เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. แถลงข่าวภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูง พม.ประจำเดือน เม.ย.ว่า ที่ประชุมได้หารือสถานการณ์ล่ามภาษามือที่ขาดแคลน จากเดิมที่จดแจ้งไว้กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เมื่อปี 2552 - 2560 จำนวน 659 คน ปัจจุบันเหลือ 178 คน เป็นล่ามภาษามือคนปกติ 170 คน และล่ามภาษามือหูหนวก 8 คน ที่น่าแปลกใจคือ มีอยู่ใน 41 จังหวัด โดยกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ 69 คน นนทบุรี 28 คน และนครปฐม 16 คน นอกนั้นจังหวัดละคน ที่เหลืออีก 36 จังหวัดไม่มีล่ามภาษามือ ที่ผ่านมา พก.ได้แก้ปัญหาโดยจัดบริการล่ามภาษามือข้ามจังหวัดและจัดบริการล่ามภาษามือออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันทั้ง TTRS Video และ TTRS Live Chat และเมื่อปลายปีที่แล้ว คณะอนุกรรมการส่งเสริมและ พัฒนาล่ามภาษามือได้ออกประกาศกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการประเมินความรู้ทักษะก่อนและหลังการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชนและเปิดให้มีการต่ออายุและเพิ่มจำนวนล่ามภาษามือ
นายวราวุธ กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนพิการทางการได้ยินหรือหูหนวก 423,973 คน ขณะที่อัตราส่วนล่ามภาษามือกับคนหูหนวกควรอยู่ที่ 1 ต่อ 10 คิดเป็นจำนวนที่ควรมีประมาณ 40,000 คน แต่ปัจจุบันมีเพียง 100 กว่าคนเท่านั้น สิ่งที่ พม.ต้องดำเนินการระยะเร่งด่วน ได้ประสานกับสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, สมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ร่วมออกแบบหลักสูตรและวิธีการอบรมล่ามภาษามือ และจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินมาตรฐานล่ามภาษามือระยะกลาง สนับสนุนสถาบันการศึกษา หน่วยงาน องค์กรรับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านล่ามภาษามือ (หลักสูตร 1 ปี) และหลักสูตรล่ามภาษามือระดับปริญญาตรี และประสานสำนักงาน ก.พ.กำหนดตำแหน่งล่ามภาษามือเป็นตำแหน่งขาดแคลน มีค่าตอบแทนพิเศษให้บรรจุประจำอยู่ในศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั่วประเทศ ระยะยาวให้ทุนการศึกษาบุคลากรภาครัฐได้เรียนหลักสูตรล่ามภาษามือ และใช้ AI หรือเทคโนโลยีต่างๆ มาทดแทน.
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม