เฟซบุ๊ก Treerat Sirichantaropas ซึ่งเป็นของ ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ได้มีโอกาสหารือกับ นักวิชาการด้านพลังงาน ประเด็นค่าไฟฟ้า และได้พบว่า มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหลายส่วน ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายและสร้างความเข้าใจผิดกับผู้อื่น โดยได้แยกเป็นประเด็นดังต่อไปนี้
ค่าไฟฟ้า มีส่วนประกอบหลัก 70-80% มาจาก ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตมาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวน 3 แหล่ง คือ จากอ่าวไทย เมียนมา และการนำเข้าเป็นเชื้อเพลิงเหลวหรือ LNG จากแหล่งต่างๆ
ปรากฏว่า ที่ผ่านมาราคา LNG ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น จากปัจจัยต่างๆ เช่น สงครามยูเครน–รัสเซีย เป็นช่วงที่กำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทย ลดลง ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทำให้ต้องนำเข้า LNG ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นด้วย
กลไกการซื้อขายก๊าซในประเทศไทยในอดีตมีผู้นำเข้าก๊าซอย่างถูกต้องเพียงรายเดียว ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคา ถือว่าเป็นการผูกขาดไม่เป็นไปตามกลไกของตลาด ต่อมาในปี 2564 มีหลักการเปิดตลาดเสรีให้เอกชนสามารถนำเข้าก๊าซได้ ซึ่งโดยกลไกแล้วเป็นการแข่งขันระหว่างเอกชน และน่าจะทำให้ต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าถูกลง ซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลงด้วย
แต่ข้อเท็จจริง การนำเข้าก๊าซต้องทำตามเงื่อนไขมากมาย และ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแข่งขัน ไม่สามารถแข่งกับผู้นำเข้ารายเดิมได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมมีการเปิดเสรีการนำเข้าแล้วยังไม่สามารถลดต้นทุนได้ ยังไม่รวมกับประเด็นท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซ ซึ่งถึงเวลาที่จะต้องรื้อโครงสร้างธุรกิจก๊าซกันใหม่
ประเด็นที่ 2 ค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นข้อมูลการคาดการณ์อนาคตว่า จะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใดบ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจว่า โรงไฟฟ้าบางแห่งไม่มีการจ่ายไฟเลย แต่ทำไมได้รับค่าความพร้อมจ่ายหรือค่า AP โดยความเป็นจริงแล้วโรงไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งรวมถึง โรงไฟฟ้าเครือกลุ่มบริษัท กัลฟ์ ได้มีการจ่ายไฟเข้าระบบของรัฐทุกเดือนและได้รับเงินอย่างถูกต้อง ไม่ได้เป็นไปตามแผนประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่เคยแก้ไขให้ตรงกับความเป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนทั่วไปด้วย
...
อยากให้ กฟผ.ปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้อง และต้อง ขอโทษกัลฟ์ อย่างเป็นทางการ ที่เคยแถลงข่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กัลฟ์มีโรงไฟฟ้าจำนวนมาก ได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายจากรัฐ โดยไม่มีการผลิตไฟฟ้าแม้แต่หน่วยเดียว เกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและขาดการตรวจสอบข้อมูลอย่างชัดเจน
ปัจจุบันทั่วโลกหันมาสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาดเพื่อช่วยลดโลกร้อนและลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เช่น ที่ผ่านมามีราคารับซื้อที่ 2 บาทกว่าๆต่อหน่วยเท่านั้น ต่างจากเดิมที่รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบให้เงินสนับสนุนเพิ่มหรือค่าแอดเดอร์นาน 7-10 ปี ในอัตราสูงกว่า 6-8 บาทต่อหน่วย รวมราคาซื้อสุทธิ 9-12 บาทต่อหน่วย
เป็นข้อมูลความเป็นจริงจากคนที่เคยเห็นต่าง.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th
คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม