วิกฤติน้ำท่วมยังสาหัสหลายจังหวัด อุบลฯขยายวงกว้าง 19 อำเภอ ร่วมครึ่งแสนครัวเรือนเดือดร้อน หนัก มวลน้ำจ่อถล่มพื้นที่ชั้นในตัวเมืองระดมป้องกัน รพ.สรรพสิทธิประสงค์เต็มพิกัด เขื่อนอุบลรัตน์ปริมาณน้ำเกินความจุมากสุดตั้งแต่ปี 2521 มหาภัยน้ำท่วมไม่เป็นอุปสรรคให้เหล่าพุทธศาสนิกชนพายเรือลุยน้ำทำบุญตักบาตรวันออกพรรษากันคึกคัก เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มระบายน้ำไปที่ 3,123 ลบ.ม./วินาที สูงสุดในรอบปี พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยายังอ่วมหนักต่อเนื่อง เมืองนนท์ระทึกคันกั้นน้ำแตกหลายจุดมวลน้ำทะลักท่วมถนน-หมู่บ้านจมบาดาล “ชัชชาติ” ห่วงสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักฯเตรียมบิ๊กแบ็ก 1,000 ใบ เสริมคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออกป้องกันเมืองกรุง หลังพ้น 11 ต.ค.ไม่น่าห่วงแล้ว
...
สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ยังวิกฤติหนัก เมื่อวันที่ 10 ต.ค. จ.อุบลราชธานี น้ำท่วมขยายวงกว้างถึง 19 อำเภอ ได้รับผลกระทบเกือบ 5 หมื่น ครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 9 ต.ค. เกิดเหตุ แนวกระสอบทรายกั้นน้ำของห้างค้าวัสดุก่อสร้างดูโฮม ใกล้เชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย เขตเทศบาลเมืองวารินชำราบพังทลาย ทำให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ ภายในร้าน ดูโฮมออกแถลงการณ์ว่า น้ำไหลเข้าท่วม ลานจอดรถ พื้นที่ภายในร้านและสำนักงานบางส่วนประมาณ 20-30 ซม. ไม่กระทบกับโครงสร้างร้าน และความปลอดภัยของพนักงานแต่อย่างใด ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เร่งระดมอุปกรณ์และส่งกำลังเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ส่วนที่ อ.ตาลสุม ระดับน้ำสูงกว่า 1.30 เมตร ท่วมถนนทางหลวงหมายเลข 4005 จากบายพาสกุดลาด-พิบูลมังสาหาร นายไกรศร ศรีกาญจนวงษ์ ผญบ.บ้านนามน ต.ตาลสุม เผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือนอกจากน้ำจะท่วมบ้านแล้ว ยังไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้ อยากได้ส้วมกระดาษ หรือ ส้วมน็อกดาวน์มาให้ลูกบ้านเพื่อบรรเทาทุกข์
ขณะที่ชาวบ้านย่านถนนสรรพสิทธิ์ตัดถนนบูรพาใน เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ระดมกระสอบ ทรายมาวางเป็นแนวป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมอาคารร้านค้าริมสองฝั่งถนน ที่ถูกแม่น้ำมูลหนุนสูงไหลท่วม บ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มที่จุดต่ำสุดมา 2-3 วัน กำลังจะ เอ่อเข้าท่วมถนนชั้นใน มีสถานที่สำคัญคือ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดขนาดใหญ่ของอีสานตอนล่าง เจ้าหน้าที่เร่งนำกระสอบทรายไป อุดตามท่อระบายน้ำและเตรียมพร้อมรับมือหากน้ำไหลเข้ามาท่วมถึงหน้าโรงพยาบาล ส่วนการคมนาคมในตัวเมืองเริ่มตัดขาดบางเส้นทาง เช่น ถนนอุบล-ตระการ ช่วงโค้งหัวสนามบิน น้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม. มีรถแทรกเตอร์ของบริษัทสยามคูโบต้า มาให้บริการลากขนรถ จยย.ชาวบ้านข้ามจุดน้ำท่วมสูงระยะทาง 1 กม. ส่วนบริเวณแยกธนาคารกรุงไทยบ้านดู่ ถึงแยก จำปาหอม น้ำท่วมสูงกว่า 30 ซม.
จ.ศรีสะเกษ น้ำจากลำน้ำมูลที่มาจากเขื่อนราษีไศล เอ่อล้นท่วมถนนสายราษีไศล-อุทุมพรพิสัย บ้านหนองอึ่ง ต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล ระดับน้ำสูงน้ำไหลเชี่ยว รถเล็กและรถ จยย.ไม่สามารถวิ่งได้ เจ้าหน้าที่ต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถทหาร และรถ ปภ. มาบริการรับส่งคนข้ามฟากไปทำธุระไปทำงาน มีรถของบริษัทห้างร้านเอกชนที่มีจิตกุศลนำรถเทรเลอร์มาบรรทุกรถยนต์ข้ามฟากระยะทาง 4 กม.ไปส่งฟรี แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ปรากฏว่า มีชาวบ้านนำรถไถรถแทรกเตอร์พ่วงท้ายออกมารับจ้างบรรทุกรถยนต์ข้ามฟาก คิดค่าบริการคันละ 300 บาท คนที่ขึ้นไปกับรถไม่คิดค่าบริการ ต่อมา มีเจ้าหน้าที่มาห้ามรถไถวิ่ง ให้เหตุผลว่ารถวิ่งไปเสีย กลางทางทำให้กีดขวางการจราจร

สถานการณ์เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปรับเพิ่มการระบายไปที่ 3,123 ลบ.ม./วินาที สูงสุด ในรอบปี พื้นที่ท้ายเขื่อนน้ำขึ้นสูง 17.30 เมตร จาก ระดับน้ำทะเลปานกลาง ล้นกว่าตลิ่ง 96 ซม. แจ้งเตือน ธงแดงเป็นสถานการณ์ขั้นวิกฤติต่อเนื่องวันที่ 3 ชาวบ้านย่านตลาดสรรพยากว่า 200 ครัวเรือน ที่รีบ อพยพออกจากบ้านหลังพนังกั้นน้ำแตกเมื่อ 3 วันก่อน ระดับน้ำเริ่มนิ่งพากันเข้าไปขนของออกมาให้ได้มากที่สุด ขณะที่ชาวบ้านหมู่ 5 ต.โพนางดำออก ที่ถูกน้ำท่วมมานานกว่า 2 อาทิตย์ ยังให้ความสำคัญวันออกพรรษา พากันนั่งเรือนำสำรับกับข้าวไปทำบุญ ที่วัดมะปรางกันอย่างคึกคัก ส่วนบางพื้นที่เช่น วัดหาดอาษา นำเต็นท์มากางริมถนนให้ประชาชนมาร่วม พิธี ขณะที่ถนนริมคลองมหาราช หมู่ 4 ต.หาดอาษา น้ำเริ่มปริ่มขึ้นมาบนถนน ชาวบ้านต้องรีบออกจากเต็นท์ไปพักอยู่ศาลาริมทางแทน
...
จ.อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำน้อยเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่โรงเรียนวัดขุมทอง หมู่ 6 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษ ชัยชาญ ชั้นล่างอาคารโรงเรียนถูกน้ำท่วมสูง 30-50 ซม. โรงเรียนต้องขอกำลังตำรวจ ชาวบ้าน และครู โรงเรียนอื่นๆมาช่วยกันขนย้ายหนังสือ โต๊ะเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอนขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียหาย ส่วน จ.สิงห์บุรี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่ลำน้ำแม่ลา อ.บางระจัน เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ บ้านเรือนประชาชนทุ่งแม่ลา 3 หมู่บ้านใน ต.แม่ลา กับอีก 3 หมู่บ้านใน ต.สิงห์ ระดับน้ำ 50 ซม. ถึง 1 เมตร มีชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้ว 323 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 4,414 ไร่ ชาวนาต้องเร่งเกี่ยวข้าว ก่อนกำหนด ขณะที่นายสมชาย ลีหล้าน้อย รอง ผวจ.สิงห์บุรี นำเจ้าหน้าที่ร่วมกับชาวบ้านช่วยกันกรอกกระสอบทรายไปวางกั้นน้ำจากคลองบรมธาตุไม่ให้ไหลเข้าท่วมตลาดสดเทศบาลเมืองสิงห์บุรี
จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำจากคลองคูเมือง เขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ล้นตลิ่งเข้าท่วม พื้นที่ชุมชนวัดกุฏิทอง วัดวงฆ้อง หมู่บ้านวังแก้ว ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับสูง 1 เมตร ที่สมาคมอยุธยารวมใจ หน่วยกู้ภัยอยุธยา น้ำเข้าท่วม โกดังที่เก็บโลงศพบริจาคกว่า 50 โลง และตู้เก็บศพ เจ้าหน้าที่ต้องเร่งขนย้ายโลงศพขึ้นไว้ที่สูง รวมทั้งขนย้ายอุปกรณ์กู้ภัย รถพยาบาล รถกู้ภัย ไปจอดยัง จุดที่น้ำท่วมไม่ถึงเพื่อเตรียมไว้ช่วยเหลือประชาชน

...
จ.นนทบุรี เกิดเหตุระทึกช่วงค่ำ วันที่ 9 ต.ค. คันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาแตกหลายจุด เนื่องจากระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงถึง 2.88 เมตร จุดแรกคันกระสอบทรายแตกหน้ากรมราชทัณฑ์ อ.เมืองนนทบุรี น้ำไหลท่วมถนนนนทบุรี 1 ไปถึงหน้าเรือนจำ กลางบางขวาง ระยะทางกว่า 800 เมตร ระดับน้ำ 30-50 ซม. จุดที่สองคันกั้นน้ำภายในจวนผู้ว่าราชการ จังหวัดนนทบุรี แนวกระสอบทรายพังทลายน้ำไหลท่วมสูง 10-20 ซม. จุดที่สามหมู่บ้านบุรีรังสรรค์ สะพานพระราม 5 คันกั้นน้ำหลังหมู่บ้านแตกน้ำไหลบ่า เข้าท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ชาวบ้านตั้งตัวไม่ทัน รถยนต์หลายคันในหมู่บ้านถูกน้ำท่วมเกือบมิดคัน จุดที่ 4 บริเวณแยกพระราม 5 ถนนพิบูลสงคราม น้ำทะลัก จากชุมชนวัดนครอินทร์ เข้าท่วมใต้สะพานและบริเวณ แยกพระราม 5 ฝั่งขาออก ระดับน้ำสูง 30-50 ซม. หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เร่งนำกระสอบทรายไปวางเสริม ตามแนวคันกั้นน้ำที่แตก เช่นเดียวกับที่ชุมชนวัดบางพัง ซอยสุขาประชาสรรค์ 2 อ.ปากเกร็ด น้ำใน แม่น้ำเจ้าพระยาล้นแนวคันดินไหลบ่าทะลักเข้าท่วมชุมชนเกือบ 100 หลัง ชาวบ้านพากันแตกตื่นออกมาดู เจ้าหน้าที่ระดมเครื่องจักรเข้าเสริมแนวคันกั้นน้ำได้สำเร็จ
ช่วงเช้าวันที่ 10 ต.ค. พระครูพิพิธเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นำพระสงฆ์ 5 รูป เดินลุยน้ำท่วมสูงเกือบถึงเอวด้วยความลำบาก ออกบิณฑบาตตามกิจของสงฆ์ทุกวัน ภายในชุมชนบ้านโอ่งอ่าง เป็นชุมชนคนไทยเชื้อสายมอญ ไปถึงชุมชนวัดไผ่ล้อม ระยะทางราว 800 เมตร มีชาวบ้านลุยน้ำออกมารอทำบุญตักบาตรด้วยจิตศรัทธาเนื่องในวันออกพรรษา สำหรับพื้นที่เกาะเกร็ดมีลักษณะแม่น้ำเจ้าพระยาล้อมรอบและเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ถูกน้ำท่วมหนักทั่วทั้งเกาะต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว
ที่ศาลาว่าการ กทม.2 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.เผยว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค.มีน้ำท่วมพื้นที่ถนนสุขุมวิท เพราะเป็นจังหวะน้ำ 3 ส่วนมาเจอกันได้แก่ น้ำฝนในเขตพระโขนงมีปริมาณ 107 มม. น้ำทะเลหนุนสูงสุดในรอบปีปะทะน้ำเหนือทำให้การระบายช้าลง เตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนอีกวัน หลังจากวันนี้ไปจะเบาลงจนไม่น่าห่วง ที่น่าห่วงสุดตอนนี้คือสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เกินความจุถึง 114% แต่กรมชลประทานยืนยันว่าไม่ผันน้ำเข้า กทม. แต่จะผันไปทางบึงฝรั่งออกไปทางคลองนครต่อเนื่องเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อระบายน้ำออกทางตะวันออกให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม กทม.เตรียมคันกั้นน้ำเสริมทางทิศตะวันออกไว้เพื่อความอุ่นใจ เตรียมถุงบิ๊กแบ็กไว้ 1,000 ใบวางชะลอน้ำบริเวณคลอง 8,9,10,11 ฝั่งคลองหกวาสายล่าง จะเริ่มวางวันที่ 11 ต.ค. ส่วนปริมาณน้ำเหนือ หากดูจากเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลยังไม่เต็มความจุ อยู่ในระดับ76% สามารถชะลอการปล่อยน้ำเหนือลงมาได้จึงไม่น่าห่วง สรุปสถานการณ์น้ำคือพ้นวันนี้ไปฝนจะเบาลง สิ่งที่ต้องดูแลตอนนี้คือน้ำฝั่งตะวันออกเท่านั้น
...
นายสถาพร เที่ยงธรรม รองอธิบดีกรมศิลปากรเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา รายงานสรุปการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน และเตรียมการรับมือดังนี้ พื้นที่เกาะเมืองขณะนี้เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาทำคันป้องกันน้ำ จะสามารถป้องกันโบราณสถานในเกาะเมืองได้เกือบทั้งหมด มีเพียงป้อมเพชรและรหัสวิดน้ำในพระราชวังโบราณเท่านั้นที่ถูกน้ำท่วม ส่วนพื้นที่นอกเกาะเมือง โบราณสถานได้รับผลกระทบจำนวนมากเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ด้านทิศเหนือและบริเวณริมลำน้ำมีโบราณสถานได้รับผลกระทบแล้ว 67 แห่ง ส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงไว้แล้ว ถูกน้ำแช่ขังได้ไม่กระทบต่อโครงสร้างความมั่นคง แต่มีความเสียหายบ้างเรื่องการชำรุดเล็กน้อยของวัสดุ ภาพรวมอุทกภัยครั้งนี้จะไม่ทำความเสียหายกับโบราณสถานในด้านโครงสร้าง หลังน้ำลดจะเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อบูรณะเสริมความมั่นคงต่อไป