จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนปฏิบัติงานด้านการเกษตรของ โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติ ตามความสมดุลของระบบนิเวศ และพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของชุมชน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการฯ ปีงบประมาณ 2565 พื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัดภาคตะวันออก จันทบุรี ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และระยอง นอกจากสามารถช่วยแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าได้อย่างสมดุลแล้ว ยังช่วยด้านเศรษฐกิจ ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการปลูกและการแปรรูปสมุนไพร เฉลี่ย 12,924 บาท/ครัวเรือน/ปี และช่วยลดรายจ่ายจากการนำผลผลิตที่เพาะปลูกมาบริโภคเฉลี่ย 8,884 บาท/ ครัวเรือน/ปี และลดรายจ่าย โดยการใช้มูลสัตว์ทำปุ๋ย คอก และทำน้ำหมักชีวภาพใช้เองเฉลี่ย 3,853 บาท/ครัวเรือน/ปี
และจากการลงพื้นที่จันทบุรี จัดเก็บข้อมูลจากเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ตัวอย่างรวม 51 ราย ในหมู่บ้านคชานุรักษ์ อ.แก่งหางแมว อ.สอยดาว อ.เขาคิชฌกูฏ พบว่า เกษตรกรสวนผลไม้มักได้รับผลกระทบจากช้างป่าทำลายผลผลิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการปลูกพืชสมุนไพรที่ช้างไม่ชอบ เช่น กระชาย ไพล กระวาน ชะอม เพื่อป้องกันการทำลายผลผลิตจากช้างป่า
ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนจากการนำผลผลิตไปบริโภค เช่น พืชผัก พริก มะนาว ผักหวาน มะเขือ ชะอม ขมิ้น กระชาย ไก่ และปลา เฉลี่ย 5,200 บาท/ครัวเรือน/ปี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ เฉลี่ย 6,000 บาท/ครัวเรือน/ปี
สำหรับปีงบประมาณ 2566 โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ได้กำหนดแผนการจัดการออกเป็น 3 ด้าน การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์สำหรับเป็นที่อาศัยของช้างป่า, การจัดการพื้นที่แนวกันชน และการจัดการพื้นที่ชุมชน โดยมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ ในระดับพื้นที่ โดย สศก.ได้รับมอบหมายในการติดตามผลการดำเนินงานในภาพรวมเช่นเดิม โดยใช้ข้อมูลจากการรายงานของเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และระบบประเมินผลและติดตามโครงการเชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการติดตามจากเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด.
...
สะ-เล-เต