“หมอประสิทธิ์” ชี้การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนย่อย BA.4-BA.5 ในไทยไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลก ชง ศบค.ออกระเบียบใส่หน้ากากในพื้นที่ปิด วอนรัฐบาลกลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยอมรับสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ แต่พร้อมรับมือ ศูนย์จีโนมฯรามาผลิตชุดตรวจโควิด 10 สายพันธุ์ นายกฯมั่นใจระบบสาธารณสุขพร้อมดูแลผู้ป่วยหาก ระบาดอีกระลอก กระทรวงศึกษาธิการฟันธงนักเรียนป่วยโควิดไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์กลับเข้าเรียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ครม.เห็นชอบยืดเวลาแรงงานต่างด้าวทำงานในไทยรองรับการฟื้นฟูประเทศ

ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 5 ก.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ของไทย ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเล็กๆ กระทรวงจึงส่งหนังสือถึง รพ.ในสังกัดและหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ให้บุคลากรการแพทย์ระมัดระวังป้องกันตนเองในการให้บริการ เตรียมความพร้อมยา เวชภัณฑ์ สำรองเตียง ความพร้อม ระบบส่งต่อ เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ขอความร่วมมือ ประชาชนให้คงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลจะช่วย ลดการติดเชื้อหยุดระลอกเล็กๆเหล่านี้ลงได้และยัง คงระดับการแจ้งเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 2 ต่อไป
นพ.เกียรติภูมิกล่าวอีกว่า ในการควบคุมป้องกัน การแพร่ระบาด เน้นตามมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention คือ มาตรการป้องกันโรค ทั้งเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก แม้จะมีการออกประกาศให้สวมหน้ากากโดยสมัครใจ แต่แนะนำให้สวมในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง และผู้ที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างจากผู้อื่นได้ การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก อยู่ใน สถานที่เสี่ยงหรือแออัด และ Universal Vaccination คือ มาตรการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะเข็ม กระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยลด ความเสี่ยงการติดเชื้อ ช่วยป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ลดการเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยหนักใน รพ. และ ระบบสาธารณสุขรองรับได้
...
สำหรับรายละเอียดหนังสือที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่งถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 1-13 แจ้งให้สถานพยาบาลต่างๆเตรียมความพร้อมรองรับ สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ลงวันที่ 30 มิ.ย.2565 ระบุว่า จากการรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ มีผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ.สังกัดกระทรวงเพิ่มขึ้น จึงเห็น ควรแจ้งให้สถานพยาบาลในสังกัดเตรียมความพร้อม ดังนี้ 1.สื่อสารให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบสถาน การณ์และผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการ ระวังป้องกันตนเอง ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ 2.สำรวจและเตรียมความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อเพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ 3.เตรียมความพร้อมการสำรองเตียง รองรับผู้ป่วย 4. เตรียมความพร้อมและซักซ้อมระบบการส่งต่อผู้ป่วย 5.เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้บุคลากร รวมทั้ง ประชาชนอย่างครอบคลุมและตามความสมัครใจ 6.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ 7.บูรณาการกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อวางแผนการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาด 8.รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง

ที่ รพ.ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า การระบาดของไทยขณะนี้ไม่ได้แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลก ที่พบการระบาดของ BA.4-BA.5 กว่า 110 ประเทศ การรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อจริง ก็ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากหลายประเทศเลิกตรวจหาเชื้อแล้ว บางประเทศ ที่ตรวจก็ไม่ได้ตรวจสายพันธุ์เช่นเดียวกับไทย เพราะมีการเปิดประเทศจึงพบ BA.4-BA.5 จากการนำเข้า โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ เมื่อมาถึงตรวจน้อยลง โอกาสแพร่กระจาย เชื้อจึงมากขึ้น คาดว่าไม่นานเชื้อ BA.4 BA.5 จะกลาย เป็นสายพันธุ์หลัก แต่ข้อมูลทั่วโลกพบว่าเชื้อนี้
ไม่ก่อความรุนแรง สิ่งที่ต้องย้ำ คือ มาตรการต่างๆ ต้องกลับมากระชับมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ อยากเร่งฉีดให้ครบโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพราะก่อนหน้านี้กลุ่มเสี่ยง 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ยังเสียชีวิต แต่ขณะนี้มีรายงานแม้ฉีด 4 เข็ม ก็เสียชีวิตได้และไม่ต้องรอวัคซีนรุ่น 2 ที่กว่าจะออกมาฉีดได้ คาดว่าช่วงปลายปี เพราะยังอยู่ในขั้นตอน ทดลองมนุษย์ นอกจากนี้ คงต้องกระชับมาตรการใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง และล้างมือ
“วันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน อยากให้ผู้ใหญ่ในประเทศส่งสัญญาณ เพราะขณะนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม จึงเสนอให้รัฐบาลต้องกลับมากระชับมาตรการป้องกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการออกข้อบังคับให้ใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปิด จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขคงต้องเสนอ ศบค.พิจารณา อย่ารอจนเตียงไม่พอจะไม่ทันต่อสถานการณ์ จากที่ประเมินสถานการณ์อาจจะไม่รุนแรงเหมือนช่วงการระบาดสายพันธุ์เดลตา ปัจจัยมาจากคนฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก ตัวเชื้อไม่ได้รุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่เชื้อตัวนี้แพร่ระบาดเร็วมากและเสี่ยงที่เกิดการกลายพันธุ์ได้ ที่น่าห่วงคือกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อจากคนที่ไม่แสดงอาการ จึงต้องย้ำถึงการฉีดวัคซีนให้ครบ แม้ไม่ได้ป้องกันติดเชื้อ แต่ยังป้องกันความรุนแรงของโรค”
...
ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดใน รพ.ศิริราช ว่า ยอมรับผู้ป่วยโควิดเข้ามารักษาเพิ่มขึ้นจริง โดยเฉพาะผู้ป่วยไอซียูที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มาด้วยโรคประจำตัว เมื่อมาตรวจพบเป็นโควิดร่วมด้วย ขณะนี้เตียงรองรับผู้ป่วยโควิดยังเพียงพอ แต่ไม่ได้วางใจและเตรียมรับมือกับสถานการณ์อยู่ ทั้งยังเข้มมาตรการส่วนบุคคลในบุคลากรทุกระดับ ที่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยเว้นระยะห่าง ล้างมือ ขณะที่ผู้ป่วยระดับสีเขียวเข้ามารักษาเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่จากการติดตามอาการหลังกินยา 4-5 วันก็หายไม่ได้รุนแรง ทั้งนี้ รพ.ศิริราช และกระทรวงสาธารณสุขได้มอนิเตอร์เฝ้าระวังสถานการณ์ต่อเนื่อง
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมฯเร่งพัฒนาชุดตรวจโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 ที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะระบาดแทนที่ BA.5 รวมทั้งบรรดาโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดก่อนหน้านี้ให้แล้วเสร็จใน 2 สัปดาห์ เพื่อพร้อมใช้ตรวจกรองหากระบาดในไทย เพื่อให้แพทย์ผู้รักษาทราบว่าคนไข้ที่กำลังรักษาติดเชื้อสายพันธุ์ใด ชุดตรวจดังกล่าวรู้ผลภายใน 24-48 ชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจ RT-PCR เล็กน้อย เพื่อให้แพทย์นำไปใช้ในการควบคุมป้องกันโรคและการรักษา เป็นการตรวจหาสายพันธุ์หลังรู้ผลการตรวจ ATK หรือ PCR ของผู้ติดเชื้อรายนั้นว่าให้ผลเป็นบวก บ่งชี้สายพันธุ์ได้ทั้ง 10 สายพันธุ์ ได้แก่ โอมิครอน BA.1 BA.2 BA.4 BA.5 BA.2.12.1 BA.2.75 เดลตา อัลฟา เบตา แกมมา ไปพร้อมกันในหลอดเดียว ตรวจสอบตำแหน่งพันธุกรรมกว่า 40 ตำแหน่งบนจีโนมทั้งสายพร้อมกัน ทำให้บ่งชี้ได้ว่าจีโนมของไวรัสยังสมบูรณ์แพร่ติดต่อได้ หรือ แตกหักกลายเป็นซากเชื้อที่ไม่ติดต่อแล้ว
...
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ แม้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงในบางพื้นที่ ขอประชาชนอย่ากังวล นายกฯมั่นใจระบบสาธารณสุขพร้อมดูแลผู้ป่วย หากเกิดการระบาดขึ้นอีก พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ ประชาสัมพันธ์เรื่องการยกเลิกไทยแลนด์พาส รวมทั้งความปลอดภัยด้านสาธารณสุข
ต่อมานายธนกรแถลงว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน 15 ฉบับ เรื่องการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ดังนี้ 1.ให้กลุ่มคนต่างด้าวที่มีสถานะถูกต้องประมาณ 1,690,000 คน อยู่และทำงานได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ.2568 โดยต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่เกี่ยวข้องที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้มีข้อมูลจากนายจ้างสถานประกอบการว่า ยังต้องการแรงงานไม่น้อยกว่า 120,000 คน

...
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้เป็นการระบาดในบริบทโอมิครอนที่ติดง่ายเชื้อไม่รุนแรง เราเปิดประเทศ มีโอกาสการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ เรื่องอาการหนักและจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้อยู่ เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ส่วนการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ BA.4-BA.5 ใน กทม.ได้เตรียมพร้อมเวชภัณฑ์และสถานพยาบาลไว้แล้ว ถ้าได้รับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป อาการไม่รุนแรง ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ยกเว้นผู้ไม่ได้รับวัคซีนและกลุ่ม 608
นายอนุทินให้สัมภาษณ์อีกครั้งช่วงบ่ายวันเดียวกัน กรณีที่แพทย์ชนบทออกมาเตือนสถานการณ์โควิด-19 ว่า ให้เตรียมพร้อมรับโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า รับฟังคำเตือนทุกอย่าง รวมถึงคำเตือนจากคณะแพทยศาสตร์ก็รับฟัง อะไรที่ปฏิบัติได้ก็ปฏิบัติ เมื่อถามว่าในส่วน กทม.ระบุว่าอาจจะต้องกลับมาสวมหน้ากากอนามัยอีกหรือไม่ นายอนุทินตอบว่า “ ผมเพิ่งหายมา”
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกักตัวของผู้ป่วยโควิด-19 ว่า เดิมกำหนดให้มีการกักตัวแบบ 7+3 คือกักตัว 7 วัน สังเกตอาการอีก 3 วัน แต่ล่าสุดคณะกรรมการวิชาการลดเหลือ 5+5 จะรอนำเข้าที่ประชุม ศบค. วันศุกร์ที่ 8 ก.ค. ส่วนนายอนุทินที่ติดเชื้อโควิด-19 ถือว่าเกิน 10 วันแล้ว ไม่น่าจะมีอะไร ช่วงออกงานเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ยืนห่างจากคนอื่น ส่วนการประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นต้องรอมติที่ประชุม ศบค.ต้องพิจารณาทั้งมาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข สังคม กฎหมาย แต่เชื่อว่าการดำรงชีวิตของเราคงไม่ได้เปลี่ยนไปมากกว่านี้ ความจริงในนิยามกฎหมายไม่มีคำว่าโรคประจำถิ่น มีแต่โรคติดต่อ โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และโรคติดต่ออันตราย มี 3 ระดับ ตอนนี้เราอยู่ในระดับสูงสุด ฉะนั้นหากจะลดระดับจะเหลือโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
วันเดียวกัน ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,917 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 18 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 10 ราย ผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,534,017 ราย หายป่วยสะสม 4,478, 846 ราย เสียชีวิตสะสม 30,736 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 555,233,865 ราย เสียชีวิตสะสม 6,362,437 ราย
อีกด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ทราบว่ามีโรงเรียนบางแห่ง เมื่อนักเรียนติดโควิด-19 รักษาหายที่บ้านและกักตัวครบตามกำหนด แต่โรงเรียนขอใบรับรองแพทย์จึงจะให้นักเรียนกลับเข้าเรียนได้ ทำให้นักเรียนต้องเสียเงินเพื่อให้ได้ใบรับรองแพทย์ เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ การกลับเข้ามาเรียน ใช้ผลตรวจ ATK หรือผลตรวจ RT-PCR ที่เป็นลบนำมาแสดงได้ ไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์