลุ่มควัน สั่งให้เจ้าหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่เต็มที่ ยืนยันสถานการณ์จะคลี่คลายภายในวันนี้

ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่ศูนย์บัญชาการเหตุบริเวณโรงเรียนลำพะอง นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพ มหานคร เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุก่อนเผยว่า ขณะนี้เจ้าของโรงงานให้ข้อมูลบางส่วนแล้วพบว่าในโกดังโรงงานมีเม็ดพลาสติกมากถึง 300 ตัน หรือราว 300,000 กิโลกรัม ขณะนี้เผาไหม้จนเกือบหมด ตรวจสอบจุดความร้อนด้านใต้โรงงานยังมีเปลวเพลิงเป็นกลุ่มเล็กๆกระจายอยู่อาคารหลังที่ 3 อีก 20% ให้เจ้าหน้าที่นำรถแบ็กโฮและเครื่องจักรหนักทุบเจาะกำแพงโรงงานทางด้านซ้ายเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงนำสายยางไปฉีดน้ำสกัดเพลิงได้ คาดว่าจะสามารถควบคุมเพลิงได้ทั้งหมดเร็วๆนี้ ก่อนจะมีฝนตกเพราะหากมีฝนตกผลเสียจะมากกว่า เนื่องจากสารพิษจะกระจายออกด้านข้างโรงงานได้ ส่วนโรงงานมีใบอนุญาตถูกต้องหรือไม่นั้น อยู่ระหว่างตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าเจ้าของมีชื่อเป็นคนไทย และบุคคลที่มาแสดงตัวก็เป็นคนไทยด้วยเช่นกัน

นางวันทนีย์กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งกลุ่มควันสีดำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยสารพิษทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์, เบนซีน, ฟอร์มาลดีไฮด์ และอื่นๆ คาดว่าแพร่กระจายในระยะรัศมี 300 เมตร และจะอยู่ในอากาศนาน 3-7 วัน เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านและปิดศูนย์พักพิงทั้ง 4 แห่ง ย้ายไปที่วัดสุทธาโภชน์ และที่โรงเรียนวัดปลูกศรัทธา ห่างจุดเกิดเหตุประมาณ 7 กิโลเมตร พร้อมแนะนำชาวบ้านห้ามเปิดแอร์ แต่ให้เปิดพัดลมระบายอากาศ และอย่าออกนอกบ้าน หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากอนามัย N95 จะสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับสารพิษทางอากาศอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ แสบเยื่อบุตาหรือระคายเคืองผิว แก้อาการได้ด้วยสบู่และน้ำสะอาด

...

กระทั่งเวลา 14.00 น. น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานและหัวหน้าชุดสุดซอย ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ พร้อมกล่าวว่า โกดังดังกล่าวเป็นโกดังเก็บสต๊อกสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วและเป็นที่เก็บเม็ดพลาสติก ไม่ใช่ตัวโรงงานผลิตที่อยู่อีกซอยหนึ่ง ก่อนหน้านี้โรงงานได้สั่งเม็ดพลาสติกมาเพิ่ม 300 ตัน ไว้ที่ชั้นใต้ดินโรงงานถือเป็นเชื้อเพลิง และเมื่อเกิดเพลิงไหม้หน่วยงานเอกชนได้สนับสนุนโฟมมาช่วยดับ แต่ ปภ. กทม. ขอใช้น้ำในการดับเพลิงก่อน เนื่องจากการใช้โฟม จนท.จะต้องเข้าไปใกล้จุดเพลิงจะฉีดได้ แต่ตอนนี้ยังเข้าไปไม่ได้ นอกจากนี้ ทางนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะส่งรถโมบายตรวจค่ามลพิษเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าไม่มีมลพิษหรือสารพิษตกค้าง แต่ถ้าตรวจพบจะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไข ส่วนบุคคลที่จดแจ้งขึ้นทะเบียนบริษัทเป็นคนไทยจะมีความผิดหรือไม่นั้น ต้องให้ กทม.ไปตรวจสอบ เพราะเป็นอำนาจหน้างาน แต่หากพบว่ามีการดัดแปลงโกดังเป็นโรงงานผลิตจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรงงาน โทษจำคุก 2 ปี แต่กระทรวงจะตรวจสอบร่วมด้วยว่ามีการฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรงงานหรือไม่ แต่ตอนนี้ขอให้สถานการณ์หน้างานคลี่คลายก่อน

ด้านนายพรชัย ปวีนพงษ์พัฒน์ ตัวแทนผู้บริหารคิงส์คิทเช่น เจ้าของโรงงานเผยว่า เพลิงได้ไหม้โกดังทั้งหมด ยังประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ได้ แต่สถานที่แห่งนี้ใช้เก็บสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากพลาสติก บรรจุกล่องพร้อมส่งให้ลูกค้า มีทั้งจำหน่ายทั่วไปและส่งออก ยืนยันไม่มีสารเคมี ส่วนกลิ่นที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นกลิ่นทินเนอร์ เป็นกลิ่นที่มาจากกระบวนการเผาไหม้สินค้าพลาสติกสำเร็จรูป ยืนยันว่าที่นี่เป็นโกดังเก็บสินค้า โรงงานที่ผลิตอยู่ที่จุดหนึ่งและขออนุญาตถูกต้อง ส่วนเจ้าของเป็นกลุ่มของคนไทยและมีคนไต้หวันเป็นหุ้นส่วน ส่วนสาเหตุเพลิงไหม้ยังไม่ทราบรอให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบ ทั้งนี้บริษัทมีประกันภัย และเรื่องนี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น บริษัทพยายามจะดูแลให้ดีที่สุดให้ความร่วมมือกับทางราชการ และดูแลเจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงานเต็มที่ แต่บริษัทมีพนักงานอีก 800 ชีวิตที่ต้องดูแล บริษัทจะสู้ต่อไปกับวิกฤติครั้งนี้ และขออภัยเพื่อนบ้านในชุมชน ยืนยันจะเยียวยาให้ดีที่สุด

...

ต่อมาเวลา 15.30 น. มีฝนตกอย่างหนักส่งผลให้กลุ่มควันสีดำเริ่มเป็นสีขาวและค่อยๆจางลง แต่ยังมีแสงเพลิงอยู่ด้านในบางส่วนตรงจุดที่มีหลังคาปกคลุมอยู่ เจ้าหน้าที่ยังเข้าไปด้านในไม่ได้ เพราะความร้อนยังระอุอยู่มาก อีกทั้งโครงสร้างอาคารเริ่มทรุดตัวหลายจุด เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการทำงานเป็นอย่างมาก

ก่อนหน้านี้เวลา 11.46 น. วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทวีตข้อความผ่าน X ว่า “จากกรณีไฟไหม้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ที่เขตลาดกระบัง ตั้งแต่เมื่อวานเย็นที่ผ่านมาได้รับรายงานจาก กทม. โดย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ว่าได้เข้าไปดูแลการควบคุมเพลิง ณ จุดเกิดเหตุ ล่าสุดควบคุมเพลิงโดยรอบได้แล้ว แต่ยังมีบางจุดของโรงงานที่ยังมีไฟไหม้อยู่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลและควบคุมเพลิงอย่างเต็มกำลัง และประสาน ปภ.สาธารณสุข และกรมควบคุมมลพิษ ตรวจสอบค่ามลพิษในอากาศ เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ขณะนี้ทั้งเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ และอาสาสมัครทุกท่าน ที่เสียสละเข้าไปช่วยเหลือและดูแลสถานการณ์”

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่