นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยถึง ปัญหาการลดลงของผลผลิตมันสำปะหลังมีสาเหตุสำคัญมาจากโรคใบด่างมันสำปะหลังและโรครากปม คณะนักวิจัย จากสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลที่สัมพันธ์กับลักษณะ ปริมาณไซยาไนด์ต่ำ มีความต้านทานโรครากปมและโรคใบด่างมันสำปะหลัง นำมาใช้ในการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง ผลการวิจัยทำให้ได้เครื่องหมายโมเลกุลชนิดสนิปส์ 3 เครื่องหมาย

“ปกติมันสำปะหลังที่เป็นโรครากปม จะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ เกษตรกรจึงไม่ทราบว่าผลผลิตหัวมันสำปะหลังมีปริมาณและคุณภาพเป็นอย่างไร เกษตรกรต้องใช้เวลาปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยวนาน 10-12 เดือนถึงจะรู้ได้ แต่เมื่อเราได้เครื่องหมายโมเลกุลชนิดสนิปส์นี้มา จะมีประโยชน์ในการจำแนกพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์พืชที่ต้องการ หากเครื่องหมายสนิปส์มีตำแหน่งใกล้กับยีนควบคุมลักษณะมากเท่าใด ความแม่นยำในการคัดเลือกพันธุ์พืชยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น”

...
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังได้เผยถึงผลการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง 250 พันธุ์ โดย ใช้เครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ลักษณะ สามารถคัดเลือกได้กลุ่มพันธุ์ที่มีแนวโน้มต้านทานโรคใบด่างและไซยาไนด์ต่ำ 9 พันธุ์ และกลุ่มพันธุ์ที่มีแนวโน้มต้านทานทั้งโรคใบด่างและโรครากปม 4 พันธุ์


“และผลการทดสอบความถูกต้องของเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกพันธุ์พบว่าทั้ง 3 เครื่องหมายที่พัฒนา ขึ้นมีความถูกต้องมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ามีประ สิทธิภาพสูงในการคัดเลือกพันธุ์ โดยนักปรับปรุงพันธุ์สามารถนำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ ไปใช้ในการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อพัฒนาพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรได้ เนื่องจากสามารถเลือกเฉพาะต้นที่มีแถบดีเอ็นเอที่มีลักษณะที่ต้องการไว้ เป็นการเพิ่มความแม่นยำในการคัดเลือกลักษณะทางการเกษตรที่ต้องการ


นายระพีภัทร์ บอกอีกว่า การคัดเลือกพันธุ์พืชด้วยเครื่องหมายโมเลกุล มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงพันธุ์อย่างมาก ช่วยลดจำนวนพืชที่จะปลูกเพื่อคัดเลือก ลดระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ ยังช่วยลด พื้นที่ปลูก แรงงาน และค่าใช้จ่ายได้ถึง 10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการคัดเลือกแบบเดิม อีกทั้งสามารถตรวจคัดเลือกได้หลายลักษณะพร้อมกัน นอกจากนั้น เครื่องหมายสนิปส์ด้วยเทคนิค Tetra-Primer ARMS-PCR มีความสะดวก ใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน และยังมีต้นทุนการตรวจสอบเพียง 10 บาทต่อการตรวจสอบสนิปส์ 1 ตำแหน่ง หน่วยงานใดหรือผู้ที่สนใจ นำเครื่องหมายสนิปส์ทั้ง 3 ชุดไพรเมอร์ไปใช้คัดเลือกพันธุ์สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2904-6885.
...
