เรื่องที่ผมว่า “จี๊ด!กระทบใจ” อ่านแล้วต้องขยายต่อเรื่องที่สอง ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับ ก.ย.2565 คอลัมน์คลินิกจิตแพทย์ พญ.วราภรณ์ (ยงวณิชย์) ตั้งตรงไพโรจน์ เขียนเรื่อง จะอยู่กับคนที่เราเกลียดได้อย่างไร

ผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่วัยรุ่น อายุของเธอตามเวชระเบียน คือ 45 ปี เธอเข้ามาหาป้าหมอด้วยใบหน้าที่โกรธท่าทางที่กระแทกกระทั้น และน้ำเสียงที่พูด แสดงว่ามันออกมาจากใจของเธอจริงๆ

เธอเริ่มต้นพูดกับป้าหมอในห้องตรวจเป็นครั้งแรก “หนูจะอยู่กับคนที่เราเกลียดได้อย่างไร?”

“คุณเรียกคนที่รู้สึกเกลียดคนนี้ว่าอะไรคะ” ป้าหมอถาม “หนูเรียกเขาว่า หัวหน้าค่ะ”

ป้าหมอถามต่อ “แล้วหัวหน้าคนนี้ทำอะไรให้คุณเกลียด” “เขามักชอบด่าหนูค่ะ” คำตอบนี้มากับใบหน้าและน้ำเสียงที่โกรธขึ้ง

“แล้วหัวหน้าคนนี้เขาต่อว่า (ด่า) คนอื่นด้วยหรือเปล่า?” “เขาด่าทุกคนค่ะ”

“แล้วคนอื่นที่โดนต่อว่า (ด่า) มีปฏิกิริยาเป็นอย่างไร” ป้าหมอถามต่อไปอีก

เธอจึงอธิบาย “คนอื่นก็เดือดร้อนบ้าง ไม่เดือดร้อนบ้าง แต่สำหรับหนู หนูนอนไม่หลับ หนูคิดมาก ถึงขั้นอยากจะไปฆ่าหัวหน้าให้ตายเลยค่ะ”

“หัวหน้าของคุณเขาต่อว่า (ด่า) ทุกคนใช่มั้ย” “ใช่ค่ะ เขาด่าทุกคน”

เมื่อป้าหมอได้ข้อมูลดังนี้ ป้าหมอจึงบอกเธอไปว่า “ฟังป้าหมอนะคะ แต่ละคนมีปฏิกิริยาและตอบสนองต่างกัน อย่างกรณีของคุณ คุณเปลี่ยนหัวหน้าไม่ได้ คุณต้องพยายามเรียนรู้จุดอ่อนของตัวเอง

เพราะคนที่เกลียดหัวหน้าน้อย ก็ทุกข์น้อย คนที่ไม่เกลียดหัวหน้าเลย ก็ไม่ทุกข์

...

หน้าที่ของคุณคือ พิจารณาคำต่อว่า (ด่า) ของหัวหน้าว่าเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงตามที่หัวหน้าพูด คุณก็ต้องปรับปรุงตัวเอง

คุณเองถ้าพูดไปแล้ว จุดอ่อนของคุณที่วันนี้ป้าหมอพบ ก็คือคุณอดทนต่อการที่จะมีคนมาตำหนิต่อว่าคุณได้น้อย เพราะฉะนั้น จุดนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนของคุณ

ที่จริงแล้ว คุณต้องขอบคุณหัวหน้าของคุณ การที่เขาต่อว่า (ด่า) จึงทำให้คุณรู้ว่า คุณมีความอดทนต่อคำตำหนิได้น้อย

ดังนั้น คุณต้องสร้างภูมิความอดทนให้มากขึ้น...นี่คือชีวิตจริงค่ะ

คุณอาจจะจบปริญญาโทมาจากเมืองนอก คุณอาจจะทำงานได้รางวัลมาเยอะแยะมากมาย แต่ภูมิชีวิตของคุณด้านความอดทนต่อคำตำหนิต่ำ คุณต้องสร้างภูมิชีวิตด้านนี้ให้มากขึ้น

แล้วอย่ามัวแต่ทุกข์เพราะหัวหน้า ป้าหมออยากให้คุณตั้งใจทำงาน หัวหน้าเขาไม่ได้อยู่ตลอด ถ้าเขาทำงานเก่งเขาก็อาจได้ย้ายไปเป็นตำแหน่งระดับสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ถ้าคุณทำงานไม่ดี การพิจารณาอื่นๆที่อาจส่งผล ต่อหน้าที่การงานของคุณก็จะตามมา”

ป้าหมอพูดมาถึงตอนนี้ หน้าตาของเธอก็เปลี่ยนไป เธอยิ้มกว้างขวาง แล้วพูดขึ้นว่า

“ทำไมนะ หนูถึงไม่เคยคิดแบบนี้เลย”

ป้าหมอวราภรณ์จบเรื่องไว้ตรงนี้ แค่ป้าหมอเปลี่ยนมุมมอง ก็เกิดปาฏิหาริย์ ความทุกข์ของคนไข้ก็หายไป โลกที่เคยอับเฉาก็สดใสสว่างขึ้นมาฉับพลันทันที

ผมอ่านเรื่องนี้แล้ว อยากเป็นคนไข้ของป้าหมอบ้าง...แต่ก็ยังหาเรื่องเกลียดใครยังไม่ได้

อย่างสองพี่น้องที่มีเสียงผลักไส...ผมก็เห็นท่านรักใคร่กันดี พี่ปล่อยเก้าอี้ว่างไม่กล้านั่งเก้าอี้น้อง พี่ออกไปให้ชาวบ้านหอมแก้ม น้องก็ออกช่วยคนถูกน้ำท่วม น่ารักน่าชังด้วยกันทั้งคู่.

กิเลน ประลองเชิง