นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในปี 2566 จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยการติดตามการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็กด้วยสารสกัดกัญชา CBD สูง ร่วมกับยากันชักหลายชนิด 14 ราย พบว่า ผู้ป่วยมีอาการชักรุนแรงลดลง 50% และลดอาการชักได้ 100% ส่วนโรคพาร์กินสัน มีการศึกษาจำนวน 21 คน ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ พบว่า คะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้น อีกการศึกษามีผู้เข้าร่วมวิจัย 4 คน พบว่า สาร CBD ลดพฤติกรรมผิดปกติขณะนอน และมีการศึกษาในผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการทางจิต 6 คน ให้สาร CBD 150 มิลลิกรัมต่อวัน เพิ่มขนาดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าลดอาการทางจิตได้โดยที่ไม่ทำให้อาการแย่ลง ขณะที่การดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับ ประคองผ่านคลินิกกัญชาฯสามารถลดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษา ส่วนการวิจัยสารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็งในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งได้ผลดีในเซลล์มะเร็งตับอ่อน เซลล์มะเร็งท่อน้ำดี และเซลล์มะเร็งเต้านม

นพ.ธงชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการวิจัยการนำสารสกัดจากกัญชา CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น ช่วยลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน ลดการกลับไปเสพซ้ำ และช่วยลดอาการทางจิต ทั้งนี้ สธ.ได้บรรจุน้ำมันสารสกัดจากกัญชา 3 สูตร ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เพื่อใช้รักษาในสถานพยาบาล ประกอบด้วย 1.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC เด่น ใช้เสริมการรักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับเบื่ออาหาร หรือปวดในระดับปานกลาง 2.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD เด่น รักษาโรคลมชักในเด็ก 3.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และ THC สัดส่วน 1 ต่อ 1 ใช้รักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ซึ่งมีรายงานการนำไปใช้กับผู้ป่วยได้ผลดี.

...