โครงการระบบส่งนํ้าภาคตะวันออก (อีอีซี) กลายเป็นประเด็นการเมืองที่ร้อนแรง ทั้งระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล และเกิดความขัดแย้งภายในพรรคแกนนำรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจึงต้องสั่งให้กระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และกรมธนารักษ์ได้สั่งเลื่อนการเซ็นสัญญา กับบริษัทผู้ชนะการประมูล
โครงการดังกล่าวมีชื่อเต็มว่า “โครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งนํ้าสายหลักในภาคตะวันออก” ตามกำหนดเดิมจะมีการเซ็นสัญญา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม แต่ต้องเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์แถลงว่า ไม่มีคำสั่งจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล เพราะอำนาจอยู่ที่อธิบดีกรมธนารักษ์
อธิบดีกรมธนารักษ์ชี้แจงว่า ตามกฎหมายไม่ต้องให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ (ในการสั่งเลื่อนการเซ็นสัญญา) ไม่มีกระแสอะไรที่ต้องยกเลิกผลการประมูลกระแสสังคมไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมาย แต่ความเป็นจริงก็คือ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร ย่อมจะมีอำนาจตรวจสอบ เรื่องการบริหารราชการทั่วประเทศ
เช่นเดียวกับรัฐสภา อาจจะไม่มีอำนาจยุ่งเกี่ยวโดยตรงในโครงการของหน่วยงานรัฐ แต่สภามีอำนาจตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อศึกษาและตรวจสอบ เช่นโครงการระบบท่อส่งนํ้าอีอีซี ที่ใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า มีความไม่ปกติ ไม่โปร่งใส
ความไม่ปกติที่สำคัญก็คือไม่มีการเชิญชวนให้ร่วมประมูลอีบิดดิ้ง แต่เรียกมาแค่ 5 บริษัท ไม่มีชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้าง เช่น ช.การช่าง หรืออิตาเลียนไทย พรรคเพื่อไทยจะนำเรื่องนี้เป็นประเด็นหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรี รวมทั้งร้อง ป.ป.ช.
การยื่น ป.ป.ช.ให้เอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง 5 คน คือนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ และอธิบดีคนปัจจุบัน แต่ขอให้ ป.ป.ช.ชะลอไว้ก่อน หลังจากมีการเลื่อนเซ็นสัญญา แต่คาดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมกับเรื่องอื่นๆต้องมีแน่
...
การที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ หรือให้ตั้งคณะกรรมการ อาจไม่สามารถคลายความข้องใจของประชาชน นอกจากอภิปรายในสภาแล้ว จะต้องให้องค์กรอิสระ หรือคณะกรรมา ธิการของสภา เป็นผู้ตรวจสอบ และทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อความโปร่งใส และปกป้องผลประโยชน์ชาติและประชาชน.