ยุทธศาสตร์ชาติและนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บูรณาการความร่วมมือส่วนราชการ ภาคเอกชนและประชาชน รวมพลังกันทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติได้แก่ ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ตอบสนองความ ต้องการและแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชน มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติโครงการ “สร้างเครือข่าย การมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบลเพื่อสนับสนุนการป้องกัน อาชญากรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายรวมไทยสร้างชาติและขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)”
เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา ชุมชนสังคมมีความสงบ เรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างยั่งยืน

...
พล.ต.อ.สุวัฒน์ มอบ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข และ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขับเคลื่อนโครงการปี 2563 และปี 2564 มีการอบรมเครือข่ายประชาชนไปแล้วกว่า 296,000 คน ในปี 2565 มีการอบรมเครือข่ายประชาชนที่เป็นผู้นำและผู้มีบทบาทในสังคมทุกสาขาอาชีพจาก 1,483 สถานีตำรวจทั่วประเทศ สถานีตำรวจละ 50 คน รวม 74,463 คน ทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายประชาชนแล้ว 371,063 คน
เครือข่ายประชาชนที่ผ่านการอบรมจะเป็นผู้เสนอความต้องการ และสะท้อนปัญหาในทุกด้าน ได้แก่ ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งและปัญหาอื่นๆมายังตำรวจที่ทำหน้าที่ประสานงานเครือข่ายนำเสนอคณะกรรมการระดับสถานีตำรวจที่มีหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นประธาน หากแก้ไขปัญหาไม่ได้ ให้เสนอไปยังคณะกรรมการระดับอำเภอที่มีนายอำเภอเป็นประธาน หากยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ให้เสนอไปที่คณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีผู้บังคับการจังหวัดเป็นกรรมการ
หากแก้ไขปัญหาไม่ได้คณะกรรมการจังหวัด จะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา ให้ตำรวจภูธรจังหวัดรายงานให้กองบัญชาการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรวบรวมความต้องการและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อตอบสนองความต้องการ และแก้ปัญหาให้ประชาชนต่อไป
ผลการปฏิบัติตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ถึงปัจจุบัน 4 เดือน รับรายงานปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อน 7,858 เรื่อง ติดตามและเร่งรัดให้หน่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน 7,640 เรื่อง

แยกเป็น 1.ปัญหาด้านสังคม ยาเสพติด การแข่งรถในทาง ลักลอบเข้าเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล แหล่งอบายมุขและสถานบริการ หนี้นอกระบบ อาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์และเทคโนโลยี 5,727 เรื่อง 2.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง การว่างงาน ความยากจนปัญหาหนี้สิน ขาดแคลนที่ทำกิน 325 เรื่อง 3.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การขาดแคลนแหล่งน้ำ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเสื่อมโทรมในชุมชน ภัยแล้งและอุทกภัย 1,062 เรื่อง 4.ปัญหาด้านความขัดแย้ง ความเห็นต่างทางการเมือง ศาสนาและเชื้อชาติ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อน การสร้างความเดือดร้อนรำคาญในรูปแบบต่างๆ 526 เรื่อง
มีปัญหาที่อยู่ระหว่างหน่วยได้สั่งเร่งรัดและคาดว่าจะแก้ไขได้ 218 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาด้านสังคม 146 เรื่อง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 38 เรื่อง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 26 เรื่อง ปัญหาด้านความขัดแย้ง 8 เรื่อง
ผลดำเนินการหน่วยที่แก้ปัญหาได้ บช.น. จำนวน 633 เรื่อง บช.ภ.1 จำนวน 809 เรื่อง บช.ภ.2 จำนวน 639 เรื่อง บช.ภ.3 จำนวน 937 เรื่อง บช.ภ.4 จำนวน 1,680 เรื่อง บช.ภ.5 จำนวน 783 เรื่อง บช.ภ.6 จำนวน 791 เรื่อง บช.ภ.7 จำนวน 382 เรื่อง บช.ภ.8 จำนวน 521 เรื่อง และ บช.ภ.9 จำนวน 465 เรื่อง
ทุกหน่วยทั่วประเทศร่วมกันแก้ปัญหาความเดือดร้อนชุมชนได้สำเร็จคิดเป็น 97.22 เปอร์เซ็นต์
พล.ต.ท.ประจวบประชุมติดตามผลการปฏิบัติกับหน่วย บช.น., บช.ภ.1-9 และสถานีตำรวจ 1,483 สถานีทั่วประเทศ โดยมีการสรุปผลการปฏิบัติทุกเดือน ให้คำปรึกษาและลงพื้นที่ติดตามผลโครงการร่วมกับหัวหน้าสถานีตำรวจ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งลงพื้นที่เยี่ยมเยียนรับฟังความเห็นชาวบ้าน
พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม”ว่า “กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดชุมชนสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ประสานงานเครือข่ายของทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ให้เร่งประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกให้สะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อประสานหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เข้าช่วยเหลือและทำการแก้ไข พร้อมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการในแต่ละระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอและจังหวัด สำหรับสถานีตำรวจที่ยังมีผลการปฏิบัติน้อย ให้ผู้บังคับ บัญชาลงไปตรวจสอบ หากเป็นพื้นที่เมือง ชุมชน มีปัญหาหรือความต้องการมาก เครือข่ายภาคประชาชนจะทำหน้าที่แทนตำรวจ ในการเสนอปัญหาให้ทราบ และเป็นหน้าที่ของตำรวจแก้ไขหรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประชาชนจะคลายความเดือดร้อน”
...

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะประสบผล สำเร็จ เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคน
ในชาติ แก้ไขปัญหาความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สถานีตำรวจและตำรวจทุกนายจะต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องจริงจังให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนและสังคมมีความเชื่อถือ เชื่อมั่น ศรัทธาต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบไป”
เป็นการทำงานเชิงรุกตามนโยบายหลักของ ผบ.ตร. ซึ่ง พล.ต.ท.ประจวบลงพื้นที่ทุกโรงพักกำชับเดินหน้าเข้าหาชุมชน หาประชาชน รับฟังความคิดเห็นและนำปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้านในแต่ละพื้นที่มาแก้ไข
...ทำทุกทางคลายความเดือดร้อนชาวบ้านให้ได้ตรงจุด.
ทีมข่าวอาชญากรรม