ผศ.ดร.นริศ หนูหอม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เปิดเผยว่า คดีการล่วงละเมิดทางเพศในไทยมีอัตราการก่อเหตุเพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ด้านนักวิทยาศาสตร์ และนิติพยาธิแพทย์ ที่ยังคงขาดแคลนอย่างมากในปัจจุบัน ขั้นตอนการตรวจพิสูจน์หลักฐานใช้เวลานาน เนื่องจากต้องใช้นักวิทยาศาสตร์และนิติพยาธิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่งผลถึงรูปคดี รวมถึงสภาพจิตใจผู้ถูกกระทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯได้รับเงินสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ดำเนินโครงการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการปฏิบัติงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยให้กระบวนการตรวจพิสูจน์ทำได้เร็วขึ้น จากเดิมทำการตรวจหาเชื้อได้อยู่ที่ประมาณ 28 เคสต่อวัน หรือเฉลี่ยเคสละ 17 นาที แล้วแต่ความยากของแต่ละเคส แต่เมื่อนำระบบเอไอมาช่วยทำได้ถึง 160 เคสต่อวัน หรือ 3 นาทีต่อเคส

ผศ.ดร.นริศกล่าวต่อว่า จากการทดสอบพบว่า เอไอช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ ด้านนักวิทยาศาสตร์ และนิติพยาธิแพทย์ ทำงานได้เร็วกว่าเดิมถึง 5.7 เท่า ด้านความถูกต้องระบบเอไอตรวจพิสูจน์เชื้ออสุจิได้แม่นยำสูงถึง 97.2% โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมทดลองนำร่องนำระบบการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ
ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ไปใช้งานที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นที่แรก และมีแผนจะขยายผลการใช้งานกับสถาบันนิติเวชวิทยา และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ต่อไปด้วย.

...