ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วกับสัปดาห์นี้ ผมโชคดีมีโอกาสได้ไปร่วมงานสำคัญๆ ที่เมื่อไปแล้วก็ได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเราควบคู่ไปด้วย

เริ่มจากการไปเยี่ยมสวน “เปรมประชาวนารักษ์” และล่องเรือไปตามคลองเปรมประชากร ย้อนจากบริเวณสวนฯ แถวๆสถานีรถไฟฟ้าทุ่งสองห้อง มาที่สะพานรัชโยธิน หรือที่เราเรียกกันว่าสะพาน “เส้นก๋วยเตี๋ยว” ตามคำเชิญของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ผมเขียนเล่าไปแล้ว 2 หรือ 3 วันติดๆกัน

ทำให้ทราบว่า คลองเปรมประชากร นั้นเป็นคลองประวัติศาสตร์คลองหนึ่ง ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2413 จากคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณหน้าวัดโสมนัสวรวิหาร ผ่านเขตดุสิต เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง ไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองเอก รังสิต จังหวัดปทุมธานี แล้วก็ไปถึงอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยาวประมาณ 50 กิโลเมตร

โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำจากกรุงรัตนโกสินทร์ ไปถึงกรุงศรีอยุธยา ย่นระยะจากการเดินทางไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมาก

ระหว่างนั่งเรือไปตามลำคลอง ฟังน้องๆเจ้าหน้าที่ของ ปตท. เล่าประวัติศาสตร์ย้อนหลัง ก็ทำให้รู้สึกเหมือนว่าตัวเรานั่งไทม์แมชชีน กลับไปสู่ยุคของพระองค์ท่าน พร้อมกับนึกเสียดายว่าวันนี้ได้นั่งเรือในคลองนี้เพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น...มีโอกาสวันข้างหน้าอาจจะหาทางนั่งต่อไปให้ถึงบางปะอินปลายทางคลองสักครั้งหนึ่งในชีวิต

มาสัปดาห์นี้เมื่อวันจันทร์นี่เอง ผมก็ได้รับหนังสือเวียนจาก คุณ เพ็ชรากรณ์ วัชรพล หรือ “คุณแหม่ม” รองหัวหน้ากองบรรณาธิการ เจ้านายสายตรงของพวกเรา ให้ไปร่วมทำบุญและร่วมห่มผ้าถวายสักการะ พระบรมธาตุภูเขาทอง วัดสระเกศ

ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ ยังไม่ได้ออกเดินทางไปครับ แต่ก็รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้นั่ง “ไทม์แมชชีน” ย้อนกลับไปสู่ยุคกรุงศรีอยุธยาฯ และต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้ง

...

พระบรมบรรพตภูเขาทองแห่งวัดสระเกศนั้น สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อจำลองแบบจาก ภูเขาทอง ที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งตามประวัติศาสตร์บอกว่าพระเจ้าบุเรงนองมาสร้างฐานไว้ สำหรับเป็นที่ระลึกว่าพระองค์สามารถเอาชนะกรุงศรีอยุธยาได้

แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ยังไม่ทันก่อองค์พระเจดีย์พระองค์ก็เสด็จกลับพม่าไปเสียก่อน...ต่อมาเมื่อ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพให้แก่กรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ...ก็ทรงสั่งให้สร้างพระเจดีย์ในแบบศิลปะไทยขึ้นครอบฐานเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะพม่าเอาไว้ กลายเป็นพระเจดีย์ภูเขาทองแห่งกรุงศรีอยุธยา

ข้างๆพระเจดีย์มีคลองขุดอยู่คลองหนึ่งนำขุดโดยพระภิกษุที่บวชเป็นมหาชื่อนาค ชาวบ้านจึงเรียกว่า “มหานาค” และคลองดังกล่าวก็ได้ชื่อว่าคลองมหานาคไปด้วย

ต่อมาคลองมหานาค และภูเขาทองแห่งกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นที่โจษขานเลื่องลือว่ามีการจัดงานเฉลิมฉลองได้อย่างเอิกเกริกและสนุกสนานที่สุด ตั้งแต่มัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนแม้ภายหลังเมื่องกรุงแตกเป็นครั้งที่ 2 ไปแล้วก็ยังมีการจัดงานที่นี่

แม้แต่กวีเอกรัตนโกสินทร์ “สุนทรภู่” ก็เคยไปงานฉลองที่ภูเขาทองอยุธยา นั่งเรือรอนแรมไปทั้งๆที่ยังเป็นพระ และกลับมาเขียน “นิราศภูเขาทอง” ที่คนรุ่นเรานำมาท่องอาขยานสมัยเรียนหนังสือตอนหนึ่งว่า “ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง” หลายท่านคงจำได้

ขนาด สุนทรภู่ ยังมีความตั้งใจที่จะไปภูเขาทอง...คนกรุงรัตนโกสินทร์อื่นๆในยุคนั้นจึงน่าจะอยากให้มี “ภูเขาทอง” ขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์บ้าง...เป็นที่มาของการขุดคลอง มหานาค กรุงเทพฯ ผ่านวัดสะแก ที่เปลี่ยนมาเป็นวัดสระเกศ และสร้างพระเจดีย์ภูเขาทองขึ้น ณ วัดสระเกศ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังกล่าว

เนื้อที่หมดพอดีเลยครับ ขออนุญาตนำตอนจบของ “นิราศภูเขาทอง” ฉบับ กทม. ของผมไปลงคอลัมน์ซอกแซกวันอาทิตย์นี้ อย่าลืมติดตามอ่านด้วยนะครับ.

"ซูม"

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม