ข้อมูลทางระบาดวิทยาคาดการณ์ ว่า โรค “โควิด-19” และ “ไข้หวัดใหญ่” จะแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในฤดูฝน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับ...“วัคซีน” หรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้นจะมีความเสี่ยง “ป่วยหนัก” และ “เสียชีวิต” ได้

ขอเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายตามเกณฑ์เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนประจำปี เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพของตนเอง ป้องกันคนในชุมชน

รวมถึงเป็นการรักษาระบบ “สาธารณสุข” และ “เศรษฐกิจ” ของ ประเทศอีกด้วย

ตอกย้ำสอดคล้องกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าสามารถฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้ ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะห่าง ทำให้สะดวกต่อการมารับบริการในครั้งเดียว

น่าสนใจว่าการศึกษาวิจัยของต่างประเทศไม่พบผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นจากการฉีดพร้อมกัน ซึ่งหลายประเทศในยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งรัดติดตามให้กลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยได้รับวัคซีนครบถ้วนตามเกณฑ์

...

“เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันหมู่ของประเทศให้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค”

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงต่อภาวะ “ป่วยหนัก” และ “เสียชีวิต” จากโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 ที่คาดว่าจะมีการระบาดเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั้ง 2 โรคควบคู่กันจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยปกป้องกลุ่มเสี่ยงและคนรอบข้างได้

นั่นก็คือการสื่อสารภายใต้กรอบแนวคิด “วัคซีนคู่ สู้หน้าฝน” เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงตระหนักและมารับวัคซีนทั้ง 2 ชนิด ช่วยลดความรุนแรงและลดการเสียชีวิต

กระทรวงสาธารณสุขนำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดกิจกรรมรณรงค์กลุ่มเสี่ยงฉีด “วัคซีนคู่สู้หน้าฝน” คือ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” และ “วัคซีนโควิด –19” เพิ่มภูมิคุ้มกันโรคก่อนที่จะเข้าระยะการระบาดในช่วงฤดูฝนนี้

ในการนี้ สธ. ร่วมกับ สปสช.เร่งจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติมอีก 8.6 แสนโดส รวมเป็น 5.26 ล้านโดส ให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับบริการ “วัคซีนคู่” ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

กิจกรรม World Immunization Week : 2023 Vaccine for Everyone “Episode II : วัคซีนคู่ สู้หน้าฝน (Dual Immunity)” มุ่งเป้ากระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควบคู่กับวัคซีนโควิด-19 ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน

ผู้ที่มีสิทธิสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยได้จัดเตรียมวัคซีนโควิด–19 ไว้อย่างเพียงพอ

ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขมุ่งหวังให้กลุ่มเสี่ยงได้รับการฉีดครอบคลุมมากขึ้นจึงได้ปรับลดค่าบริการฉีดวัคซีนจาก 60 บาท เหลือ 20 บาทต่อครั้ง

เพื่อให้ สปสช.นำเงินค่าบริการส่วนนี้ไปปรับเป็นงบประมาณจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มเติมช่วยประหยัดงบประมาณ

โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบให้จัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มอีก 8.6 แสนโดส เมื่อรวมกับวัคซีนที่ สปสช. จัดซื้อสำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยงปีนี้ 4.4 ล้านโดส

เคาะตัวเลขแล้ว...จึงมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการทั้งสิ้น 5.26 ล้านโดส

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ บอกว่า เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างครอบคลุมมากขึ้นตามคำแนะนำ ของกระทรวง สปสช. จึงได้พิจารณาขยายกลุ่มเป้าหมายและงบประมาณสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

นำมาสู่การปรับแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยเพิ่ม การจัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติมอีกจำนวน 8.6 แสนโดส วงเงินไม่เกิน 88 ล้านบาท

“ขณะนี้กลุ่มเสี่ยง 608 มีความต้องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมกับ วัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นมากขึ้น ทำให้ต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม สาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา”

...

รวมถึงการประชาสัมพันธ์บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของโรค โดย สปสช. ทำให้เกิดการรับรู้และตื่นตัวของประชาชนกลุ่มเสี่ยงมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ย้ำว่า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน

4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ 6)โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ 7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

ทั้งนี้ กรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นบริการ เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ส่วนสิทธิการรักษาอื่นขอรอประกาศอีกครั้ง

นพ.จเด็จ บอกว่าประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสามารถติดต่อขอรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบบัตรทองได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านไปรักษาเป็นประจำ

...

สามารถดูรายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมได้ที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครจองสิทธิล่วงหน้าผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอปพลิเคชันเป๋าตังได้

ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด ส่วนผู้ที่อยู่ใน กทม. แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปเป๋าตัง ให้โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดไม่สามารถจองผ่านแอปเป๋าตังได้ แต่ท่านสามารถโทร.นัดรับบริการล่วงหน้าก่อน เพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการวัคซีนได้เช่นกัน ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการได้โดยตรง

ย้ำว่า...ประชาชนทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยงสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง แต่หากไม่ได้ฉีดพร้อมกัน สามารถฉีดเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง.

...