เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจำเจและสร้างความหวาดกลัวผู้ใช้เส้นทาง “ถนนพระราม 2” ฉายา “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” มาพร้อมกับจำนวนอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากพื้นที่การก่อสร้างที่ไม่มีวันจบสิ้น และปรับปรุงถนนยาวนาน 55 ปี
ข้อมูลสถิติของกรมทางหลวงพบว่า ช่วงระหว่างปี 2561-2567 มีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้น 2,242 ครั้ง มีจำนวนผู้เสียชีวิต 132 ราย ได้รับบาดเจ็บ 1,305 ราย และปี 2561 อุบัติเหตุเกิดสูงสุด 491 ครั้ง เสียชีวิต 38 ราย
เกี่ยวข้องการก่อสร้าง
วันที่ 21 ส.ค.2564 คนงานบริษัท อิตาเลียนไทย ตกจากคานทางด่วนพระราม 2 เสียชีวิต วันที่ 17 ก.ค.2565 วัสดุก่อสร้างร่วงบนถนนพระราม 2 กม.17 เหล็กขนาดใหญ่ตกลงมาทับรถกระดอนขึ้น วันที่ 31 ก.ค.2565 สะพานกลับรถหรือจุดยูเทิร์นเกือกม้า กม.34 พังถล่มลงมาทับรถยนต์มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย
วันที่ 7 พ.ค.2566 หน้า index living mall ถนนพระราม 2 เหล็กที่ยึดโครงสร้างชิ้นส่วนคานขาด ทำให้คานหล่นลงพื้นคนงานที่กำลังยึดเกี่ยวสลิงอยู่บนคานหล่นลงมามีผู้เสียชีวิต 1 ราย ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และมีรถยนต์ที่สัญจรไปมาเส้นทางถนนพระราม 2 ได้รับ
ความเสียหายจำนวน 4 คัน
วันที่ 29 พ.ย.2567 มีแผ่นปูนถล่มลงมาจากชิ้นส่วนการก่อสร้างทางยกระดับ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ทำให้มีคนงานเสียชีวิต 6 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์อีกหลายราย
ล่าสุดวันที่ 15 มี.ค.2568 สะพานทางด่วนกำลังก่อสร้างถล่มมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย
อุบัติเหตุเกิดซ้ำซาก
ทุกครั้งที่มีเหตุความสูญเสียเกิดขึ้น ผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐบาล
ผู้ประกอบการต่างเคลื่อนไหว แต่ผ่านไปไม่นานเกิดเหตุขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงระบบ ผู้มีอำนาจควรรับผิดชอบแก้ไขจริงจัง ทั้งการควบคุมมาตรฐานการก่อสร้าง กำกับดูแล ประเมินความเสี่ยง ความสูญเสียทางชีวิตและทรัพย์สินเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
...
สัญญาณเตือนยกระดับความปลอดภัยเสียที.
“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ “เลขที่1 วิภาวดีฯ” เพิ่มเติม