การหาเสียงของพรรคการเมืองในเรื่องนโยบายภาคการเกษตร ทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี มีรายได้หนีพ้นความยากจน ส่วนใหญ่ยังคงหนีไม่พ้นนโยบายลดแลกแจกแถม ตามสไตล์คิดอะไรไม่ออก ลากประชานิยมออกมาโชว์

ทั้งที่ไม่ได้ช่วยอะไรให้เกษตรกรไทยเข้มแข็ง มีแต่ทำให้เกษตรกรเคยชินกับการนั่งแบมือรอเศษทานที่ภาครัฐแบ่งมาให้เท่านั้นเอง

แต่เลือกตั้งหนนี้ ยังพอมีอะไรที่แปลกใหม่ขึ้นมาบ้าง เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และได้ฝากผลงานในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ทำให้พี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมันลืมตาอ้างปากมาได้ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนทำให้ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวที่มีราคาดีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่พืชเศรษฐกิจอื่นๆเดี้ยงกันเป็นแถว

เลือกตั้งหนนี้เลยผุด นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษการเกษตร ที่ฝันไว้ว่า หากได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล จะนำนโยบายนี้มาใช้กับปาล์มน้ำมัน เป็นพืชนำร่องก่อนเป็นอันดับแรก

เขตเศรษฐกิจพิเศษการเกษตรเป็นอย่างไร จะทำให้เกษตรไทยมีความมั่นคงในอาชีพได้จริงแค่ไหน หรือ แค่ขายฝัน

...

“ปัญหาสินค้าเกษตรของบ้านเรา ผลผลิตมีมาก ล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา เกษตรกรเลยยากจน จะแก้ปัญหานี้ได้ถาวร เราต้องเอาผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้มาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ไม่ใช่แปรรูปให้เป็นสินค้าที่มีราคาต่ำ

อย่าง ปาล์มน้ำมันตอนนี้ บ้านเราผลิตได้ปีละ 3.5 ล้านตัน ความต้องการใช้ในประเทศมีเพียง 2 ล้านตัน ถ้าปล่อยไปปาล์มราคาตก เกษตรกรเดือดร้อนหนทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องนำผลผลิตส่วนเกินส่งออกไปขายต่างประเทศแข่งกับประเทศอื่นในราคาถูก แต่อีก 3-4 ปีข้างหน้า ผลผลิตจะมากกว่า 4 ล้านตัน ถ้าเราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ คงรับมือกับผลผลิตที่ล้นตลาดไม่ไหวแน่”

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล กรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กนป. อธิบายถึงที่มาของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษการเกษตร ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ชุมพร, สุราษฎร์ ธานี, นครศรีธรรมราช, กระบี่, พังงา และตรัง

“เราเลือกพื้นที่นี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษการเกษตร นอกจากจะเป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันสำคัญของประเทศแล้ว ยังเป็นพื้นที่มีท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาขึ้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพราะการแยกจากก๊าซธรรมชาติ จะทำให้เราได้ไฮโดรเจนมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปน้ำมันปาล์มให้เป็นผลิตภัณฑ์มีมูลค่าสูง

เขตเศรษฐกิจพิเศษการเกษตรของเรา ไม่ใช่จะตั้งขึ้นมาแค่เพื่อรวบรวมโรงงานหีบน้ำมันปาล์มมาไว้ที่เดียวกัน เพื่อแปรรูปปาล์มน้ำมันให้เป็นน้ำมันพืชทำไข่เจียว เราจะทำมากกว่านั้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ราคาแพงกว่าหลายเท่าตัว”

ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล
ดร.บุรินทร์ สุขพิศาล

กรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ บอกถึงผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดตามมาในเขตเศรษฐกิจพิเศษการเกษตร มีตั้งแต่น้ำมันเครื่องบินชีวภาพ ที่เรียกกันว่า ไบโอเจ็ท สารซักล้างชีวภาพ ผงซักฟอกชีวภาพ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ น้ำมันหล่อลื่นและจาระบีชีวภาพ พาราฟินเคลือบบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ไปยันเครื่องสำอาง

ทุกอย่างจะได้มาจากการแปรรูปน้ำมันปาล์มทั้งสิ้น...คนไทย เกษตรกรไทย เคยรู้กันบ้างหรือไม่

“นอกจากนี้ ทะลายปาล์ม กะลาปาล์ม ยังสามารถนำมาผลิตเป็นก๊าซไฮโดรเจนได้อีก ด้วยการเผาในระบบปิด ไม่ให้ก๊าซออกซิเจนเข้าไปผสม แบบที่เรียกว่า Gasification หรือ pyrolysis ที่ได้ไฮโดรเจนออกมา เป็นได้ทั้งพลังงาน ส่วนผสมหลักในการแปรรูปน้ำปาล์ม และสามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยยูเรียจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย รัสเซียผู้ส่งออกปุ๋ยยูเรียรายใหญ่ของโลกนี่ก็เหมือนกัน เขาผลิตปุ๋ยยูเรียที่ได้มาจากก๊าซไฮโดรเจนนี่แหละ บ้านเราทรัพยากรก็มีให้ทำได้ แต่แปลกกลับไม่มีรัฐบาลไหนคิดทำกัน ปล่อยให้มาเฟียวงการสั่งปุ๋ยนำเข้าชี้นำ รัสเซีย ยูเครนรบกัน เกษตรกรไทยเลยต้องรับกรรมซื้อปุ๋ยแพง”

...

ดร.บุรินทร์ บอกว่า แค่แปรรูปเป็นน้ำมัน หล่อลื่นชีวภาพกับน้ำมันเครื่องบินชีวภาพที่ในอนาคตอันใกล้เครื่องบินทุกลำต้องใช้ เพื่อลดภาวะโลกร้อน ผลผลิตปาล์มน้ำมันบ้านเรามีไม่พอให้ขาย ฉะนั้นเรื่องผลผลิตจะล้นตลาดไม่ต้องพูดถึง จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย

แต่ที่สำคัญที่สุด สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ นั่นคือ...การออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์มให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

และหากเขตเศรษฐกิจพิเศษน้ำมันปาล์มเกิดขึ้นมาได้จริง ทางพรรคพลังประชารัฐ ยังมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบนี้ ในอ้อย มันสำปะหลัง และข้าว เพื่อเกษตรกรไทยจะได้ไม่จมปลักอยู่กับวงจรเก่าๆ และจะได้หลุดพ้นจากบ่วงกรรมประชานิยมซะที

แต่ไม่รู้นโยบายสวนแนวทางประชานิยมอย่างนี้ จะเข้าตาประชาชนคนไทยสักแค่ไหนกันเชียว.

ชาติชาย ศิริพัฒน์