เหตุการณ์แผ่นดินไหว ในเมียนมา ครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า เวรกรรมมีจริง ได้เห็นชาตินี้ไม่ต้องไปรอชาติหน้า เหตุการณ์ ตึก สตง.ถล่ม ทำให้รู้ว่า หน่วยงานที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินภาครัฐ ก็ไม่สามารถไว้วางใจได้เสมอไป คำว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นโลกสองใบขององค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ และเป็นบทเรียนราคาแพงในความหละหลวมของประเทศไทยที่มองแค่ปริมาณของการลงทุน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพที่จะตามมา

ทัวร์ศูนย์เหรียญ โรงงานศูนย์เหรียญ เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศโดยตรง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุนอย่าง บีโอไอ ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ แม้แต่ บริษัททุนจีน ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม และ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตอุตสาหกรรม อย่าง ซิน เคอ หยวน สตีล ซึ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่มจะไม่รู้เลยว่า คุณภาพการผลิตของบริษัททุนจีนมีปัญหาขนาดไหน

ถึงจะเป็นข่าวฉาวขนาดนี้ มีคนตายมากมายขนาดนี้ บีโอไอ ทำได้แค่ เพิกถอนการใช้สิทธิประโยชน์เป็นการชั่วคราว จนกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีหนังสือแจ้งมายังบีโอไอให้กลับมาดำเนินการผลิตได้ “ที่ผ่านมา บีโอไอไม่ได้นิ่งนอนใจกับกรณีดังกล่าว ได้เข้าตรวจสอบโรงงานของบริษัท ซิน เคอ หยวน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและมีหนังสือแจ้งเตือนให้บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในบัตรส่งเสริม รวมทั้งต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด จากนั้นได้เร่งนัดประชุมร่วมกันระหว่างบีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีรองนายกฯ พิชัย ชุณหวชิร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 เม.ย. พิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ ก่อนประชุมบอร์ดบีโอไอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น” ขีดเส้นใต้เอาไว้เลย

บีโอไอ ยังออกตัวว่า ได้ยกเลิกการส่งเสริมเหล็กเส้นสำหรับงานก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้น และเหล็กข้ออ้อย มาตั้งแต่ปี 2543 ส่วนการผลิตเหล็กอื่นๆ บีโอไอเฝ้าระวังและหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับภาวะผลิตภัณฑ์เหล็กล้นตลาดและมีปัญหาการทุ่มตลาดในอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กก่อสร้าง เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทย ปัดความรับผิดชอบไปเรียบร้อย

...

ในส่วนของ สตง. โดยรองผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน สุทธิพงษ์ บุญนิธิ ที่น่าจะใกล้ชิดรู้เรื่องราวมากที่สุดชี้แจงว่า ตึก สตง.เป็นอาคารสูงพิเศษ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2522 จึงมีการจ้างออกแบบโดยฟอ-รัม อาร์คิเทค และไมนฮาร์ท วงเงิน 73 ล้าน ผู้ชนะการประกวดราคา คือกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์) และไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ลงนามในสัญญาตั้งแต่ 23 ก.ย.2563 มีการแก้ไขสัญญาถึง 9 ครั้ง งบประมาณอยู่ที่ 2,560 ล้าน ราคากลาง 2,511 ล้าน แต่ราคาประมูลอยู่ที่ 2,136 ล้าน ปรับเนื้องานแก้ไขสัญญาทำให้งบปัจจุบันอยู่ที่ 2,131 ล้าน ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 36 งวดงาน เริ่มส่งมอบพื้นที่การก่อสร้าง 1 ม.ค.2564 จะต้องเสร็จวันที่ 31 ธ.ค.2566

อ้างสถานการณ์โควิดขอขยายเวลาถึง 3 มิ.ย.2567 ไม่เสร็จอีกต่อสัญญาเป็นวันที่ 14 มิ.ย.2568 นอกจากโควิดจะเป็นแพะรับบาป ซินเคอหยวนยังกล้าพูด ตึก สตง.ถล่มไม่เกี่ยวกับคุณภาพเหล็กแต่เป็นเพราะเหตุอื่น ทั้งบริษัทยังเสียภาษีกว่า 850 ล้านและเคยช่วยบริจาคหน้ากากอนามัยช่วงโควิดจำนวน 20 ล้านชิ้น กลายเป็นหนี้บุญคุณไปฉิบ.


หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม