เหตุอดีตตำรวจกราดยิงที่ จ.หนองบัวลำภู สังคมเรียกร้องให้ตรวจสอบพฤติกรรมข้าราชการในสังกัด พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี อดีตที่ปรึกษา (สบ10) ผู้เชี่ยวชาญงานด้านอาชญาวิทยา แสดงความคิดเห็นว่า “ศูนย์พึ่งได้รพ.ตร.” เป็นกลุ่มงานอยู่ในความรับผิดชอบ รพ.ตำรวจ ที่จัดตั้งเพื่อฟื้นฟูดูแลเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง
มุ่งให้การดูแลแบบครบวงจร
ทั้งด้าน สุขภาพกาย สุขภาพจิต สภาพแวดล้อมทางสังคม โดยทีมแพทย์และทีมสหวิชาชีพ พยาบาลส่งเสริมสุขภาพของหน่วยงาน รพ.ตำรวจ บริหารช่วยเหลือทางคดี ให้บริการสังคม มีกลไกประสานงานกับหน่วยงานภายนอก รพ.ตำรวจ เช่น ตำรวจ พนักงานสอบสวน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
มีข้อมูลว่า “ศูนย์พึ่งได้” กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้จัดตั้งขึ้นในทุกสถานพยาบาลของรัฐ แต่ยังไม่มีสถานพยาบาลหรือหน่วยงานใดกำหนดให้ภารกิจงาน “ศูนย์พึ่งได้” เช่นเดียวกับตำรวจ เป็นเพียงหน่วยงานที่มีโครงสร้างถาวรเป็นหน่วยงานราชการ แต่เป็นทำหน้าที่แบบ “คณะทำงาน”
มีการดำเนินการเพียงบางสถานพยาบาลของรัฐ ทำให้มีข้อจำกัดทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ
หน่วยงานที่มีดำเนินการเป็นรูปธรรมแล้วมีแต่ รพ.ตำรวจ รพ.ศิริราช รพ.ปทุมธานี
บาง รพ.รัฐ อาจมีเพียงหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ให้บริการคนไข้ เป็นอีกข้อจำกัดให้บริการอยู่ในวงแคบไม่เป็นที่แพร่หลายรับรู้ ไม่เป็นที่พึ่งประชาชนและบุคลากรวงกว้างได้ หากมีการเร่งเร้า รื้อฟื้น ปรับระบบและได้รับการสนับสนุนทั้งในเชิงนโยบายและงบประมาณสมดุลจากหน่วยงานต้นสังกัด ภายใต้นโยบายของรัฐบาล
เชื่อว่าหน่วยงานที่มีบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัด รพ.ของเหล่าทัพ ตำรวจ ทหาร ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านการรักษาร่างกายและจิตใจอยู่แล้วจะขยายผลกิจกรรม “ศูนย์พึ่งได้” ไปสู่มิติการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาให้กับบุคลากรของหน่วยที่ประสบปัญหาหรือคาดว่าจะมีปัญหาตั้งแต่เบื้องต้น
...
ช่วยคุ้มครองสังคมในวงกว้างได้
ทั้งด้านจิตวิทยา บำบัดรักษา ฟื้นฟู เยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบเหตุอาชญากรรม สภาพกดทับจิตใจทางสังคม ผลพวงเสพยาเสพติด เพื่อคืนบุคคลที่มีสภาพร่างกายจิตใจปกติขององค์กรและประชาชนเข้าสู่สังคม
ทำให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นปกติสุข ไม่ก่อเหตุและสร้างปัญหาให้กับสังคมได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน
แม้ปัจจุบันในแต่ละองค์กรยังไม่มีตัวเลขปริมาณผู้ที่ต้องการช่วยเหลือบำบัด ฟื้นฟู ดูแลมีมากน้อยเพียงใด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่เราพยายามค้นหามีสิ่งบอกเหตุในหลายแง่มุมว่า น่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่ยังซ่อนเร้นหรือถูกบดบังการรับรู้ และสายตา เปรียบเสมือนสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง
ถึงเวลาหรือยังทุกภาคส่วนปกป้องสังคมมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้น.
“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th