อัปเดตสถานการณ์ “ลองโควิด” ในสหราชอาณาจักร ข้อมูลวันที่ 1 ธันวาคม ระบุผลการสำรวจจนถึง 6 พฤศจิกายน 2565 พบว่าสหราชอาณาจักรกำลังมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหานี้สูงถึง 2.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 3.4% ของประชากรทั้งหมด

แยกย่อยเป็น 187,000 คน (9%) ที่เพิ่งติดเชื้อไปน้อยกว่า 3 เดือน...1.9 ล้านคน (87%) ที่ติดเชื้อมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน...1.2 ล้านคน (55%) ที่ติดเชื้อมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

และ 594,000 คน (27%) ที่ติดเชื้อมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี

น่าสนใจว่าในจำนวนผู้ที่ประสบปัญหาลองโควิดทั้งหมด 2.2 ล้านคนนั้น มีถึงกว่าหนึ่งในสาม หรือ 764,000 คน (35%) ที่ติดเชื้อในช่วงสายพันธุ์ “โอมิครอน” ระบาด

ทั้งนี้ 1.6 ล้านคน (75%) รายงานว่าภาวะ “ลองโควิด” ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมีถึง 370,000 คน ที่พบว่าทำให้จำกัดสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก

อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ อ่อนเพลีย...เหนื่อยล้า ซึ่งมีรายงานสูงถึง 70% รองลงมาคือ ไม่มีสมาธิ หอบเหนื่อย และปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งแต่ละอาการนั้นพบได้ราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยลองโควิดทั้งหมด

...

ย้ำว่าปัญหา “ลองโควิด” นั้นพบได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบมากในช่วง 35-69 ปี และเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

เหลียวมองสถานการณ์ของไทยเรานั้น ช่วงสองปีที่ผ่านมามีคนติดเชื้อจำนวนมาก ทั้งที่เป็นตัวเลขในระบบและนอกระบบ ขณะที่ข้อมูลวิชาการทั่วโลกยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า “ลองโควิดเป็นของจริง” ไม่กระจอก ไม่จิ๊บๆ แบบเป็นแป๊บเดียวแล้วหายเหมือนที่เราเห็นข่าวลวงที่เผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ

ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท...พยายามป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำการติดเชื้อแต่ละครั้งนั้น ไม่ใช่แค่รอลุ้นว่าจะป่วยหนักไหม จะเสียชีวิตไหม แต่ที่ควรตระหนักคือภาวะผิดปกติในระยะยาวที่เกิดกับร่างกายเราในหลากหลายระบบ ซึ่งจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต

ทั้งทำงาน เรียน หรืออื่นๆ รวมถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวภาระค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม

ณ จุดนี้ เตือนดังๆว่า “ระบาดกันมาก”...ระมัดระวังการกินดื่มใกล้ชิดร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน ทั้งระหว่างทำงาน เรียน หรือไปเที่ยวเลี่ยงสถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

“ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลองโควิด สำคัญที่สุดคือการใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก”

ตั้งสติกันให้ดี อย่าหลงไปกับข่าวสายพันธุ์ย่อยต่างๆมากเกินไปจนเบลอเดลตาครอนหรืออะไรก็ตามแต่ ไม่มีประโยชน์ไปกว่าการทราบข้อมูลรายละเอียดสถานการณ์ระบาดจริงที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน... “พฤติกรรมป้องกันตัวของเราคืออาวุธที่ดีที่สุด”

ตอนนี้วิกฤติปะทุซ้ำ ไม่ใช่เวฟเล็กจำเป็นต้องป้องกันตัวเองให้ดี

ย้อนไปช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีข้อมูลจากรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าอัตราการติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับคนที่ติดเชื้อ “โอมิครอน” สายพันธุ์ BA.5 และ BA.2.75.x นั้น อยู่ราว 1.8-2%

หากลองใช้ข้อมูลนี้ประเมินสถานการณ์ไทยเราที่มีจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลสัปดาห์ก่อนถึง 4,914 คนนั้น จะพบว่าเฉลี่ยแล้วน่าจะมีคนติดเชื้อใหม่สูงราววันละ 35,100-39,000 คน

หมายเหตุ...จากเดิมเคยประเมินไว้ที่ 3% จะเฉลี่ยราววันละ 23,400 คน

จึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบันเหลียวมองรอบตัวจะพบคนที่ติดเชื้อกันมาก...การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็นที่กังวล ไม่ใช่แค่ตอนติดแล้ว “ป่วย” หรือ “ตาย” แต่ปัญหาระยะยาวอย่าง “ลองโควิด” นั่นคือสิ่งที่เป็นผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนา...ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำย่อมดีที่สุด

ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

...

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ข้อมูลความรู้ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” อีกว่า องค์การอนามัยโลกออกรายงาน

ล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืน 30 พฤศจิกายน 2565 “โอมิครอน” ครองการระบาดถึง 99.9% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา

หากวิเคราะห์สายพันธุ์ในสัปดาห์ล่าสุด พบว่า BA.5 มีสัดส่วน 73%, BA.2 เพิ่มขึ้นเป็น 10.1% (เดิม 7.9%), BA.4 ลดลงเหลือ 2.8% (เดิม 3.4%)

สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่น่ากังวลสำหรับทั่วโลกนั้น พบว่า BQ.1.x นั้นมีการระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 27.3% (เดิม 23.1%)...ในขณะที่ BA.2.75.x เพิ่มขึ้นเป็น 6.6% (เดิม 5.4%)

ส่วน XBB เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.8% (เดิม 2.7%)...ปัจจุบัน BQ.1.x นั้นแตกหน่อต่อยอดไปจนมีลูกหลานกว่า 30 สายพันธุ์ย่อยแล้ว

รศ.นพ.ธีระ บอกอีกว่า ธรรมชาติการระบาด...“ระยะเวลา” ในกลุ่มประเทศยุโรป รวมถึงสิงคโปร์ ที่เพิ่งผ่านพ้นการปะทุระลอกล่าสุดไปนั้น หากดูเรื่องระยะเวลาของการระบาด โดยเฉลี่ยแล้วระลอกล่าสุดจะกินระยะเวลาสั้นกว่าระลอกก่อนหน้านี้ราว 2-3 สัปดาห์

ส่วนใหญ่แล้วระลอกก่อนใช้เวลาประมาณ 8–10 สัปดาห์ ในขณะที่ระลอกล่าสุดมักใช้เวลา 6-8 สัปดาห์

“พีกสูงสุด”...หากดูในแง่จำนวนการติดเชื้อเฉลี่ยเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรจะพบว่าระลอกล่าสุดนั้น พีกมักอยู่ราว 65-80% ของระลอกก่อนหน้า แต่ก็มีบางประเทศที่จำนวนติดเชื้ออาจถีบตัวสูงกว่าระลอกก่อนได้ถึง 1.12 เท่าได้

ถ้ามีสติคงทราบได้ว่า ต่อให้ 65-80% ของพีกระลอกก่อน ก็ถือว่ามีจำนวนสูงมาก ไม่เล็กแน่ๆ แต่หากประมาทตามคำลวง จับพลัดจับผลูจนทำให้พีกสูงกว่าระลอกก่อน ก็จะหนักหนาสาหัสได้ และอาจทำให้ศึกนี้ยืดยาวไปเป็นเงาตามตัว

...

ประเด็นสุดท้าย “ปัจจัยที่กำหนดชะตาการระบาดของแต่ละประเทศ”...มีทั้งธรรมชาติการระบาดภาพรวมจากประเทศต่างๆที่เคยผ่านมาก่อน, ชนิดไวรัสที่มีในพื้นที่, พฤติกรรมการป้องกันตัวของประชาชน, สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และความแออัดของพื้นที่ทั้งจากประชากรที่อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว

นับรวมไปถึง...ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ อัตราการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามเงื่อนเวลา และความครอบคลุม

ท้ายที่สุดนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ฝากทิ้งท้ายว่า พวกเราทุกๆคนควรช่วยกันป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง...สำคัญมากๆ.