เรามาว่าถึงสาระสำคัญของการเลิก พ.ร.บ.เช็คฯ ว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง วิเคราะห์ไว้กันต่อเลย...

1.กฎหมายใหม่ไม่มีผลต่อคู่กรณีที่ตกลงให้อีกฝ่ายหนึ่งผ่อนชำระและในวันที่กฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.เช็คฯมีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอม ยอมความ

หากลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิขอให้ศาลออกคำบังคับได้ โดยไม่ต้องไปฟ้องคดีแพ่งใหม่

2.คดีที่ฟ้องคดีอาญาโดยรวมฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็คต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญา ถ้าศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาก่อนกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.เช็คฯ มีผลใช้บังคับ ให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีอาญาและพิจารณาคดีแพ่งต่อไป

3.ให้กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวผู้ต้องคำพิพากษาทันที ภายในวันที่กฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.เช็คฯ มีผลใช้บังคับ

4.ให้ผู้ถูกคุมประพฤติ หรือการพักการลงโทษ เนื่องจากความผิด พ.ร.บ.เช็คฯ ก่อนกฎหมายใหม่ใช้บังคับ พ้นจากการคุมประพฤติหรือการพักโทษทันที!

5.ให้ถือว่าโทษที่ได้รับมิใช่ความผิด ตาม พ.ร.บ.เช็คฯ

ร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา ประชาชนต้องติดตามการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.เช็คฯ ต่อไป

“แนวคิดเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับการเอาคดีอาญามาบังคับให้ลูกหนี้ใช้หนี้ทางแพ่ง” มีมานานานมากแล้ว แต่ก็ไม่สามารถยกเลิก พ.ร.บ.เช็คฯได้

ปัจจุบันการใช้เช็คน้อยลงมาก คงมีใช้อยู่ในด้านค้าขายบางกลุ่ม

ซึ่งยังวิตกกังวลว่าหากยกเลิก พ.ร.บ.เช็คฯแล้ว การค้าขายจะใช้อะไรมาเป็นหลักประกันแทน เพราะคนไม่มีเครดิตต้องใช้เงินสดคงสร้างความยุ่งยากพอสมควร!

ส่วนตัวเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ ในไม่ช้าน่าจะผ่านสภาออกมาใช้ หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน...

...

สหบาท