เหตุการณ์ช็อกโลกคนร้ายใช้ปืนลอบสังหาร “ชินโสะ อาเบะ อดีตผู้นำญี่ปุ่น” ขณะกล่าวสุนทรพจน์หาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครวุฒิสภาของพรรคแอลดีพี ในเมืองนาราทางตะวันตกของญี่ปุ่น ท่ามกลางผู้สนับสนุนมาร่วมให้กำลังใจรับฟังการหาเสียงครั้งนี้ถูกเผยแพร่ผ่านออนไลน์ออกไปอย่างรวดเร็ว
ก่อนถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ส่งโรงพยาบาล “ในภาวะไร้สัญญาณชีพ” ทีมแพทย์พยายามช่วยยื้อชีวิตอย่างเต็มที่แต่ไม่เป็นผล “ชินโสะ อาเบะ” ได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้สร้างความอาลัยแก่ผู้คนไปทั่วโลก รวมถึงผู้นำของประเทศต่างๆออกมาร่วมแสดงความเสียใจต่อการจากไปของอดีตนายกฯญี่ปุ่นในครั้งนี้
ทว่าในส่วน “มือปืนเป็นชาวเมืองนาราวัย 41 ปี” ทันทีที่ลั่นไกปืนเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมตัวได้ในสถานที่เกิดเหตุทันควัน พร้อมของกลางอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุแบบทำขึ้นเอง ตามรายงานระบุว่า ผู้ก่อเหตุเคยเป็นอดีตกองกำลังรักษาความมั่นคงของญี่ปุ่น สังกัดกองกำลังทางเรือญี่ปุ่นเป็นเวลา 3 ปีด้วยซ้ำ

...
ส่วนปมสังหารอดีตผู้นำญี่ปุ่นในเมืองที่เป็นสังคมสงบสุขปลอดภัยสูงมีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำนี้ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า โดยหลักแล้วญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รู้จักทั่วโลกว่า “ปลอดภัยสูง” มีอัตราเกิดคดีอาชญากรรมน้อยมาก ทำให้ตำรวจแทบไม่พกอาวุธประจำกายด้วยซ้ำ
แม้ว่า “ญี่ปุ่นจะเป็นสังคมสงบสุข” แต่ก็เป็นประเทศทางสังคมเคร่งเครียดถูกกดดันสูง ทั้งเรื่องการทำงาน ค่าครองชีพ และความคาดหวังการประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วผู้ถูกกดดันหนักมักกลายเป็น “Burndown หรือ Burnout” ตกในภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจจากความกดดัน สุดท้ายทนไม่ไหวก็ปะทุระเบิดออกมาเต็มที่
ปัญหาว่า “รอยรั่วจุดระเบิดนี้อยู่ที่ใดในสังคม” เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศสังคมของการเข้าถึงเรื่องอาวุธปืนได้ค่อนข้างยากมาก เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า “ญี่ปุ่นไม่ใช่สังคมนิยมใช้ความรุนแรง” ดังนั้น คนมีอาวุธปืนได้ต้องผ่านขั้นตอนการลักลอบซื้อผ่านดาร์กเว็บ (Deep Web) ที่รู้จักในนามเว็บมืดปกปิดตัวตนผู้ใช้งานเท่านั้น
ฉะนั้น ญี่ปุ่นมักเข้าถึงอาวุธปืนยากที่สุด “อันมีระบบการป้องกันเข้มงวด” แถมเป็นสังคมแห่งความสงบสุขมาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่มี “คนเข้าถึงอาวุธปืนก่อเหตุสังหารอดีตนายกฯ ได้” นั่นแสดงว่า “มีจุดรอยรั่วลักลอบซื้อขายทำอาวุธกัน” เหตุร้ายนี้ญี่ปุ่นมักให้ความสำคัญสูงในการเร่งตรวจสอบแก้ไขปัญหาทางสังคมฉับไว
ถ้าเปรียบเทียบกับ “สหรัฐอเมริกา” บุคคลทั่วไปสามารถเดินเข้าวอลมาร์ทหาซื้อปืนได้ง่าย เหตุนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2565 “สหรัฐฯ” มีเหตุกราดยิงจากมือปืนสติแตกแล้ว 308 ครั้ง ล่าสุด 4 ก.ค.เหตุเกิดในวันชาติสหรัฐฯ ที่คนร้ายกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย เพราะการครอบครองพกพาอาวุธเป็นเรื่องปกติ
และมีคำถามว่า“ญี่ปุ่นตระหนกพลเมืองตกอยู่ในภาวะแรงกดดันหรือไม่” เรื่องนี้รัฐบาลรู้ปัญหาดีทำให้ในปี 2016 เป็นต้นมา “ญี่ปุ่นทำนโยบาย Society 5.0” เน้นการสร้างศักยภาพของคนในสังคมไปสู่ยุคที่ 5
ลักษณะเป็นสังคมเอื้ออาทรหาทางออกให้ผู้สูงอายุ เพราะญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอยู่ขณะนี้ และเพิ่มโอกาสศักยภาพของทุกคนต้องมีความมั่นคงปลอดภัยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปรารถนา
ปัญหามีอยู่ว่า “นโยบาย Society 5.0 ยังไม่ถูกผลักดันไปได้ไกลมากเท่าที่ควรจะเป็น” ทั้งที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์โครงสร้างในการขับเคลื่อนไว้ครบหมดแล้วเพียงแต่ตอนนี้ “มีปัญหาเร่งด่วนให้ต้องมาแก้ไขกันก่อน” โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระดับเวทีโลก

อย่างเช่น สงครามระหว่างประเทศ สงครามทางการค้า หรือสงครามทางเทคโนโลยีที่เข้ามาแทรกจนทำให้ญี่ปุ่นต้องดึงนำเอาทรัพยากรบุคคลที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย Society 5.0 รวมถึงงบประมาณก็ถูกนำไปใช้ในโครงการอื่นๆ กลายเป็นยุทธศาสตร์ Society 5.0 ถูกบดบังจนไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างเต็มที่
...
จริงๆแล้ว “ญี่ปุ่น” ถูกออกแบบโครงสร้างทางสังคมห่างความรุนแรงมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับสหรัฐอเมริการ่างขึ้น แล้ว ความรุนแรงยิ่งลดลงอีกเมื่อปี 1990 กรณีเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำพังทลาย “แก๊งยากูซ่า (Yakuza)” ต่างผันตัวเปลี่ยนเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง หรือสถาบันการเงินนอกระบบ
นั่นก็ทำให้ “แก๊งยากูซ่าวางอาวุธไม่ไล่เข่นฆ่ากันเหมือนครั้งอดีตอีกต่อไป” แม้แต่การพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะแทบมีให้เห็นน้อยมาก แต่แน่นอนว่า “แก๊งยากูซ่า” อาจมีปัญหาอยู่บ้างส่วนใหญ่ก็เป็นลักษณะของการข่มขู่ที่ “มิใช่ยกพวกยิงกันตาย” เหมือนดั่งแก๊งยาเสพติดในละตินอเมริกาจนกลายเป็นเรื่องปกตินั้น
เพราะถ้ามีเหตุฆาตกรรมในญี่ปุ่นมักเป็นข่าวใหญ่ อีกทั้ง “ยากูซ่า” ก็มีระเบียบวิถีขึ้นสู่การครอบครองอำนาจแบบของตัวเอง ฉะนั้นปัจจุบันความรุนแรงในญี่ปุ่นมักเป็นสังคมกดดันออกมาในรูปแบบบูลลี่กลั่นแกล้งผู้อื่น
ย้อนกลับมาประเด็น “เหตุลอบสังหารอดีตนายกฯญี่ปุ่น” ที่กำลังสะท้อนถึงในเวลานี้ระบบการค้า ธุรกิจ และเศรษฐกิจแต่ละประเทศมีปัญหาหลายมิติ กระทั่งสร้างความเครียดกดดันให้ประชาชนจนพักหลังมักได้ยินคำว่า “Inclusive ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่ถ้าอยู่ดีๆ คนในสังคมลุกขึ้นจับปืนออกมาก่อเหตุยิงผู้นำประเทศได้เช่นนี้
ตอกย้ำเลยว่า “สังคมไม่ Inclusive จริง” แล้วนับวันความกดดันทางสังคมยิ่งรุนแรงขึ้น สังเกตภาพเหตุการณ์ไม่นานมานี้ “บอร์ริส จอห์นสัน” นายกฯอังกฤษ ถูกกดดันจากการแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นไม่ได้ แม้แต่ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯคะแนนสนับสนุนก็ร่วงเพราะให้ความสำคัญแก้ไขข้าวยากหมากแพงน้อยกว่าทำสงคราม
...
สาเหตุเพราะเมื่อก่อน “เศรษฐกิจมักเป็นแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก” (Global Value Chains) ที่ไม่มีใครสกัดกั้นการค้าขายจนทุกประเทศได้รับประโยชน์เจริญก้าวหน้าไปพร้อมกัน แต่ในปี 2018 “สหรัฐฯ” ทำสงครามการค้า และเทคโนโลยี “สิทธิทางเศรษฐกิจก็ถูกกีดกัน” ทำให้ความกดดันมีระดับสูง
ยิ่งเลวร้ายกว่านั้น “การตอบโต้ระหว่างนาโตกับรัสเซีย” เกิดมาตรการคว่ำ บาตรยิ่งเป็นการกีดกันการค้าสูงขึ้นอีก “ผู้คนต้องกินของแพงใช้ของแพงเกิดเงินเฟ้อไปทั่วโลก” แม้แต่เศรษฐกิจเล็กๆ สปป.ลาว และศรีลังกายังได้รับผลกระทบจนเศรษฐกิจพังทลาย ฉะนั้นเรื่องปากท้องคนเป็นปัญหาสังคมของความกดดันขนาดใหญ่

เช่นเดียวกับ “ญี่ปุ่นแม้เป็นสังคมสงบสุข” การมีอาวุธครอบครองได้ยากแต่เมื่อเจอปัญหาเศรษฐกิจปากท้องย่อมสร้างความกดดันเกิดความเครียดหนัก ทำให้คนลุกขึ้นมาจับปืนก่อเหตุยิงอดีตผู้นำประเทศครั้งนี้
หากเปรียบเทียบกับ “ประเทศไทย” ยังมีอาชญากรรมสูง และความปรองดองสมานฉันท์น้อย สังเกตง่ายๆ ทุกวันยังมีเหตุลัก วิ่ง ชิง ปล้น หรือนักศึกษาอาชีวะวัยรุ่นไล่ยิงกันให้เห็นอยู่บ่อยๆ และบวกกับมีความขัดแย้งทางการเมืองยาวนาน ทำให้คนในประเทศทะเลาะกัน กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดความรุนแรงขึ้นได้เสมอ
...
ยิ่งมาเจอเศรษฐกิจรุมเร้าก็เป็นปัญหากดดันบานปลายกลายเป็นเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เช่นกัน
ประการต่อมา “ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่นมาเป็นร้อยๆปี” ในด้านการค้าและการทูตตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จนมีทหารญี่ปุ่นมาช่วยทำการรบโดย “ยามาดะ นางามาซะ” ภายหลังเป็นออกญาเสนาภิมุข
ต่อมาในปี 1970 แม้ความสัมพันธ์จะตกต่ำลงบ้างจากกรณี “วัยรุ่นไทยต้านญี่ปุ่น” เพราะมองว่าเอาเปรียบการค้าบ้านเรา แต่ญี่ปุ่นก็ปรับหันมาร่วมสร้างกิจกรรมกับคนไทยมาต่อเนื่อง “จนญี่ปุ่นเป็นไลฟ์สไตล์ของเด็กไทยที่นิยมชื่นชอบ” ไม่ว่าจะเป็นนิยมกินอาหาร ท่องเที่ยว แต่งกายญี่ปุ่นกันมากมายอยู่ทุกวันนี้
ตอกย้ำในช่วงยุค “ชินโสะ อาเบะ” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับ “ไทย” ในด้านภาคการผลิตสินค้า แม้ว่า “นโยบายการเมืองแต่ละฝ่ายอาจรุนแรง” แต่ในเรื่องวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจก็ไม่เคยมีปัญหาต่อกันมาก่อน ทำให้ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ มักไปมาหาสู่ต่อกันอยู่ตลอดไม่เคยขาดสาย
สุดท้ายเหตุลอบสังหารอดีตผู้นำญี่ปุ่นครั้งนี้ “ประเทศไทย” ควรต้องถอดบทเรียนในการครอบครองพกพาอาวุธปืนและเพิ่มความปลอดภัยให้คนในสังคม “ลักษณะขันนอตให้กระชับระดับพอดี” แต่อย่ายกระดับมาตรการความมั่นคงสูงเกินไป เพราะอาจกลายเป็นการเพิ่มความเครียดกดดันต่อสังคม และเศรษฐกิจมากขึ้น
นี่คือเหตุการณ์ “ลอบสังหารอดีตผู้นำญี่ปุ่น” ในประเทศที่การครอบครองปืนไม่ใช่ของหาง่าย แต่กลับมี “รูรั่วให้เกิดการมีอาวุธ พกพาอาวุธ” และด้วยสภาพกดดันจนมีคนที่บิดเบี้ยวระเบิดอาวุธในที่สาธารณะเช่นนี้จะต้องถูกแก้ไขเปลี่ยนญี่ปุ่นไปตลอดกาล.
