คำ “ปัญญาชน” คนไทยเคยใช้มาก่อน...จู่ๆ ก็มีคำ “วิญญูชน” ตามมา ฟังดูก็เก๋ไก๋ความหมายคล้ายๆ ก็ใช้กันเรื่อยไป โดยไม่ค่อยเห็นความต่าง
ผมเองเพิ่งมารู้ความหมายจริงจัง เอาก็เมื่ออ่านบทที่ 3 ในฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นพลิกแพลง (เจ้าหยุย รจนา อธิคม สวัสดิญาณ แปล สำนักพิมพ์เต๋าประยุกต์ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2549)
ช่วงเวลาที่ขงจื๊อ พเนจร เผยแพร่วิชาการปกครองบ้านเมือง ให้หลายๆเจ้าแคว้น วิชาที่ขงจื๊อสอน...กษัตริยาธิราชต้องรู้จักจำแนก และช่วงใช้บุคลากรต้องรู้ว่า ชาวชนที่เห็นหน้าตาเหมือนๆกันนั้น แบ่งได้เป็น 5 ประเภท
สามานยชน คนไร้ปณิธาน ไม่รู้กาลเทศะ ไม่รู้จักเลือกนายดี ไม่สามารถก่อร่างสร้างตัวด้วยตนเอง เห็นแต่ส่วนน้อยไม่เห็นส่วนทั้งหมด ไม่รู้การควรและมิควร จิตใจลังเล ไร้ความคิด
ปัญญาชน คนมีความคิด มีโครงการ แต่ไม่อาจขุดคุ้ยความสามารถของตนออกมาใช้เต็มที่ สร้างชื่อเสียงได้ ไม่อาจยึดมั่นในคุณธรรมได้ครบถ้วน แต่ก็สร้างคุณงามความดี สติปัญญาไม่สูงส่ง แต่สิ่งที่รู้ก็รู้จริงพูดน้อยแต่มีสาระ
ทำงานไม่มากแต่ก็มีจุดหมาย มีเหตุผลชัดเจน นิสัย ความคิด คำพูด การกระทำมั่นคงไม่สั่นคลอน
ร่ำรวยสูงศักดิ์ก็ไม่กลับกลาย ถึงยากแค้นขัดสน ก็ไม่ตกต่ำ
วิญญูชน คนมีสัจจะ จิตใจบริสุทธิ์ ไม่แค้นริษยา ผดุงคุณธรรม แต่ไม่ประโคมโอ้อวด รู้เหตุรู้ผล นอบน้อมถ่อมตน พูดจริงทำจริง มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง
อัจฉริยชน ยึดมั่นในธรรม ไม่หลบเลี่ยงกฎหมาย และขนบจารีต ดำเนินงานตามกฎเกณฑ์ วาจาเที่ยงแท้เป็นแบบอย่างของชาวชนทั่วหล้า มีมรรคธรรมกลมกลืนพอสร้างสำนึกแก่ปวงราษฎร์
สามารถทำให้แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ แต่ราษฎรก็ไม่ละโมบสะสมทรัพย์ สามารถทำให้ราษฎรมีเมตตา แต่ไม่ยากจนทุกข์ร้อนเพราะเสียสละ
...
อริยปราชญ์ ผู้มีมรรคธรรมสอดคล้องกับฟ้าดิน สามารถพลิกแพลงไร้ขอบเขต รู้จุดเริ่มและรู้จุดจบของการทั้งปวง ปรับประสานสรรพสิ่งให้กลมกลืนเป็นธรรมชาติ
ทำให้มรรคธรรมแผ่คลุมแผ่นดิน สรรพสิ่งและการทั้งปวงดำเนินไปตามที่ควรจะเป็น
อาจเปรียบเทียบอริยปราชญ์ได้กับแสงแห่งสุริยันจันทรา เมื่อท่านดำเนินมรรคธรรม จะประหนึ่งเทพดลบันดาล ราษฎรหารู้ไม่ว่ารับบุญคุณจากท่านแล้ว
ผู้ที่เคยพบพาน ก็หารู้ไม่ว่าท่านอาจเป็นคนสนิทบ้านใกล้เรือนเคียง
จำแนกความแตกต่าง ระหว่างชาวชนทั้งห้าประเภทได้แล้ว ขงจื๊อย้ำว่า
ความมั่นคงปลอดภัยของแว่นแคว้นแผ่นดิน และความอยู่เย็นเป็นสุขของอาณาประชาราษฎร ใต้การปกครองของกษัตริยาธิราช ล้วนตัดสินกันที่สันทัดในการจำแนก และช่วงใช้บุคลากรอย่างเหมาะสมหรือไม่?
อากาศร้อนๆหลังสงกรานต์ กระทั่งท่านผู้นำ ยังต้องหนีร้อนไปตากลมทะเลถึงหัวหิน แต่เรื่องที่รุ่มร้อนในใจ ยิ่งกว่า คือ ตามกลไกการเมืองที่มีปัญหา ไม่สามารถเลือกใช้คนถูกกับงานได้
ไม่ว่าจะเลือกคนแบบไหน...หนีไม่พ้น ตอบแทนหรือให้รางวัลการทำงาน พอสมควรแก่เวลาก็ผลัดกันไป ผลัดกันเป็น
ข้ออ้างที่ว่า เอาปัญหาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง บวกลบคูณหาร ด้วยความถนัดของคนที่เปลี่ยนกี่ผู้นำก็พูดเหมือนๆกัน ประเทศไทย จึงโตไม่ทันประเทศที่ศิวิไลซ์ทั้งหลายเขาด้วยประการฉะนี้.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม