ปลาบึก...ถือเป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดเป็นปลาที่อยู่กลุ่มสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์” (CITES) ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I)

ที่ผ่านมากรมประมงได้ศึกษาการเพาะพันธุ์ปลาบึกจนประสบความสำเร็จด้วยวิธีผสมเทียมครั้งแรกของโลกเมื่อปี 2526 ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาบึกกระจายให้กับหน่วยงานกรมประมงทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาต่อยอดการขยายพันธุ์ทั้งในบ่อดินและบ่อซีเมนต์เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์

นอกจากนี้ กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการนำหลักพันธุศาสตร์มาวางแผนการผสมพันธุ์ เพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ดี หลีกเลี่ยงการผสมเลือดชิด เพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมที่มีอยู่ไว้ให้มากที่สุด

ล่าสุดเพื่อคงความหลากหลายทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ ตลอดจนควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมปลาบึก กรมประมงได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลรหัสประจำตัวปลาพร้อมฝังไมโครชิปในปลาบึกน้ำหนัก 10-60 กิโลกรัม จำนวน 100 ตัว ด้วยกระบอกฉีดพิเศษที่ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับร่างกายสัตว์น้ำเมื่อฝังไมโคร ชิปเข้าไปชั้นใต้ผิว หนังหรือกล้ามเนื้อ พร้อมเก็บข้อมูลการเจริญเติบโต อาทิ น้ำหนัก ความยาวลำตัวและรอบอก ตลอดจนเก็บตัวอย่างครีบปลาบึกเพื่อใช้สำหรับตรวจสอบข้อมูลด้านดีเอ็นเอในอนาคต เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลทางพันธุกรรมก่อนกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ

เนื่องจากการเพาะขยายพันธุ์ปลาบึก ความยากอยู่ที่การลำเลียงพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาศึกษาวิจัย โดยไม่ให้ได้รับความบอบช้ำ เพราะเป็นปลาที่ตายง่ายมาก อีกทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติเสื่อมโทรมลงทำให้ประชากรปลาบึกไม่สามารถสืบพันธุ์และเจริญเติบโตได้ทันต่อความต้องการ ส่งผลให้จำนวนประชากรปลาบึกตามธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง

...

นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของกรมประมงที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ปลาบึกเพื่อคงไว้ในแม่น้ำโขงสืบไป.

สะ-เล-เต