“อนุทิน” ย้ำ “ถอดแมสก์” ต้องเข้า ศบค. กระทรวงการต่างประเทศเผยนักศึกษาไทย กลับไปเรียนต่อที่จีนแล้วชุดแรก 76 คน หลังจีนเริ่มอนุญาตให้บางประเทศเข้าได้ โพลกรมควบคุมโรคหนุนเลิกตรวจ ATK-วัดอุณหภูมิ-ใส่หน้ากากอนามัย ส่วนโพลนิด้าหนุนถอดหน้ากากที่โล่ง-เปิดผับถึงตี 2 องค์การเภสัชกรรมพัฒนาวัคซีนโควิดสูตรกันโอมิครอน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันที่ 9 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เตรียมเสนอให้มีการถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งแจ้งหรือสวนสาธารณะด้วยความสมัครใจของประชาชนว่า เรื่องนี้ต้องนำเข้าหารือในที่ประชุม ศบค.พิจารณา หากจะมีมาตรการใดออกมาจะมีการประชุมของ ศปก.ศบค.ก่อน เพื่อกลั่นกรองและหาข้อสรุปเบื้องต้น ผู้สื่อข่าวถามว่า ถึงเวลาที่เหมาะสมหรือยังที่จะให้ประชาชนถอดหน้ากากอนามัย นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนสามารถประเมินสถานการณ์ของตัวเองได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ไหน ควรใส่หรือถอด

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบคเปิดเผยภายหลังการประชุม ศปก.ศบค. ว่าในที่ประชุม กทม.ได้เสนอให้พิจารณาเรื่องการถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่ กทม. สอดคล้องกับหลายหน่วยงานที่พิจารณาและเป็นไปตามโรดแม็ปของรัฐบาล โดยหลายหน่วยงานให้ความเห็นและประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนมอบหมายให้กรมอนามัยไปพิจารณารวบรวมรายละเอียด มานำเสนอที่ประชุมศปก.ศบค.สัปดาห์หน้าอีกครั้ง ส่วนการพิจารณาขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 2 เบื้องต้นเท่าที่ประเมินสถานการณ์หลังกลับมาเปิดให้บริการถือว่าอยู่ในระดับที่ดี กรมควบคุมโรคจะพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการที่กำหนดเรื่องโซนนิ่ง เวลาเปิดปิด หรือเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยยึดกฎหมายเดิมที่เคยบังคับใช้ก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เรื่องนี้จะนำกลับมาพิจารณาในที่ประชุม ศปก.ศบค. สัปดาห์หน้าเช่นกัน ที่ประชุมยังพิจารณาปรับพื้นที่สี พิจารณาเปิดด่านชายแดน การเข้าออกประเทศ ระบบ Thailand Pass ให้สะดวกมากขึ้น ที่น่าห่วงคือการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ของประชาชนยังน้อย อยากให้ประชาชนมารับวัคซีนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
...
วันเดียวกัน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าการผลักดันให้นักศึกษาไทยได้กลับไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน ว่า ขณะนี้ทางการจีนเริ่มอนุญาตให้นักศึกษาของบางประเทศ อาทิ นักศึกษาไทย เกาหลีใต้ ปากีสถาน กลับเข้าจีนได้ หรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบางแห่ง อาทิ นักศึกษามหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ มหาวิทยาลัยดุค คุนซาน จึงทำให้นักศึกษาไทยได้กลับไปศึกษาต่อที่จีนแล้วชุดแรก 76 คน โดยนักศึกษาเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของจีนอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ไทยและจีนอยู่ระหว่างการประสานงานให้นักศึกษาไทยชุดที่ 2 เดินทางกลับไปศึกษาที่จีนในอนาคตอันใกล้นี้

อีกด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รอง ผอ.องค์การเภสัชกรรมกล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด HXP-GPOVac ว่าได้รับการสนับสนุนจากองค์กร PATH พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด HXP-GPOVac โดยองค์กร PATH ได้ส่งหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบพัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์แห่งเมาท์ไซนายและมหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งออสติน สหรัฐอเมริกา มาผลิตที่โรงงานผลิตชีววัตถุขององค์การฯ ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วัคซีนชนิดนี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก เป็นวิธีผสมผสานโดยใช้เชื้อไวรัสนิวคาสเซิล ร่วมกับเทคโนโลยีเฮกซะโปรเพิ่มความคงสภาพของโปรตีนส่วนหนามได้ เป็นไวรัสลูกผสม NDV-HXP-S มาใช้ในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคโควิด-19 ช่วงเริ่มต้นทดลองในหนูพบว่ามีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพดี จากนั้นจึงทดลองในมนุษย์เฟสแรกและเฟสสอง ขณะนี้มีการพัฒนาสูตรที่ป้องกันโอมิครอน และจะกลับไปทำเฟสสองอีกรอบในช่วงเดือน ส.ค. เมื่อสำเร็จจะทำเฟสสามต่อไป คาดจะเริ่มฉีดในประชาชนได้กลางปี 2566
ขณะที่สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ถึงชีวิตที่ประชาชนต้องการเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่นของโรคโควิด-19 ที่ได้สำรวจระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-6 มิ.ย. จำนวน 3,194 คน พบว่าร้อยละ 2 ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด ร้อยละ 1 ฉีด 1 เข็ม ร้อยละ 23 ฉีด 2 เข็ม ร้อยละ 47 ฉีด 3 เข็ม ร้อยละ 26 ฉีด 4 เข็ม และร้อยละ 1 ฉีดมากกว่า 4 เข็ม เหตุผลที่ไม่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ร้อยละ 68.6 กังวลใจผลข้างเคียง ร้อยละ 22.7 ระบุประเทศจะเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น ร้อยละ 13 ระบุเชื้อโอมิครอนไม่มีความรุนแรง ร้อยละ 8.8 เห็นว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ ในกลุ่มตัวอย่างอีกร้อยละ 28 เคยติดเชื้อโควิด ร้อยละ 72 ไม่เคยติดเชื้อ เมื่อถามว่าถ้ามีการเข้าสู่โรคประจำถิ่น ต้องการให้ยกเลิกมาตรการใดมากที่สุด อันดับ 1 ต้องการเลิกตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อันดับ 2 ไม่ต้องตรวจวัดอุณหภูมิ อันดับ 3 ต้องการถอดหน้ากากอนามัย อันดับ 4 ไม่จำกัดจำนวนคนร่วมงาน และอันดับ 5 ไม่ต้องตรวจประวัติการฉีดวัคซีนก่อนร่วมกิจกรรม

...
ส่วนนิด้าโพลเผยผลสำรวจ เรื่อง “ถอดหน้ากาก ในที่โล่งแจ้ง-เปิดสถานบันเทิงถึงตี 2” ที่สำรวจจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-8 มิ.ย. หัวข้อความกลัวถึงการติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 32.90 ระบุไม่มีความกลัวเลย เพราะดูแลป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ได้รับการฉีดวัคซีนและไม่ได้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่ร้อยละ 29.01 ระบุค่อนข้างมีความกลัว เพราะต้องเดินทางไปทำงานนอกบ้าน ต้องติดต่อกับผู้คนจำนวนมากและพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เมื่อถามถึงแนวคิดที่จะอนุญาตให้ถอดหน้ากากขณะอยู่ในที่โล่งแจ้ง ร้อยละ 37.48 ระบุเห็นด้วยอย่างมาก ร้อยละ 27.71 ระบุค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 17.48 ระบุไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 17.33 ไม่ค่อยเห็นด้วย ส่วนแนวคิดที่จะอนุญาตให้สถานบันเทิงเปิดบริการได้ถึงตี 2 ร้อยละ 25.65 ระบุเห็นด้วยมาก และค่อนข้างเห็นด้วย ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 25.34 ระบุไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 23.36 ระบุไม่ค่อยเห็นด้วย
ที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ นายอมร บริรักษ์เลิศ นอภ.ตาคลี มอบหมายให้นายภวาณุ ปัญญาทิสรณ์ ปลัดอำเภอตาคลี จัดรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น (เข็ม 3) ให้ครูและนักเรียนจาก ร.ร.ทหารอากาศอนุสรณ์ 33 คน จาก ร.ร.ตาคลีประชาสรรค์ 47 คน แยกเป็นเข็ม 3 จำนวน 43 คน เข็ม 1 จำนวน 1 คน เข็ม 4 จำนวน 3 คน
นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผอ.องค์การอนามัยโลก กล่าวเตือนว่า มีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นที่โรคฝีดาษลิงจะระบาดในประเทศนอกแอฟริกา หลังมีรายงานผู้ป่วยเกินกว่า 1,000 คน จาก 29 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป โดยขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตและยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษขนานใหญ่ ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ monkeypox.global.health ที่รายงานผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ เผยว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว 1,240 คน เป็นผู้ป่วยจากอังกฤษ 321 คน สเปน 225 คน โปรตุเกส 191 คน เยอรมนี 113 คน แคนาดา 102 คน ที่ผ่านมาฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่แพร่กระจาย คร่าชีวิตผู้คนในแอฟริกามานานหลายศตวรรษ ปีนี้มีผู้ป่วยทั่วทั้งทวีปแอฟริกามากกว่า 1,400 ราย และ เสียชีวิต 66 ราย
...
ผอ.องค์การอนามัยโลกยังย้ำว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังไม่จบ แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทั่วโลกลดลงก็ตาม เรียกร้องให้ระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากการทดสอบหาเชื้อและการฉีดวัคซีนทั่วโลกยังไม่มากพอ วันเดียวกันฝ่ายวิเคราะห์สุขภาพของดิสคัฟเวอรี เฮลท์ บริษัทประกันสุขภาพรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้ เผยผลการศึกษาจากการติดตามผู้ป่วยที่หายจากอาการป่วยรุนแรงจากโควิด นาน 1 ปี จำนวน 7,000 คน พบว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 1.38 เท่า ภายใน 2-12 เดือนหลังจากหายป่วย รวมทั้งความดันโลหิตสูงในช่วงเวลานั้นเพิ่มขึ้น 1.11 เท่า ยังมีแนวโน้มเจ็บป่วยไม่ว่าด้วยเหตุผลใดจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 2.8 เท่าในเดือนแรกหลังจากฟื้นตัว และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ในช่วง 2-12 เดือนหลังหายดี