“มองอินเดียแบบที่อินเดียเป็น อย่ามองเขาแบบที่เราเป็น และจงมองทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ....”

ข้อความตอนหนึ่งของ พระวิเทศวัชราจารย์ เลขานุการหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดสิทธารถราชมณเฑียร สาธารณรัฐอินเดีย กล่าวต้อนรับ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ในโอกาสเดินทางติดตามโครงการประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งได้นำพระสงฆ์และคณะเจ้าหน้าที่ ศน. เครือข่ายทางพระพุทธศาสนา และ ทีมข่าวศาสนา ร่วมติดตาม ไปด้วย

ถือเป็นการสะท้อนให้ชาวพุทธที่ประสงค์เข้ามาจาริกตามรอยพระศาสดาในดินแดนพุทธภูมิต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา ได้ปรับกาย เปิดใจ ปรับ ความรู้สึก และยอมรับในวิถีชีวิต ลดอคติ ลดอัตตา ลดตัวตน และสลัดความคาดหวังให้เกิดความเข้าใจ ก่อนมุ่งสู่การประกอบศาสนกิจ ไปยังสถานที่จริงตามปรากฏในพุทธประวัติ ทั้งสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงในที่ต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาคุณ พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ

...

ตลอดเส้นทางสายธรรม รวมระยะเวลา 8 วัน คณะฯได้รับความเมตตาจาก พระวิเทศวัชราจารย์ เป็นพระธรรมวิทยากร สาธยายให้ความรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติในพระไตรปิฎก พร้อมสอดแทรกข้อคิดดีๆแก่ผู้แสวงบุญทุกคนได้มีโอกาสฟังธรรมะอย่างลึกซึ้งกินใจ มีการสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม เจริญจิตภาวนาเกือบตลอดทั้งวัน เปรียบเสมือนการเข้าค่ายเก็บตัวเรียนรู้พระพุทธศาสนา ในสถานที่จริง และเรียนรู้การประพฤติปฏิบัติตามรอยพระศาสดา

พระวิเทศวัชราจารย์ ได้เปิดมุมมองการจาริกแสวงบุญที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า การที่คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะพระสงฆ์ แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรม และพุทธศาสนิกชนอยากเดินทางมายังสังเวชนียสถาน เพราะเป็นแดนพุทธภูมิเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่หล่อหลอมฝึกฝนให้คนธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ และเป็นสถานที่ที่แสดงธรรม จนมีคนนับหมื่นนับแสนบรรลุธรรม อีกทั้งเป็นสถานที่ที่องค์พระศาสดาเคยดำรงพระชนม์ชีพอยู่จริงๆ สังเวชนียสถานจึงเป็นยอดแห่งความ ปรารถนาของชาวพุทธ ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสเอาไว้ก่อนปรินิพพานว่า “หลังการล่วงลับของเรา ถ้า เธอมีศรัทธา ปรารถนาอยากจะกราบสักการะบูชาเรา ก็จงไปในที่ 4 สถาน คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน” เมื่อใดที่ไปสักการด้วยจิตเลื่อมใส ด้วยใจศรัทธา แต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ได้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จึงกลายเป็นมรดกธรรม ที่ทำให้พวกเราชาวพุทธมีความหวังอยู่ลึกๆว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิต อยากจะกราบพระพุทธเจ้าในดินแดนพุทธภูมินั่นเอง

พระวิเทศวัชราจารย์ กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ การไป ถึงดินแดนพุทธภูมินั้น จะได้สัมผัสเรียนรู้กับสถานที่จริง ได้เห็นของจริง ก็เกิดความเข้าใจจริงอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้มั่นใจว่าพระพุทธเจ้ามีตัวตนอยู่จริง พระธรรมของพระองค์ก็มีผลอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังถือเป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจที่ดีเยี่ยม ดีกว่าการอ่านจากหนังสือหรือตำราที่ได้แค่ตำรา ไม่ถึงตำตาและก็ไม่ถึงตำใจ ขณะที่การเดินทางที่แสนลำบาก ทำให้ผู้คนต้องใช้ความเพียร และฝึกความอดทนมากๆ

...

“เป้าหมายที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง คือ ต้องการให้พ้นจากความทุกข์ หรือดับทุกข์ และพระ พุทธองค์ยังได้สอนให้เรามีความสุขในเบื้องต้น โดยสอนให้พ้นจากความยากจนด้วยบท “อุ อา กะ สะ” สอนให้มีชีวิตคู่ที่มีความสุขได้ด้วยหลัก “คิหิปฏิบัติ” แต่ยอดแห่งธรรมจริงๆ ก็คือหลักการที่เราจะประพฤติปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง พระพุทธองค์ที่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ได้ใช้ความเพียร ความอดทน ความมุ่งมั่น อย่างถึงที่สุดโดยไม่ย่อท้อ จนสามารถตรัสรู้เป็นมหาศาสดาเอกของโลกได้ จึงเป็นแนวทางให้พุทธบริษัทที่มาถึงสถานที่ต่างๆในพุทธประวัติได้เห็นร่องรอยธรรมในการตรัสรู้” พระวิเทศวัชราจารย์ กล่าว

...

เลขานุการหัวหน้าพระธรรมทูตฯ ยังชี้ให้เห็นถึงการที่พระสงฆ์ได้เดินทางมาสู่แดนพุทธภูมิว่า เมื่อได้รับโอกาสและเมื่อได้มาแล้ว สิ่งที่ได้รับอย่างแรก คือ การเจริญศรัทธา เจริญปัญญา ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้รู้ในสิ่งที่ ไม่เคยรู้ เป็นการสร้างรากฐานแห่งศรัทธาให้มีความมั่นคงมากขึ้น ทำให้สามารถต่อยอดด้วยการเจริญปัญญา นำศรัทธาไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ลูกศิษย์และพุทธศาสนิกชนมีปัญญาได้ตระหนักรู้ ตื่นขึ้นมาตามรอยพระพุทธเจ้าได้ และส่งผลทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น

ขณะที่ นางยุพา กล่าวว่า ในปีนี้ ได้เน้นย้ำว่า พระสงฆ์ และเครือข่ายทางพระพุทธศาสนาที่ได้มาปฏิบัติศาสนกิจ เมื่อกลับไปแล้ว จะสามารถจัดทำโครงการเสนอต่อ ศน. เพื่อประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องและเหมาะสม และจากการติดตามตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยความสะดวกดูแลผู้แสวงบุญพบว่าได้รับคำชื่นชมจากทั้งชาวไทยและต่างชาติถือเป็นโอกาสสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะเป็นเมืองพุทธ โดย ศน.จะของบประมาณเพื่อดำเนินการเพิ่มศูนย์ ในปี 2568 รวมทั้งจะจัดอบรมพระธรรมทูตเพื่อรองรับการขยายศูนย์ด้วย ที่สำคัญเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จะมีการจัดโครงการ บวชปฏิบัติธรรมสังเวชนียสถานเฉลิมพระเกียรติในปีมหามงคลนี้ด้วย

...

ทีมข่าวศาสนา เชื่อมั่นว่า การเดินทางตามรอยเส้นทางธรรมในดินแดนพุทธภูมิ 4 สังเวชนียสถาน จะก่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมพระภิกษุสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนที่ไปบำเพ็ญบุญและศึกษาพระธรรมให้เข้าถึงแก่นแท้คำสอนของพระพุทธเจ้าและสามารถนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ดั่งที่ พระวิเทศวัชราจารย์ ได้เทศนาธรรมว่า “พระพุทธองค์ได้สร้างประโยชน์ให้มหาชนอย่างมากมาย ได้เปิดดวงตา เปิดปัญญา และได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ชีวิตเรา เราสามารถกำหนดด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องรอพรหมบันดาล ไม่ต้องรอเทพเจ้าบันดาล แต่สามารถลงมือปฏิบัติตามธรรมะ ตามหลักการ และวิถีที่ถูกต้อง เป็นไปตามรูปแบบการเจริญปัญญา

ถ้าเราทำได้จริง เราก็จะสามารถอยู่เหนือความทุกข์ อยู่เหนือกฎเกณฑ์ชะตาที่ผู้อื่นกำหนดให้เราได้ โดยเราจะเป็นผู้ที่ไม่ต้องกลับมาทุกข์ และมีความทรมานกับโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์อีกต่อไป นั่นหมายถึง เราจะสามารถอยู่กับโลกที่ทุกข์ได้อย่างไม่ทุกข์ และจะสามารถอยู่กับใครก็ได้ในโลกอย่างไม่มีปัญหา”

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.


ทีมข่าวศาสนา