ระบบ “บัตรทอง”...มีในประเทศ ไทยมานานกว่า 20 ปีแล้ว ในยุคแรกใช้คำว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” และ...ต่อมาก็มีการปรับปรุงจนไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ยังมีข่าวคราวที่ผู้ป่วยถูก “โรงพยาบาล” เรียก “เก็บเงิน” อยู่เนืองๆ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงได้ร่วมมือกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค ในการแก้ปัญหานี้ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่าในปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มีผู้คนร้องเรียนในประเด็นเรื่องบริการสุขภาพมายังสภาฯ 1,778 กรณี...เป็นกรณีบัตรทองมากที่สุด 38.58%

ซึ่งก็มีเรื่องของการเรียกเก็บค่ารักษารวมอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่นเมื่อ 2 เดือนก่อนก็มีข่าวโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคใต้เรียกเก็บเงินค่าผ่าตัดจากคนไข้ แต่เผอิญว่าเครือข่ายของสภาฯได้ทราบเรื่องและมีการพูดคุยกับโรงพยาบาล จนสุดท้ายไม่มีการเรียกเก็บเงิน

หรือ...ก่อนหน้านี้ก็มีเคสหญิงวัย 53 ปี เข้ารับการรักษาท่อน้ำดีอักเสบ แพทย์แจ้งว่าจะผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง แต่คนไข้ขอรักษาด้วยวิธีผ่าตัดธรรมดา ปรากฏว่า...มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 32,442 บาท

...

รวมทั้งมีผู้ป่วยหญิงอายุ 81 ปีรายหนึ่ง พลัดตกจากเก้าอี้ล้มหงายหลังศีรษะกระแทกและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. แพทย์ส่งตรวจเลือด เอกซเรย์ขาและหน้าอก เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง แล้วถูกเรียกเก็บเงิน 6,070 บาท

อย่างไรก็ดีทั้ง 2 เคสข้างต้นเมื่อมีการร้องเรียนจนเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขของ สปสช.แล้ว ก็มีมติให้โรงพยาบาลคืนเงิน พร้อมดอกเบี้ยอีก 15% ของวงเงิน

“สองกรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่ามีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ส่วนกรณีอื่นๆที่มีในฐานข้องมูลของสภาฯ จะมีตั้งแต่เรื่องการอ้างว่าใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ อ้างว่ายานี้ดีกว่า หรือการอ้างว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างมีอายุการใช้งานนานแต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เป็นต้น”

แน่นอนว่าในมุมของ “คนไข้” ย่อมต้องการยาหรืออุปกรณ์ที่ดี แต่อยากให้รู้สิทธิของตัวเองด้วย

“ฝากย้ำไปถึงหน่วยบริการนะคะว่าจริงๆบัตรทองเนี่ย ถ้าโดยหลักการแล้วโรงพยาบาลจะเรียกเก็บเงินได้กรณีเดียวเท่านั้นคือกรณีที่คนไข้ไปทำเสริมสวย เนื่องจากไม่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะฉะนั้นแทบจะไม่มีกรณีไหนเลยที่โรงพยาบาลควรจะเรียกเก็บเงินจากคนไข้บัตรทอง”

สารี บอกอีกว่า อยากเห็นกระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งกระทรวงที่ดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ มีข้อสั่งการไปถึงโรงพยาบาลเพื่อให้ไม่เรียกเก็บเงิน เพราะสุดท้ายถ้าคนไข้ร้องเรียน โรงพยาบาลก็ต้องคืนเงินกันอยู่ดี

แถมต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก 15% ฟรีๆด้วย

ประเด็นสำคัญที่ต้องตอกย้ำ...การเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากผู้ป่วย เป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดหลายมาตรฐาน ซึ่งในมุมของสภาฯ อยากเห็นว่าถึงแม้ประเทศไทยจะมี 3 กองทุนสุขภาพในปัจจุบัน คือ บัตรทอง ประกันสังคม และ ข้าราชการ แต่อยากเห็นมาตรฐานการรักษาที่เหมือนกันในทั้ง 3 ระบบ

และหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลจะทำให้โรงพยาบาลต่างๆยุติการเรียกเก็บเงินจากคนไข้ ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดหลายมาตรฐานของการรักษาพยาบาลในท้ายที่สุด

นพ.วีรพล กิตติพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี เสริมว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมีผู้ป่วยนอกประมาณวันละ 2,500 คน กว่า 60% หรือประมาณ 1,500 คนคือ...ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง เมื่อรับบริการเรียบร้อยแล้ว ในขั้นตอนการเก็บค่าบริการจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด คือ ไม่เกิน 30 บาทต่อครั้ง

แต่โดยส่วนมากแล้วจะเป็นการให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และมีเพียงบางส่วนที่จ่าย 30 บาท อย่างไรก็ดีก็พบว่ามีปัญหาการเรียกเก็บเงินเกินกว่า 30 บาทอยู่บ้างเล็กน้อย

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินจำนวน 8 ราย ซึ่งปัญหาเกิดจากการไม่สามารถยืนยันตัวตนได้เพราะผู้ป่วยไม่พกบัตรประชาชนมาด้วย ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทองหรือไม่

กระนั้น...เมื่อมีการตรวจสอบแล้ว โรงพยาบาลก็คืนเงินให้ทุกราย และวงเงินก็ไม่ได้เป็นวงเงินจำนวนมาก อยู่ในหลักประมาณ 500–1,500 บาท

...

“สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างมากครอบคลุมการรักษาได้ทุกโรค เวลามารับบริการก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาใดๆ ถ้ามาจากต่างจังหวัดก็ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวโรงพยาบาลจะเรียกเก็บไปที่ สปสช.เอง ไม่มีเรียกเก็บจากผู้ป่วย เช่นเดียวกับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การตรวจสุขภาพตามช่วงอายุต่างๆ”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ย้ำว่า ในแต่ละปีจะมีการร้องเรียนเรื่องถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษาอยู่ที่ 1,000 กว่ารายเข้ามาในระบบของ สปสช. แต่ถ้าเทียบกับจำนวนการให้บริการกว่า 200 ล้านครั้งต่อปี ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะ แต่แม้จะไม่เยอะก็ต้องให้ความสำคัญ

เพราะ...เสียงหนึ่งเสียงก็มีความสำคัญเสมอ

ประการแรกอยากทำความเข้าใจก่อนว่าในระบบบัตรทอง กฎหมายไม่ได้บอกว่าหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลไม่สามารถเก็บค่าบริการกับประชาชนได้ จริงๆแล้วเก็บได้ แต่เป็นไปตามที่คณะกรรมการ สปสช. กำหนด ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดให้ผู้ที่เข้ารับบริการเสียค่าบริการไม่เกิน 30 บาทต่อครั้ง

นี่คือกติกาของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545

...

จากการวิเคราะห์ปัญหาการเรียกเก็บเงินที่ผ่านมา พบว่าประเด็นอยู่ที่การสื่อสารไม่ตรงกัน ทำให้ประชาชนอาจไม่ค่อยเข้าใจว่าจะต้องจ่ายหรือไม่จ่าย ซึ่งก็ต้องขอสื่อสารกับประชาชนว่าตามกติกาแล้วจะจ่ายไม่เกิน 30 บาทเท่านั้น และอีกส่วนที่มีปัญหามากๆคือตัวหน่วยบริการเอง เพราะผู้ที่อยู่หน้างานอาจไม่ทราบกติกาที่เปลี่ยนไปของ สปสช. เนื่องจากบางครั้งเมื่อ สปสช.ออกสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ผู้ปฏิบัติงานก็ตามไม่ทัน

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ออกแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2566-2571 ว่ากรณีที่มีการเรียกเก็บหรือปัญหาการเรียกเก็บค่ารักษาให้ สปสช.เข้าไปดูแล สปสช.ก็จะออกกฎเกณฑ์กติกาว่า...

“ถ้าหากเกิดกรณีโรงพยาบาลมีความจำเป็น หรือคิดว่าจะต้องมีการเรียกเก็บค่าบริการมากกว่า 30 บาท ขอให้ติดต่อมายัง สปสช. ก่อน เพราะส่วนหนึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เราจ่ายให้อยู่แล้วแต่ท่านอาจจะยังไม่เข้าใจว่าอยู่ในสิทธิประโยชน์หรือไม่ จะได้ทำให้ไม่ต้องเกิดการเรียกเก็บเงินซ้ำซ้อน”

น่าสนใจว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ระบบการจัดสรรงบประมาณของ สปสช. มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร บางครั้งประชาชนไปรับบริการไม่ตรงกับหน่วยบริการประจำ...ตอนนี้เราก็ยกเลิกกติกาเดิมหมดแล้ว โรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บจากประชาชนอีก ให้มาเรียกเก็บจาก สปสช.

หรือ...หากสงสัยว่ารายการบริการบางอย่างสามารถเบิกได้หรือไม่ ก็สามารถสอบถามเข้ามาได้ สปสช. มีรายการที่ให้เบิกได้ประมาณ 5,000 รายการและจะพัฒนาปรับปรุงไปเรื่อยๆ

สุดท้ายนี้ในส่วนของ “ประชาชน” ผู้ใช้ “สิทธิบัตรทอง”...หากมีข้อสงสัยว่าโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินถูกต้องตามกติกาในระบบบัตรทองหรือไม่ สปสช.ก็มีช่องทาง 1330 หรือไลน์ @nhso ให้สอบถามได้ก่อนว่า “ค่าบริการ” นั้นอยู่ใน “สิทธิประโยชน์” หรือไม่.

...