นับตั้งแต่ “ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ทำให้ตัวเลขผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนคาดการณ์ว่าอีก 9 ปีข้างหน้าจะมีคนชราพุ่งสูงถึงร้อยละ 28 ของประเทศ

แน่นอนว่าในวัยที่เพิ่มขึ้นนี้ “ร่างกาย” ย่อมเปลี่ยนแปลงเสื่อมถดถอยลงแล้วยิ่งหากไม่ดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมมักจะกลายเป็นการเปิดทางให้ “โรคภัยไข้เจ็บ” แทรกซ้อนเข้ามาหาได้ง่ายขึ้น นพ.ศิริชัย วิริยะธนากร อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.ปิยะเวท บอกว่า นับแต่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็มีคนชราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้เห็นว่า “ผู้สูงอายุเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเข้ารักษาตัวตามโรงพยาบาลเยอะขึ้น” ส่วนใหญ่เกิดจากโครงสร้างของร่างกายเสื่อมถอย อย่างเช่น โรคเบาหวาน ความดัน และโรคไขมันในเลือดสูง
สิ่งนี้นำมาสู่ “การเกิดโรคเกี่ยวกับภาวะหัวใจ” ที่มักเจอกับผู้สูงอายุนั้นมีตั้งแต่ “โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ” อันเป็นสาเหตุส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และอายุขัยสั้นลง โดยเฉพาะ “ภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ” (aortic valve stenosis) เป็นหนึ่งในโรคที่ไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการ แต่ผู้ป่วยไม่เข้าใจก็ปล่อยจนอาการรุนแรง
...
ย้ำอย่างนี้ว่า “ลิ้นหัวใจเอออร์ติก” เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก “คอยกั้นหัวใจห้องล่างซ้าย” หากเปรียบเทียบก็เหมือนเป็น “ประตูด่านสุดท้าย” ปล่อยเลือดที่หัวใจสูบฉีดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย

แต่ว่าลิ้นหัวใจนี้มักจะเสื่อมถอยลงตามอายุของคนที่มากขึ้นนำมาซึ่ง “เกิดการสะสมของหินปูน” ทำให้การเปิดของลิ้นหัวใจลดลงที่เรียกกันว่า “ลิ้นหัวใจตีบ” ส่งผลให้เลือดที่ส่งจากหัวใจออกไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้ลดลง แล้วเมื่อความตีบของลิ้นหัวใจรุนแรงถึงระดับหนึ่งจะทำให้การทำงานของหัวใจแย่ลงเรื่อยๆอีกด้วย
ส่วนใหญ่จะเจอในกลุ่มผู้มีอายุ 70-79 ปี ประมาณ 4% และในช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป ก็พบราว 10% เช่นนี้แล้ว “ผู้ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจตีบนี้” มักมีอาการเหนื่อยง่าย หรือเหนื่อยเวลาออกแรง กลายเป็นทำกิจกรรมลดลง “เสี่ยงเป็นผู้ป่วยติดเตียง” แล้วยิ่งกว่านั้นในบางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอก และหน้ามืดเป็นลมตามมาก็มี
ปัญหามีอยู่ว่า “อาการป่วยของแต่ละคนแสดงออกไม่เท่ากัน” ผู้สูงอายุบางรายทำกิจกรรมออกแรงแล้วเกิดอาการเหนื่อยกลับไม่บอกคนอื่นรับรู้ด้วย เพราะมัวแต่คิดว่าเป็นอาการเหนื่อยตามอายุมากขึ้น จึงไม่ได้รับการตรวจร่างกายจนไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง เมื่อมีอาการเหนื่อยบ่อยๆ สุดท้ายก็อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำกิจกรรมอย่างอื่น
แต่หากว่า “ลิ้นหัวใจตีบหนักขึ้น” แม้ว่านั่งนอนอยู่เฉยๆก็มักจะมีอาการเหนื่อยได้เช่นกัน แล้วยิ่งบางคนอาจมีอาการเจ็บหน้าอก น้ำท่วมปอด ออกซิเจนในเลือดต่ำ ขาบวม และอาจเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจล้มเหลวทำงานผิดปกติ ในจำนวนนี้ผู้ป่วยบางรายตรวจพบจากการตรวจร่างกายหรือตรวจสุขภาพ
สิ่งนี้ล้วนเป็นผลจาก “โรคลิ้นหัวใจตีบ” ที่ทำให้เลือดไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกาย หรือรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ แล้วอาการพวกนี้มักส่งผลต่อคุณภาพชีวิต อายุขัย และเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้

ถ้าย้อนดูสมัยก่อน “ภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ” มักคิดว่าไม่สามารถก่อให้เกิดหัวใจหยุดเต้นได้ แต่ด้วยปัจจุบันมีข้อมูลยืนยันว่า “โรคนี้ทำให้หัวใจหยุดเต้นกะทันหันได้เหมือนกัน” เพราะลิ้นหัวใจตีบนี้ส่งผลให้การทำงานของหัวใจหนักเป็นเวลานาน “เกิดการบาดเจ็บบางส่วนจนเต้นผิดจังหวะ” ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตนั้น
...
“ดังนั้นครอบครัวใดที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการเวลาผู้สูงอายุทำกิจกรรมต่างๆ ถ้าหากชอบบ่นเหนื่อยอยู่บ่อยๆเช่นนี้ต้องพาเข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายที่โรงพยาบาล เพื่อจะช่วยให้รู้ถึงอาการเจ็บป่วยได้เร็ว อันจะนำไปสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมทันท่วงที” นพ.ศิริชัยว่า
ประเด็น “การรักษาภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ” ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการหนักรุนแรงแล้ว “จะไม่มียารักษา” เพื่อช่วยให้หินปูนจับเกาะตามลิ้นหัวใจละลายลง หรือทำให้ลิ้นหัวใจที่ตีบอยู่นั้นเปิดขึ้นมาได้ ดังนั้นการรักษาในปัจจุบันคือ “การเปลี่ยนลิ้นหัวใจ” ที่จะช่วยให้สามารถกลับมาสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ปกติ
ทั้งยังช่วยลดแรงดันที่ส่งผลต่อหัวใจเอง ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิต แต่การเปลี่ยนลิ้นหัวใจนี้มี 2 วิธี กล่าวคือ วิธีแรก...“การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ” เป็นวิธีมาตรฐานทำกันมายาวนาน ด้วยศัลยแพทย์ทรวงอกทำการผ่าตัดใหญ่ผ่านทางหน้าอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

...
ในการเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยการผ่าตัดนี้ “จะมีการเปิดแผลขนาดใหญ่ที่หน้าอก” ทำให้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและดมยาสลบ แล้วในระหว่างการผ่าตัดนั้นอาจต้องหยุดหัวใจ หรือดึงเลือดออกจากหัวใจ จึงจำเป็นต้องมีการใช้เครื่องปอดเทียมและหัวใจเทียม ทั้งการผ่าตัดมักใช้เวลานานและต้องนอนพักฟื้นในห้องไอซียูเป็นสัปดาห์
เพราะเป็นการผ่าตัดใหญ่ “โอกาสเกิดสภาวะแทรกซ้อนมีสูง” ยิ่งเป็นการผ่าตัดผู้สูงอายุด้วยแล้ว “การฟื้นตัวย่อมไม่เท่ากับคนหนุ่มสาว” เหตุนี้จึงทำให้ต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาลกินเวลานานด้วย
ส่วนวิธีที่สอง...“การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านทางสายสวน หรือที่เรียกว่า วิธี TAVI” เป็นการเปลี่ยนผ่านทางสายสวนหลอดเลือดที่ขา และจะมีแผล ขนาดเล็กบริเวณขาหนีบ ทำให้ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจระหว่างทำ ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ซึ่งเป็นวิธีลดความเสี่ยงจากการใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจและลดความเจ็บปวด
แล้วการทำหัตถการ TAVI ก็ใช้เวลาดำเนินการไม่นาน 1-2 ชั่วโมง เมื่อทำการผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้วจะใช้เวลานอนพักฟื้นสังเกตอาการในห้องไอซียูและห้องพิเศษในโรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน จากนั้นก็กลับบ้านสามารถเดินใช้ชีวิตตามปกติ แต่อาจจะมีนัดติดตามอาการอีก 1 สัปดาห์

...
นั่นก็แปลว่า “วิธีผ่าตัด TAVI” ฟื้นตัวเร็วกว่า “ผ่าตัดใหญ่” ดังนั้นผู้ป่วยที่เหมาะกับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยวิธี TAVI มักเป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป คนไข้มีโรคหลายอย่าง ผู้เคยผ่าตัดหัวใจ หรือเคยฉายรังสีทรวงอกมาก่อน
ตอกย้ำว่า “วิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ TAVI” ในต่างประเทศทำกันมาราว 10 ปี ส่วนประเทศไทยเริ่มนำวิธีนี้มาใช้ได้ 2-3 ปี ในจำนวนนี้ “รพ.ปิยะเวท” เป็นหนึ่งที่ได้ให้การรักษาด้วยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ TAVI โดยทีมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญ รวมถึงมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานระดับสากลและมีความปลอดภัยสูง
เท่าที่เคยทำการเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยวิธี TAVI อย่างเช่นกรณี “ผู้ป่วยลิ้นหัวใจตีบอายุ 94 ปี” ถ้าหากเป็นสมัยก่อน “คนอายุขนาดนี้” แพทย์คงไม่ผ่าตัดให้แน่นอนเพราะมีความเสี่ยงสูง แต่เรานำเทคโนโลยีของวิธี TAVI มาใช้นั้น ทำให้มีความแม่นยำปลอดภัยสูง “การผ่าตัดผ่านไปด้วยดี” ปัจจุบันนี้คนไข้สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติดังเดิม
อีกกรณี “ผู้ป่วยอายุ 74 ปี เกิดอุบัติเหตุกระดูกสะโพกหักต้องผ่าตัดด่วน” ปรากฏเจอว่า “ลิ้นหัวใจตีบรุนแรง” ถ้าต้องผ่าตัดสะโพกควรแก้ไขภาวะนี้ก่อน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถดมยาสลบใช้เครื่องช่วยหายใจได้ หรือในระหว่างผ่าตัดเกิดเลือดออกมาก “ป่วยลิ้นหัวใจตีบ” อาจมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอเกิดภาวะช็อกเสียชีวิตก็ได้

เช่นนี้ “ทีมแพทย์หัวใจ” จึงเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยวิธี TAVI ใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 วัน ก่อนผ่าตัดสะโพกสำเร็จ ฉะนั้นวิธี TAVI เป็นจุดเปลี่ยนช่วยผู้ป่วยรายนี้ผ่าตัดสะโพกได้เร็วปลอดภัย ทำให้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ
สุดท้ายฝากไว้ว่า “ลิ้นหัวใจตีบมักเจอกับผู้สูงอายุ” ดังนั้นคนในครอบครัวควรหมั่นสังเกตอาการลักษณะเหนื่อยง่าย หรือออกแรงมีอาการหน้ามืด เช่นนี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์ตรวจร่างกายจะปลอดภัยที่สุด เพราะการรู้อาการป่วยเร็วย่อมพอมีหนทางแก้ไข เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี และสามารถอยู่กับลูกหลานยืนยาวขึ้น
ฉะนั้นแล้ว “การเรียนรู้ถึงปัญหาสุขภาพ” ไม่ว่าจะเป็นวิธีป้องกัน การดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมนั้นจะช่วยให้ “ผู้สูงอายุสุขภาพดี และมีชีวิตชีวา” สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อีกยาวนาน...