ไทยยื่นแล้วเอกสารขอรับรองวิถีการเลี้ยงควาย และเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ทะเลน้อยเป็น “มรดกโลกทางการเกษตร” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สัปดาห์หน้าคอยลุ้นกัน ควายทะเลน้อยจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการให้เป็นมรดกโลกหรือไม่

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP ประจำกรุงโรม ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านวิชาการเพื่อติดตามและปรับปรุงเอกสารข้อเสนอ ระบบการเลี้ยงควายปลัก ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง และ จ.สงขลา เผยว่า ตนพร้อมด้วย น.ส.รัชนก แสงเพ็ญจันทร์ และ นางศุภจิต ศรีอริย วัฒน์ ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม (สปษ.โรม) ได้ยื่นเอกสารข้อเสนอ (GIAHS proposal) ฉบับแก้ไขตามคำแนะนำของ FAO ให้แก่ นาย Yoshihide ENDO ฝ่ายเลขานุการ มรดกโลกทางการเกษตร (Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GIAHS) ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

...

“โดยเอกสารข้อเสนอที่ยื่นไปครั้งนี้เป็นฉบับแก้ไขสมบูรณ์ เพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาข้อเสนอจากประเทศสมาชิกทั่วโลก รวมถึงข้อเสนอจากประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 17-19 พ.ค.นี้ ณ สำนักงานใหญ่ FAO ประจำกรุงโรม

หากคณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์พิจารณาเห็นชอบกับข้อเสนอที่ฝ่ายไทยยื่นไป โดยไม่ให้เรากลับมาแก้ไขเอกสารยื่นข้อเสนออีก ควายทะเลน้อย จ.พัทลุง และ จ. สงขลา จะได้เป็นมรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย หลังจากมีการร่วมจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร เพื่อประกาศรับรองพื้นที่ ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 6-10 เดือน โดยฝ่ายเลขานุการมรดกโลกทางการเกษตรจะประสานกับฝ่ายไทยเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในลำดับต่อไป” อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP ประจำกรุงโรม กล่าว

สำหรับมรดกโลกทางการเกษตร (Globally Important Agricultural Heritage System หรือ GIAHS) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร เพื่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปกป้องและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและเป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันมีพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรที่ได้รับการรับรองจาก FAO ให้เป็นพื้นที่ GIAHS site แล้วจำนวน 62 พื้นที่ ใน 22 ประเทศ สำหรับทวีปเอเชียมีพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร 40 แห่ง ใน 8 ประเทศ และ 1 เขตดินแดนสหภาพ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย อิหร่าน ศรีลังกา บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ และเขตแคว้นชัมมูและแคชเมียร์.