การศึกษาของประเทศเป็นก้าวแรกที่จะช่วยพัฒนาทั้ง การเมือง เศรษฐกิจและสังคม ปัญหาความยากจน การด้อยโอกาสของคนในสังคม ที่มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นทุกวัน ปัญหาเริ่มต้นที่การศึกษาเช่นกัน การศึกษาในต่างจังหวัดและในเมืองหลวงเป็นตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาที่ชัดเจน ระหว่างไม่มีโอกาสทางเลือกการศึกษากับการศึกษาล้นแก้ว เด็กในเมืองสามารถที่จะเลือกสถานศึกษาต่อได้ไม่มีขีดจำกัดเพราะโอกาสทางการศึกษาที่มากกว่า ส่วนเด็กในต่างจังหวัดต้องกระเสือกกระสนหาสถานที่ศึกษาต่อเลือดตาแทบกระเด็น

กรณีที่ต้องศึกษาคือแม้แต่ การศึกษาภาคบังคับ ที่รัฐสนับสนุน ก็ยังไม่สามารถสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับเด็กและเยาวชนของประเทศได้ เพราะการศึกษาในประเทศไทย ยึดหลักการระเบียบปฏิบัติทางสังคมมากจนเกินไป ไม่มีอิสระในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบหรือการแต่งกายอื่นๆ

ทำให้ เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตทางการศึกษาโดยตรง ทั้งหมดนี้เริ่มจากปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ความยากจน ทำให้เด็กและเยาวชน ด้อยโอกาสทางการศึกษา และเป็นวัฏจักรกลับมาสู่ สาเหตุของความยากจน เป็นงูกินหาง เพราะฉะนั้น ภาคสังคมจึงควรที่จะหันมาให้การเอาใจใส่ และสนับสนุนการศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่แค่ระบบการศึกษาของรัฐเท่านั้น

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับ เด็กนักเรียนที่ จ.พัทลุง เมื่อเร็วๆนี้จะเป็นตัวอย่างของกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี มีปัญหาสภาพครอบครัว ไม่มีเงินที่จะเข้าในระบบการศึกษาได้ตามที่ต้องการ แม้เด็กจะมีความตั้งใจขนาดไหนก็ตาม สุดท้ายยังเจอกับปัญหาในโรงเรียนในสถานศึกษาที่ปิดกั้นการศึกษาเสียเอง จนในที่สุดเด็กต้องตัดสินใจฆ่าตัวตาย เป็นหนึ่งในอีกหลายกรณีตัวอย่างโศกนาฏกรรมทางการศึกษาของไทย

ภาคสังคมจะเป็นอิสระในการที่จะช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศได้มากกว่าภาครัฐด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องอยู่ในกรอบที่จำกัดจากระบบราชการ เช่น โครงการ ลมหายใจเพื่อน้อง ที่ ปตท.โดย อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จับมือกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. จัดกิจกรรม PTT Virtual Run ภายใต้โครงการ ลมหายใจเพื่อน้อง ขึ้นมา เป้าหมายเพื่อระดมทุนด้วยการเดิน-วิ่ง หาทุนการศึกษาเพื่อเยาวชน จำนวน 150 ล้านบาท ที่ให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมโดยการสะสมระยะทางให้ครบ 6 แสนกิโลเมตร เพื่อนำมาแลกเป็นเงินที่จะช่วยสนับสนุนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงจำนวน 6 หมื่นคน ที่มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษาให้สามารถกลับเข้าเรียน ใช้เวลาสะสมระยะทาง 6 แสนกิโลเมตรเพียง 6 วันเท่านั้น

...

เพื่อต่อยอดโครงการดังกล่าว ปตท.ได้ร่วมกับ กสศ.อีกครั้งในโครงการลมหายใจเพื่อน้องเฟส 2 ด้วยเป้าหมายเดิน-วิ่ง 20 ล้านก้าว ก๊อตจิ ตั้งกองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤติการศึกษา 20 ล้านบาท แปลงทุก 1 กิโลเมตรเป็น 3 ก้าวก๊อตจิ จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.ลมหายใจเพื่อน้อง.com เป็นก้าวที่สองของการสนับสนุนและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพในอนาคต.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th