กาฬสินธุ์ระทึกพนังกั้นน้ำแตก เจ้าหน้าที่เร่งอพยพชาวบ้านไปอยู่ศูนย์พักพิง ชาวอุบลฯริมน้ำมูลใช้ชีวิตลำบากไร้หน่วยงานดูแล ชาวนาร้อยเอ็ดระทมวอนรัฐช่วยเหลือ ภาคใต้อ่วมฝนตกหลายจังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน จ.ภูเก็ต ย่านเศรษฐกิจน้ำลดแล้ว ส่วนชาวบ้านริมน้ำเจ้าพระยายังทนทุกข์น้ำท่วมสูง ขณะที่กรมอุตุฯแจ้งภาคเหนือ อีสานและกลางอุณหภูมิลดลง ส่วนภาคใต้ฝนตกหนัก

สถานการณ์น้ำท่วมบางพื้นที่ยังวิกฤติ โดยเมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุพนังกั้นน้ำชีบริเวณ กม.ที่ 6 บ้านสะดำสี ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ทรุดตัวและขาดเป็นทางยาวกว่า 100 เมตร ตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 16 ต.ค. มวลน้ำไหลเชี่ยวทะลักลงไปพื้นที่ด้านล่าง ส่งผลกระทบให้พื้นที่นาข้าวและบ้านเรือนน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะ ต.ลำชี ต.ฆ้องชัยพัฒนา อ.ฆ้องชัย และ ต.เจ้าท่า ต.ธัญญา อ.กมลาไสย ต่อมานายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ สั่งการให้นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอฆ้องชัย ร่วมกับ จ.อ.ประสงค์ จันทร์กระจ่าง ป้องกันจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่นำอพยพชาวบ้าน 460 คนไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงหอประชุมที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย พร้อมกับระดมเครื่องจักรเข้าซ่อมจุดพนังแตก แต่เนื่องจากกระแสน้ำแรงยังไม่สามารถปิดทางน้ำได้ สำหรับสถานการณ์ล่าสุดน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน ประชาชนแล้ว 376 หลังคาเรือน ใน 4 หมู่บ้านของ ต.ลำชี มีผู้ได้รับผลกระทบ 1,560 คน ทั้งนี้ปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด และขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความเสียหายคาดว่าในพื้นที่ อ.ฆ้องชัย จะได้รับผลกระทบจำนวน 3 ตำบล 11 หมู่บ้าน 1,017 หลังคาเรือน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 3,700 คน พื้นที่การเกษตรประมาณ 20,000 ไร่

...

ส่วนประชาชนในเทศบาลเมืองวารินชำราบ และเทศบาลนครอุบลราชธานี ถูกน้ำท่วมขังมากว่า 2 สัปดาห์ ต้องเดินทางไปทำงานวันแรกหลังวันหยุดยาว มาขึ้นเรือนั่งข้ามฝั่งไปตามถนนสถิตนิมานกาล ส่วนอีกทางเลือกนั่งรถยกสูงของทหารจิตอาสา และหน่วยงาน ที่นำมาบริการแล่นรับส่งไปตามถนนเลี่ยงเมือง สาย 231 ฝั่งตะวันตกที่มีน้ำท่วมสูงถึงหัวเข่า เพื่อข้ามฝั่งไปมาของเมืองทั้ง 2 แห่ง แต่การนั่งรถต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชม. ส่วนเส้นทางเลี่ยงเมือง 231 ฝั่งตะวันออกที่แขวงทางหลวงชนบทจังหวัดอุบลราชธานี พยายามปกป้องไว้เป็นเส้นทางสุดท้ายที่น้ำยังไม่ท่วม ต้องเผื่อเวลาเดินทางช่วงชั่วโมงเร่งด่วนนานกว่า 2-3 ชั่วโมง เพราะเป็นถนนที่มี 2 ช่องจราจร แต่มี รถใช้สัญจรหนาแน่นมาก ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก

ขณะที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำมูลใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก น้ำท่วมเกือบมิดหลังคา ไร้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูแล สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังปรับตัวลดลงอีก 3 ซม.ระดับน้ำสูง 11.44 เมตร มีน้ำล้นตลิ่ง 4.44 เมตร แนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าถ้าระดับน้ำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สัปดาห์หน้าถนนสถิตนิมานกาล เป็นถนนสายหลักจะกลับมาใช้สัญจรได้ตามปกติ

สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พบว่า ปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 3,163.10 ล้านลูกบาศก์ เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 130.10 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำไหลเข้า 31.02 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 17 ต.ค. ปรับลดการระบายลงอยู่ที่ 52 ล้าน ลบ.ม. ตามแผนการระบายน้ำใหม่ วันที่ 18 ต.ค.ระบายน้ำออกที่ 50 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 19 ต.ค.ระบายน้ำออกที่วันละ 48 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 20 ต.ค.ระบายน้ำออกที่ 46 ล้าน ลบ.ม. และตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. เป็นต้นไประบายน้ำออกที่วันละ 45 ล้าน ลบ.ม. ตามแผนการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่บ้านคุยค้อ หมู่ 3 ต.ดินดำ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด น้ำชีไหลเชี่ยวตัดพนังชั้นในขาดท่วมบ้านเรือนกว่า 300 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องอพยพมาอยู่ริมถนน ขณะที่ชาวนาโอดครวญนำข้าวเปลือกมาตากแดดบนถนนกลับถูกน้ำซัดหายไปหมด ปีนี้ชาวนาเดือดร้อนกว่าทุกปี เพราะเป็นจุดรับน้ำรอยต่อของ อ.จังหาร กับ อ.เชียงขวัญ บางจุดน้ำท่วมบ้านสูงถึงหน้าอก นาข้าวเสียหายหมด วอนภาครัฐช่วยเหลือ ด้านนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า สั่งการให้ เจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหายพื้นที่ทางการเกษตร และความเดือดร้อน เพื่อเร่งเยียวยาชาวบ้านต่อไป

นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น นำเหล่ากาชาด จ.ขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่มอบถุงยังชีพและเครื่องนุ่งห่มกันหนาว ผ้าห่ม และหมวกไหมพรม ให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองขอนแก่น หลังระดับน้ำยังคงท่วมขังในหลายพื้นที่และมีสภาพอากาศหนาวเย็น นายไกรสรเปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ขณะนี้คลี่คลายลงแล้ว 14 อำเภอ แต่ยังคงเฝ้าระวังเหตุการณ์อยู่ 6 อำเภอ คือที่ อ.น้ำพอง อ.เมือง อ.ชนบท อ.บ้านไผ อ.บ้านแฮด และ อ.หนองเรือ

...

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ จ.พังงา เกิดฝนตกต่อเนื่องและคลื่นสูง เจ้าหน้าที่ต้องนำธงแดงพร้อมป้ายเตือนห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทะเล ส่วนเรือประมงพื้นบ้านจอดเทียบท่าไม่ออกจับปลา ขณะที่ ปภ.พังงา แจ้งเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้า คะนองลมกระโชกแรง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่า ไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่ม ประกอบด้วย อ.ตะกั่วทุ่ง อ.คุระบุรี อ.กะปง อ.ตะกั่วป่า อ.ท้ายเหมือง อ.เกาะยาว อ.เมือง และ อ.ทับปุด ส่วนที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เจ้าหน้าที่ ประกาศปิดให้บริการนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 16-18 ต.ค. เนื่องจากคลื่นสูง 2-3 เมตร โดยเฉพาะบริเวณหาดเล็กของเกาะสี่ และชายหาดเกาะแปดมีคลื่นลมแรง เจ้าหน้าที่ต้องประเมินสถานการณ์ในพื้นที่และเส้นทางเรือที่เดินทางเข้าเขตอุทยานฯก่อน อาจจะขยายระยะเวลาการปิดบริการออกไปอีก

นายหิรัญวัตติ์ สืบกระพันธ์ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสตูล เปิดเผยว่า จากผลกระทบพายุ “เนสาท” คลื่นลมแรง ประกาศเตือนไปยังผู้ควบคุมเรือ เจ้าของเรือ ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว และชาวประมง รวมถึงการเดินเรือทุกประเภทขอให้เพิ่มความระมัด ระวังในการเดินเรือ หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนนายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอเกาะลันตา จ.กระบี่ ประกาศเตือนดินโคลนถล่มบริเวณเชิงเขาและน้ำป่า เตรียมพร้อมอพยพชาวบ้าน ส่วนที่ จ.ภูเก็ต น้ำท่วมขังย่านเมืองเก่าย่านเศรษฐกิจในตัวเมือง ขณะนี้น้ำลดแล้ว ส่วนที่หาดป่าตอง อ.กะทู้ รวมถึงถนนเทพกระษัตรี ยังมีน้ำท่วมขังเป็นช่วงๆ ส่งผลให้การจราจรติดขัด

ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมการรับมือฤดูฝน รวมทั้งความคืบหน้าการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขอให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จังหวัด และทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมการรับฤดูฝนภาคใต้ที่กำลังมาถึง เน้น 13 มาตรการรับมือฤดูฝน และให้ความสำคัญกับการสำรวจพื้นที่เสี่ยง และความพร้อมของสถานีสูบน้ำ พร้อมทั้งขอให้นำบทเรียนการป้องกันและแก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยงปีที่ผ่านมา บริหารจัดการลดความเสี่ยงและผลความเสียหายจากอุทกภัย และต้องให้ความสำคัญแจ้งเตือนและนำประชาชนออกจากพื้นที่ให้ทันเหตุการณ์ หากเกิดน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มเพื่อความปลอดภัยของประชาชน พร้อมกันนี้ขอให้ สทนช.เตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี หากจำเป็น

...

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 2,894 ลบ.ม./วินาที จะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีก 144 ลบ.ม./ วินาที ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาตามลำดับ กรมชลประทานรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง ของแม่น้ำเจ้าพระยาอัตรา 557 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.68 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก) ระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 3,038 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยอยู่ที่ 2,913 ลบ.ม./วินาที

...

จ.อุทัยธานี น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียงย่านเศรษฐกิจในตัวเมืองที่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยายังมีระดับสูงถึงหัวเข่า ร้านค้ายังปิดให้บริการ คาดว่าอีกไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ สถานการณ์น้ำท่วมในย่านเศรษฐกิจในตัวเมืองจะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแล่นเรือเข้าไปช่วยเหลือนายสัมพันธ์ คันทรง อายุ 70 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 ต.ย่านชื่อ อ.เมืองอ่างทอง น้ำไหลเข้าท่วมบ้านอาศัยอยู่ไม่ได้แล้ว ที่ ต.หนองทรายขาว อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี น้ำท่วมขังส่งกลิ่นเน่าเหม็น เจ้าหน้าที่เร่งสูบน้ำออกจาก พื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน

ที่หมู่ 4 ต.บ้านหม้อ อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี แนวป้องกันน้ำท่วมริมถนนไชโย-พรหมบุรี ขนานคลองชลประทานชัยนาท-อยุธยา พังลงบริเวณแถววัดโคปูนเป็นระยะทางยาวกว่า 20 เมตร ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันออก) ไหลลงคลองชลประทาน หากน้ำล้นคลองชลประทานจะเข้าท่วมชุมชน เจ้าหน้าที่เร่งวางแนวกั้นน้ำเสริม ส่วนนางสุวณี ชาญจิต อายุ 70 ปี เจ้าของร้านของชำในซอยวัดนครอินทร์ ต.สวนใหญ่ อ.เมืองนนทบุรี เปิดเผยว่า ชุมชนหลัง วัดนครอินทร์มีบ้านเรือนประชาชนอยู่ประมาณ 40 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมานานเกือบเดือนแล้ว ต้องใช้ชีวิตเดินลุยน้ำอยู่ในบ้านและขายของตลอดทั้งวัน ทำให้เริ่มมีอาการคันที่เท้าและเป็นแผลน้ำกัดเท้า อยากขอยาทาน้ำกัดเท้าและรองเท้าบูตเพื่อใส่เดินลุยน้ำได้

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสภาพอากาศในช่วงนี้ถึงวันที่ 20 ต.ค. ว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง และมีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก อุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนพายุโซนร้อนกำลังแรง “เนสาท” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน โดยคาดว่าพายุนี้จะเคลื่อน ผ่านตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 19-20 ต.ค. หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่งเกิดขึ้น