ระหว่างบรรยากาศช้างสารชนกัน และกลัวกันว่าหญ้าแพรกจะแหลกลาญอีกแล้วหรือไม่? คนระดับเจ้าสัวไม่กี่คน ก็มีเรื่องให้ต้องกังวล..จะจ่าย เอ๊ย! หนุนมหาอำนาจซีกไหน
อำนาจใหม่ใช้กลยุทธ์ “ฝ่ายรุก” ผู้คนที่รักเป็นห่วง..หากฝ่ายรับ ได้โอกาสตีโต้กลับ อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด
หวนซูเต้าหยิน ขุนนางเก่าสมัยราชวงศ์หมิง..เขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง “ว่าด้วยรากผัก” “บุญศักดิ์ แสงระวี” แปลเป็นภาษาไทย สำนักพิมพ์ก.ไก่ พิมพ์ขายปี2536 ตั้งชื่อหนังสือ สายธารแห่งปัญญา
ในหลายๆเรื่อง มีสองเรื่องเล่า
ตาเฒ่าหมู่บ้านเผิง และ ตั๊กแตนอหังการ์ ผมอ่านแล้วจี๊ดเข้าหัวใจ
เรื่องแรก..ทางภาคเหนือของจีนในหมู่บ้านตระกูลเผิง มีตาเฒ่าร่ำรวย แกพยายามทำตัวให้จนแสนจน หน้าหนาวอากาศเย็นจัด แกกัดฟันสวมเสื้อบางๆทั้งขาดทั้งเก่า
เสบียงกรังที่มีมากมาย แกก็พยายามไม่กิน ไม่ดื่ม จนผอมโซ
เวลาใครมาออกปากขอยืม..ตาเฒ่าจึงปฏิเสธได้เต็มปาก “ข้าผอมเหลือแต่กระดูกอยู่แล้ว ไหนเลยจะมีเสบียงอาหารให้เจ้ายืม”
โชคร้ายปีนั้นหนาวมาก ตาเฒ่าเล่นบทคนจนใส่เสื้อบางกินข้าวน้อย...ได้ไม่ทันสิ้นฤดูหนาว แกก็หนาวตาย
ทิ้งทองไว้หีบใหญ่ ให้ชาวบ้านนินทาตามหลัง
ภาษิตรากผัก สรุปเป็นบทเรียนสอนคนรวย “คนมีเงินควรใจกว้าง และมีเมตตา”
แล้วถ้าเช่นนั้น คนรวยอีกพวก รวยปัญญา คนรุ่นใหม่ที่คิดว่า ฉลาดล้ำลึกกว่าผู้อื่น ควรจะทำอย่างไร?
จีนสมัยโบราณ เนิ่นนานกว่าสมัยหมิง ของหวนซูเต้าหยิน...มีเรื่องเล่าเลื่องลือ ของจวงจื๊อ อยู่อีกเรื่อง
ตัวเอกของนิทานเป็นตั๊กแตนตำข้าว ท่านคงเคยเห็นตั๊กแตนตำข้าวมาบ้าง มันมีขาหน้าใหญ่ รูปร่างคล้ายเคียว เมื่อมันจับหนอนใส่ปาก ก็นับว่ามันมีอิทธิฤทธิ์ร้ายกาจเกินตัว
...
ถ้ามันแค่ใช้ความเหนือกว่าหนอน จับหนอนกินไปเรื่อยๆตามธรรมชาติ สัตว์ใหญ่ไล่กินสัตว์เล็ก
มันก็คงอยู่อย่างตั๊กแตนผู้ยิ่งใหญ่ไปเรื่อยๆ
มนุษย์เองก็ดูจะรู้ดี มันช่วยจับหนอนที่เป็นภัยต่อพืชผล มันมีคุณ จึงมองมันอย่างเอ็นดู มันมีมิตรจิต มนุษย์ก็มีมิตรใจ ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนไปทำร้าย นอกจากอดอยากจริงๆ นานๆครั้งจึงจะตัดใจจับมันกิน
แต่ก็มีตั๊กแตนตัวหนึ่ง ไม่เพียงสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ตามประสา วันหนึ่งมันเผลอแสดงความโอหัง...ไปยืนจังก้ากลางถนนใหญ่ ชูเคียวขาหน้าด้วยท่าทีกำแหง
กับรถราที่สัญจรผ่านมา มันเผลอคิดว่า ขาหน้าของมันสามารถหยุดยั้งรถได้
แน่นอน...รางวัลของความโอหัง ตั๊กแตนตัวนั้น บี้แบนอยู่ใต้ท้องรถคันแรกที่วิ่งผ่าน
ทั้งเรื่องตาเฒ่าหมู่บ้านเผิง และเรื่องตั๊กแตนโอหัง..มีบทสรุปเป็นคำสอนต่อท้าย “ลาภยศ และความฉลาด ไหนเลยจะพึ่งพาอาศัยได้?”
สิ่งที่จะช่วยพึ่งพาได้ สิ่งแรก จิตใจที่งดงาม และสิ่งที่สอง ความนอบน้อมถ่อมตน
เจ้าสัวที่มีลาภยศสุขสรรเสริญ มักมีชีวิตในเงามืด แห่งความริษยาเอาเปรียบ ที่ไหนจะสามารถหาความสงบสุขจากทรัพย์สินเงินทองประดามี
คนฉลาดที่แสดงตัวว่าฉลาดเหนือกว่าใคร ไม่แน่ว่าจะต้องมีชะตากรรมเหมือนตั๊กแตนตำข้าว
สุดท้ายก็จะถูกมองว่าเป็นคนโฉดเขลาเบาปัญญา ไหนเลยจะสามารถสร้างคุณงามความดียิ่งใหญ่ให้บ้านเมือง
กิเลน ประลองเชิง