“พระภิกษุ”...หรือนักบวชซึ่งเป็นศาสนทายาทสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนทั้งการสืบทอดพระศาสนา เผยแผ่ รักษาพระธรรมวินัยให้ยั่งยืนยาวนาน...ความป่วยไข้ของพุทธบริษัทสี่รวมทั้งการดูแลเยียวยา การรักษาเป็นหลักการหนึ่งของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงประทานให้คณะสงฆ์

และ...พระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลการเจ็บป่วยพระภิกษุสามเณรด้วยกัน ตลอดจนถึงการเอื้ออาทรไปยังชาวพุทธที่เลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนามาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล

พระพุทธรูปปางหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นเป็นอย่างดีในสังคมไทยก็คือ ปาง “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต” หรือพระผู้คุ้มครองรักษามนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากโรคกาย ใจ จิตวิญญาณ รวมถึงแพทย์บุคคลหนึ่งที่สำคัญยิ่งก็คือ...หมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำพระพุทธองค์ แห่งแคว้นมคธ

เฉลิมพล พลมุข ประธานมูลนิธิธรรมรักษ์ วัดพระบาทน้ำพุ บอกว่า “กุฏิชีวาภิบาล” เป็นสถานที่หนึ่งในการขับเคลื่อนของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวเนื่องไปยังวัดต่างๆทั่วประเทศที่มีทรัพยากรทั้งเงิน บุคลากร สถานที่ รวมถึงการบริหารจัดการให้พระภิกษุที่ป่วยไข้ได้เข้าพักดูแลรักษา

หรือ...ที่เรียกว่า สถานที่ดูแลรักษาพระภิกษุแบบประคับ ประคอง (Palliative Care, PC) ในสังคมไทยเราได้มีการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม เพื่อดูแลสุขภาพพระสงฆ์จำนวน 72,000 รูป เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง 72 พรรษา

โดยให้มีการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลอำเภอละ 1 แห่ง มีหลักสูตรในการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก 420 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า “Care Giver” เพื่อดูแลพระภิกษุที่อาพาธติดเตียงช่วยเหลือตนเองไม่ได้...

...

ข้อเท็จจริงหนึ่ง เมื่อครั้งคราใดที่เราท่านเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลก็จะได้พบเห็นพระภิกษุที่ท่านป่วยไข้ด้วยโรคต่างๆต้องนั่งรอคิวเรียกเพื่อพบแพทย์เฉกเช่นประชาชนทั่วไป เมื่อแพทย์พยาบาลมีความจำเป็นต้องรับเข้าดูแลรักษาในโรงพยาบาล พระภิกษุเหล่านั้นก็ต้องเข้าพักในเตียงผู้ป่วยที่ปะปนไปด้วยฆราวาส

...ที่ดูเสมือนว่าการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นปกติทั่วไป แต่ภาวะของความรู้สึกของความที่เป็นนักบวชในพระธรรมวินัยก็อาจจะไม่ค่อยสะดวกต่อการรักษาในห้องรวม หากเป็นสถานที่ในวัดหรือมีพระภิกษุคิลานุปัฏฐาก มีกุฏิชีวาภิบาลก็เป็นทางออกหนึ่งที่เติมไปถึงการดูแลความเจ็บป่วยที่เรียกว่า “ตายดี”

สังคมไทยเราขณะนี้การเจ็บป่วยไข้ของคนแก่ชราผู้สูงอายุมีมาก...โรงพยาบาลรัฐมีผู้ป่วยล้น ขาดแคลนแพทย์ พยาบาล บุคลากร จนหลายแห่ง...ขอตั้งกองผ้าป่าเพื่อหาทุนในการซื้อเวชภัณฑ์อุปกรณ์ต่างๆ

วัดหรือสำนักสงฆ์ในเมืองไทยเรามีมากกว่า 30,000 แห่ง บุคลากรในพระศาสนามีพระภิกษุสามเณรมากกว่าสองแสน ไม่รวมแม่ชีผู้ปฏิบัติธรรมที่อยู่ในวัด การขับเคลื่อนสุขภาพพระสงฆ์ให้เป็นวาระแห่งชาติ...ดูแลรักษาองค์รวมทั้งร่างกายจิตใจ หลักธรรมะที่เข้าสู่การตายดีอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จำเป็นต้องเกิดขึ้น?

เฉลิมพล ย้ำว่า ธรรมชาติหนึ่งในสังคมฆราวาสและสังคมของพระสงฆ์โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่ในยามป่วยไข้ที่ต้องอาศัยอยู่ในกุฏิในบรรยากาศของวัด หากเจ้าอาวาสหรือพระร่วมวัดเอาใจใส่ต่อการดูแลเพื่อนพระด้วยกันก็ย่อมเป็นภาพลักษณ์ที่ดีงาม

ทว่า...ในข้อเท็จจริงหนึ่งที่สื่อในสังคมไทยเราได้นำเสนอถึงพระป่วยที่ต้องไปอยู่อาศัยในบ้านครอบครัวที่มีญาติพี่น้องช่วยกันดูแล ภาพลักษณ์หนึ่งอาจจักดูว่าไม่เหมาะสมหรือมิควร

หรือ...อาจจะมีพระภิกษุบางรูปตัดสินใจอัตวินิบาตกรรมในการฆ่าตนเองให้ตายไป อันเนื่องมาจากความทุกข์ทรมานจากการป่วยไข้

นับรวมไปถึง...สังคมที่ตั้งคำถามว่า “ควร” หรือ “ไม่ควร”...?

สถานภาพของพระภิกษุไทยทุกวันนี้มีความแตกต่างไปจากชีวิตแห่งความเป็นพระในอดีตกาล อาทิ ชีวิตแห่งความเป็นพระในบางรูปต้องการบวชเพื่อดูแลรักษาพระศาสนา รักษาพระธรรมวินัย แสวงหาทางปฏิบัติเพื่อให้ตนได้บรรลุแห่งธรรมและเกื้อกูลอนุเคราะห์แก่ประชาชนที่ทุกข์ยาก

ขณะเดียวกันผู้เข้าบวชบางคนก็ทั้งไม่มีอาชีพการงาน ออกจากคุกตะราง เป็นผู้บำบัดยาเสพติด...มีคดีความบ้านเมือง เมื่อไปอยู่ในวัดแล้วเจ้าอาวาสผู้ปกครองสงฆ์ก็ยากในการบริหารจัดการวัดและบรรยากาศให้เป็นสถานที่ที่เป็นความคาดหวังของสังคม...ทิศทางของวัดในอนาคตจักเป็นเช่นไรจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลยิ่ง

...

“ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกๆปี บุตรหลานหลายบ้านได้บวชเพื่อจำพรรษาสืบทอดพระศาสนาตอบแทนพระคุณพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ข้อเท็จจริง หนึ่งเขาเหล่านั้นก็ได้ไปรับทราบหรือช่วยเหลือพระภิกษุที่เจ็บป่วยไข้ในวัดหรือสำนักสงฆ์ต่างๆ”

สะท้อนความจริงที่ว่า ปัจจุบันในแต่ละวัดจะมีพระภิกษุที่มีความป่วยด้วยโรคต่างๆอยู่ประจำวัด พระบางรูปไม่มีญาติพี่น้องในการดูแลช่วยเหลือ การไปรักษาอยู่โรงพยาบาลรัฐก็เป็นเพียงชั่วคราวเมื่อต้องกลับไปพักรักษาตัวในวัดก็จะมีความยากลำบากในการประคับประคองชีวิต

บางรูป...เป็นเจ้าอาวาสต้องป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตหากมีญาติพี่น้องช่วยในการดูแลก็จะทำให้ความป่วยไข้ทุเลาไปได้ระดับหนึ่ง การที่รัฐมีนโยบายที่ต้องการให้มี “พระคิลานุปัฏฐาก” หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า “พระ อสม.” ก็เพื่อจะให้พระได้กระทำหน้าที่ช่วยเหลือบรรดาพระภิกษุด้วยกัน

หลายๆท่านคงจะมีแนวคิดที่ตรงกันว่า...พระภิกษุสามเณรนักบวชในสังคมไทยเราเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระธรรมวินัยมีอยู่หลากหลาย ทั้งพระหลวงปู่ หลวงพ่อ หลวงตาที่ท่านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน สร้างโรงพยาบาลโรงเรียน ช่วยเหลือคนแก่ชราตาบอดหูหนวก ผู้ป่วยเอดส์ ตั้งสถานชีวาภิบาล...ให้มีกุฏิชีวาภิบาล

ผลักดัน “พระคิลานุปัฏฐาก” เพื่อเป็นบุคลากรที่สำคัญยิ่งในพระศาสนา เยียวยาชีวิตจิตใจ จิตวิญญาณไปสู่ “ชีวิตที่ดี” และ “การตายดี” ขอให้เราๆท่านๆทั้งหลายอนุโมทนาสาธุร่วมกัน.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม

...