นายกฯ ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ กำชับกระทรวงสาธารณสุขติดตาม จับตาโควิดพันธุ์ใหม่และเตรียมความพร้อม หมอยา เวชภัณฑ์ เตียง “หมอทวีศิลป์” เปิดข้อมูลผู้ป่วย เจอแจกจบ เฉลี่ยติดเชื้อวันละ 2.9 หมื่นราย
เผยยอด ติดเชื้อสูงขึ้นในเมืองใหญ่ ชี้วัคซีนเข็ม 3 ป้องกันป่วยหนักได้ถึง 93% คาดเดือน ก.ย. ยอดติดเชื้อจะ พุ่งสูงอีกครั้งแต่จะลดลงในเดือน พ.ย.เช่นเดียวกับ ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่คาดจะเพิ่มขึ้นเดือน ก.ย. แต่หากประชาชนให้ความร่วมมือ ตัวเลขจะต่ำกว่าที่คาด ยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่ออีก 2 เดือน กระทรวงศึกษาธิการสั่งทุกโรงเรียนเข้มมาตรการป้องกันโควิด หลังพบหลายโรงเรียนการ์ดตก และจะไม่ประกาศปิดสถานศึกษา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย แจงเข้าใจคลาดเคลื่อน เผยยอดเด็กและบุคลากรในโรงเรียนติดเชื้อเหลือแค่ 200 คน

ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มีมติต่อเวลา พ.ร.ก. ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน ทั้งนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันที่ 8 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 10/2565 กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามอาการผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เตรียมความพร้อมเตียง แพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ให้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน ยา ให้พร้อม
...
ต่อมาเวลา 12.00 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงภายหลังประชุม ว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,144 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 20 ราย เป็นชาย 11 ราย หญิง 9 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 16 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 4,540,955 ราย หายป่วยสะสม 4,485,075 ราย เสียชีวิตสะสม 30,798 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำกรณีที่มีการออกข่าวหรือมีนักวิชาการออกมาให้ข้อมูลในโซเชียลมีเดียว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากว่า อาจมีทั้งข้อมูลที่สอดคล้องและผิด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ขอให้ฟังข้อมูลจาก ศบค.เป็นหลัก กรมควบคุมโรคแสดงรายงานข้อมูลผู้ป่วยแบบ OPSI กรณีเจอแจกจบ เป็นผู้ป่วยนอกที่ไปรับยาแล้วกลับบ้าน ตั้งแต่ มี.ค.65-6 ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 5,113,782 ราย พบว่าในสัปดาห์ที่ 26 ของปีนี้ มีผู้ป่วยประมาณ 207,643 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 29,000 รายทั่วประเทศ เป็นตัวเลขที่ป่วยจริง นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยให้ข้อแนะนำว่า ตัวเลขนี้มีความสำคัญที่จะต้องสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้ได้รับทราบ แต่อาการผู้ติดเชื้อไม่หนักและเห็นด้วยกับตัวเลขกระทรวงสาธารณสุขที่รายงานจำนวนผู้รักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นายอนุทินยืนยันว่า ยังมีเตียงรองรับเพียงพอ เตียงทุกระดับมีทั้งหมด 103,798 เตียง ใช้ไป 11.2% เตียงผู้ป่วยระดับหนึ่งหรือป่วยน้อย มีทั้งหมด 78,229 เตียง ใช้ไปเพียง 11% ผู้ป่วยระดับสองและระดับสาม มีทั้งหมด 5,694 เตียง ใช้ไป 13.4%

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นายกฯ ระบุว่าแม้ตัวเลขเสียชีวิตรายสัปดาห์จะลดลง แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคนกลุ่ม 608 ขอให้รณรงค์คนกลุ่ม 608 มารับวัคซีนให้มากขึ้น และขอความร่วมมือเรื่องการสวมหน้ากากของคนที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่ม 608 ภาพรวมการติดเชื้อทั่วประเทศ มี 54 จังหวัดที่มีแนวโน้มลดลง มี 23 จังหวัดที่เป็นขาขึ้น การติดเชื้อระลอกเล็กๆ ในบางจังหวัด อย่าง กทม.และปริมณฑล โดยเฉพาะภูเก็ตที่มียอดเพิ่มสูงพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นเมืองใหญ่และจังหวัดท่องเที่ยว ขอให้ประชาชนช่วยกันลดยอดผู้ติดเชื้อให้ได้ นายกฯยังเน้นย้ำเรื่องการสวมหน้ากาก ภูมิคุ้มกัน การรวมกลุ่ม แม้จะผ่อนคลายมาตรการ แต่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลประชาชนเพื่อจะได้ไม่เจอการแพร่ระบาดที่สูงกว่านี้ คาดว่าการระบาดจะสูงขึ้นประมาณเดือน ก.ย.และจะเริ่มลดลงในเดือน พ.ย.เช่นเดียวกับตัวเลขผู้เสียชีวิต ที่จะเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. หากประชาชนให้ความร่วมมือตัวเลขจะต่ำกว่าที่คาดการณ์
นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า นายกฯยังเน้นย้ำว่าเรื่องวัคซีนเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการเอาชนะและอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ แม้การฉีดวัคซีนจะยังไม่ถึงเป้าหมาย กระทรวงสาธารณสุขรายงานตัวเลขการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป้าหมาย 12 ล้านคน แต่ฉีดเข็มที่ 3 แค่ 47.1% เด็กอายุ 12-17 ปี เป้าหมาย 4 ล้านคน ฉีดเข็ม 3 เพียง 20.5% เด็กอายุ 5-11 ปี เป้าหมาย 5 ล้านคน ฉีดเข็ม 2 เพียง 40.9% และยังให้ความสำคัญเรื่องการติดเชื้อในโรงเรียน อยากให้กระทรวงสาธารณสุข กทม.เข้ามาดูแลใกล้ชิด ทั้งนี้ไทยจัดหาวัคซีนทั้งสิ้น 169.76 ล้านโดส ตอนนี้วัคซีนมีเพียงพอ กรมควบคุมโรครายงานประสิทธิผลการฉีดวัคซีน ที่ผ่านมายังไม่พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนสี่เข็ม
โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบเปลี่ยนวัคซีนจากแอสตราเซเนกามาเป็น Long-acting-antibody (LAAB) จำนวน 257,500 โดส และเห็นชอบการปรับเปลี่ยนวัคซีนไฟเซอร์ที่ยังไม่ได้รับมอบ 3.6 ล้านโดส มาเป็นไฟเซอร์ Maroon cap สำหรับฉีดเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน และอายุน้อยกว่า 5 ปี จำนวน 3 ล้านโดส และที่ประชุม ศบค.ยังมีมติให้ขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย.65 เพื่อการควบคุมป้องกันโรคและรักษาชีวิตประชาชน
...
นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวต่ออีกว่า ในที่ประชุม นายกฯต้องการให้ประชาชนร่วมมือกัน คือ 1.การสวมหน้ากากอนามัย 2.คลัสเตอร์ต่างๆ ให้ฝ่ายปกครองในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูอย่างรวดเร็ว 3.การเดินทางเข้าประเทศให้ไปตรวจสอบว่ามีผู้ติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือเข้าไทยที่เป็นคนต่างชาติเท่าไหร่ จะได้เห็นถึงความรุนแรงและต้องติดตาม แต่ทราบว่ามีตัวเลขไม่มาก 4.การเปิดจุดผ่อนปรนการค้าตามแนวชายแดนทั่วไทย จะต้องให้หน่วยงานต่างๆที่ไม่มีด่านควบคุมโรคไปหารือกันในพื้นที่ หามาตรการและหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันรับผิดชอบเรื่องการเดินทางระหว่างกัน โดยมีมาตรการเข้มงวดในการดูแลบุคคลด้วย 5.หากมีผู้เจ็บป่วย ขอให้มีการบริการดูแลให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี
อีกด้าน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดของนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย เรื่องยอดติดเชื้อโควิด-19 นายจิรายุกล่าวว่า อยากทราบว่ายอดที่รายงานรายวัน เป็นไปตามยอดติดเชื้อจริงหรือไม่ แผนการรองรับระลอก 5 ที่เกิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ กระทรวงบอกให้ประชาชนระวังอย่างไร มียาอะไรที่บรรเทาได้ ขณะนี้พบนักเรียนติดเชื้อจำนวนมากและคนต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยมีอัตราการติดเชื้ออย่างไร

...
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ชี้แจงว่า กระทรวงมีตรวจ 2 รูปแบบ คือ RT-PCR และ ATK ยืนยันว่าเก็บข้อมูลตัวเลขอย่างละเอียด แต่จะรายงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หากนับรวมทั้งระบบที่คิดจากการตรวจ RT-PCR และ ATK รวมไปถึงเจอจ่ายจบและรักษาตัวที่บ้าน ตัวเลขที่สปสช.รายงาน ทำให้มียอดติดเชื้อวันละประมาณ 2-3 หมื่นราย ยืนยันว่าการติดเชื้อใน กทม. กรมควบคุมโรคทำงานร่วมกับศูนย์อนามัย กทม. รวมทั้งประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ในไทย เป็นพัฒนาการการกลายพันธุ์ของไวรัส จะครอบเชื้อเก่าไปเรื่อยๆ ขณะนี้กินเนื้อที่ไป 70-80% แต่การติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง ทั้งนี้ อัตราการติดเชื้อของคนต่างประเทศไม่เยอะเท่าคนไทยติดในประเทศ เราจึงไม่ประมาท
ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.เป็นต้นมา กระทรวงได้รับรายงานการติดเชื้อโควิดของนักเรียนหลายหมื่นคนและลดจำนวนลงมาเรื่อยๆ แต่เดือน มิ.ย.จนถึงขณะนี้พบตัวเลขนักเรียนติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมาอีก แต่เป็นตัวเลขที่ไม่น่ากังวล เพราะส่วนใหญ่โรงเรียนสังกัดกระทรวงที่พบนักเรียนติดเชื้อ สัดส่วนประมาณ 1-2 คนต่อห้องเรียน โรงเรียนที่พบนักเรียนติดเชื้อจะปิดเฉพาะชั้นเรียนและระดมทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อแล้วเปิดสอนตามปกติ
นายสุภัทรกล่าวอีกว่า ส่วนโรงเรียนบุณยวาท จ.ลำปาง ที่ประกาศปิดโรงเรียนใช้วิธีเรียนออนไลน์ทั้งหมด ได้รับรายงานว่าโรงเรียนจัดกิจกรรมนอกห้องเรียนรวมกลุ่มหลายร้อยคนจึงทำให้เกิดการติดเชื้อ แต่ไม่มีใครอาการน่าเป็นห่วง ขณะที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นการติดเชื้อสะสม 700 คนตั้งแต่เปิดภาคเรียนเดือน พ.ค.ที่รักษาหายแล้ว ขณะนี้ยอดสะสมเหลือเพียง 200 คน อยู่ระหว่างรักษาตัว การสอบสวนโรคพบเป็นการติดเชื้อจากโรงอาหารในโรงเรียน ยอมรับว่ามาตรการอาจหละหลวมเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่าง การกลับบ้านของนักเรียนหลังเลิกเรียนพบเด็กไม่ได้กลับบ้านในทันที แต่แวะทำกิจกรรมพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ อาจทำให้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เมื่อมาโรงเรียนจึงนำมาแพร่เชื้อในโรงเรียน
...
“ยืนยันว่าจะไม่ประกาศปิดสถานศึกษาเพื่อเรียนออนไลน์ การเรียนที่ดีที่สุดคือการเรียนในห้องเรียน สำหรับการฉีดวัคซีนของนักเรียน หากผู้ปกครองคนใดยังไม่อนุญาตให้บุตรหลานของตัวเองฉีดวัคซีนให้คิดใหม่ เพราะวัคซีนลดอาการรุนแรงของโรคได้ ขณะนี้การฉีดวัคซีนของนักเรียนอายุ 12-17 ปี ได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 20% จากนักเรียนทั้งหมดประมาณ 5 ล้านคน” นายสุภัทรกล่าว
ส่วนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย นางวราภรณ์ ทรัพย์สมบูรณ์ รอง ผอ.ฝ่ายวิชาการและมาตรฐานคุณภาพ ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.และผู้จัดการโรงเรียนฯ แถลงถึงการประกาศหยุดการเรียนการสอนในโรงเรียน 5 วัน เนื่องจากโควิด-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้งว่า มีการสื่อสารเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงตัวเลขการติดเชื้อ ครูและนักเรียนที่ติดเชื้อกว่า 700 คน เป็นตัวเลขสะสมตั้งแต่เปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ขณะนี้ยอดจริงมีนักเรียนและครู ติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 200 คน อยู่ระหว่างรักษาตัว โรงเรียนได้ปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ในวันที่ 11-12 ก.ค. และจะกลับมาสอนแบบปกติในวันที่ 20 ก.ค.
ขณะที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กสรุปความว่า การพล่ามบอกว่าการติดเชื้อในเด็กจำนวนมากไม่น่าห่วง เพราะอาการน้อย ถือเป็นการแสดงออกซึ่งทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง สะท้อนถึงประเด็นทางด้านจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์และปัญญา การติดเชื้อใดๆที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ยิ่งการติดเชื้อแต่ละครั้งมีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง การเสียชีวิต รวมถึงความเสี่ยงต่อความผิดปกติระยะยาว แม้เด็กจะเสี่ยงน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่ก็มีโอกาสเป็น ยิ่งติดกันมากติดกันบ่อย ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระยะยาวยิ่งมากขึ้นได้ ความรู้ทางการแพทย์ชัดเจนยืนยันให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดแวบแรกที่ควรมีในฐานะมนุษย์คือ ความเป็นห่วงเป็นใย เห็นอกเห็นใจ กระตือรือร้น ขวนขวายหาทางแก้ไข ควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ หรือทำอย่างเต็มที่เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นโดยเร็ว