ปมขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา “สินค้าของรัฐพิมพ์ชัดต้องขาย 80 บาท” กลายเป็นมหากาพย์เรื้อรังมานาน “รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย” หยิบยกขึ้นมาหาทางแก้ไขอยู่เสมอมา แต่สุดท้ายมักคว้าน้ำเหลว ไม่สามารถควบคุมการขายให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนดไว้ได้

หนำซ้ำยังเห็น “พ่อค้าแม่ค้าเสนอขายเกินราคากันโจ๋งครึ่ม” ตามที่ได้สำรวจตลาดสลากมักขายหวยชุด 2 ใบ ราคา 200 บาท ตกใบละ 100 บาท หวยชุด 5 ใบ ราคา 550-800 บาท ถ้าเป็นเลขดังราคาก็จะสูงกว่านี้

แม้ก่อนนี้มี “การแก้กฎหมายเพิ่มบทโทษผู้เสนอขายเกินราคาปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท” ก็กลายเป็นผู้ค้ารายย่อยปลายทางรับช่วงสลากแพงจากยี่ปั๊ว ซาปั๊วถูกจับเดือดร้อนแต่ราคาลอตเตอรี่แพงเช่นเดิม

จนล่าสุดมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 8/2565 แต่งตั้ง คกก.แก้ไขปัญหาการเสนอขายสลากเกินราคาฯ ตั้งทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบทั่วประเทศลุยจับคนขายแพงแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษ

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่เพราะ “เคยมี คกก.แก้ปัญหาขายสลากแพงมาแล้ว” ในช่วงแรกขึงขังลุยไล่จับอีนุงตุงนังกันมาหลายสมัยเป็นเหมือนละครยาวไม่มีวันจบได้สักที ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน บอกว่า กิจการสลากกินแบ่งรัฐบาลเปรียบเสมือน “แดนสนธยา” ที่มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในกิจการนี้

...

มักถูกกล่าวอ้างเป็น “เสน่หาผลประโยชน์หลายฝ่าย” ที่มาของละครเรื่องยาวยังไม่จบสักทีนั่นคือ “การแก้ปัญหาขายสลากเกินราคา” แล้วรัฐบาลยุคนี้ก็พยายามแก้มาตั้งแต่ปี 2557 จนปัจจุบันเป็นปีที่ 8 ก็ยังไม่เห็นแววจะจบ “ชาวบ้านเริ่มเบื่อหน่าย” เพราะพระเอกไม่เก่งจริง นางเอกไม่น่าเห็นใจ แถมทำไปทำมาหาบทสรุปไม่ลงอีก

เพราะด้วย “โครงสร้างสลากพิมพ์ออกมาแต่ละงวด 100 ล้านฉบับ” กระจายให้ระบบโควตาเกือบ 30% เช่น องค์กรสาธารณกุศล สมาคม มูลนิธิทั้งหลาย และผู้ขึ้นทะเบียนแต่ละจังหวัด อีกส่วนจัดสรรให้ผู้ค้ารายย่อยลงทะเบียนจองล่วงหน้าผ่านตู้ ATM ธ.กรุงไทย 70% แทนโควตา 5 เสือถูกยกเลิกตัวแทนขายสลากผูกขาดมานานไป

ประเด็นการแก้ปัญหาสลากแพงนี้มีข้อเสนออยู่ว่า “ควรล้างระบบโควตาใหม่ทั้งหมด ยกเลิกโควตาถาวรต่างๆที่ให้ใครต่อใคร” เพราะด้วยโควตา 30% ไม่ว่าเป็นองค์กร สมาคม มูลนิธิ ถูกก่อตั้งมานานแล้ว “สภาพองค์กรไม่ถูกอัปเดต” บางองค์กรเปลี่ยนแปลงไปแทบไม่มีความพร้อมการออกมาขายสลากได้ด้วยซ้ำ

แต่องค์กรเหล่านี้กลับได้รับโควตาดังเดิม กลายเป็นเหมือนทุกขลาภมักนำมาขายต่อให้ผู้ซื้อคงหนีไม่พ้น “ธุรกิจในกลุ่มอดีต 5 เสือ” แม้ถูกยกเลิกโควตาแล้วแต่ยังทำธุรกิจรับซื้อ-ขายสลากเช่นเดิมเพราะมีความสัมพันธ์เหนียวแน่นกับบางองค์กรที่ได้โควตาเก่า และกลุ่มผู้ได้โควตาใหม่ ที่ไม่อยากขายเองก็ถูกนำมาขายช่วงต่อให้ด้วยนี้

แม้แต่ “โควตาจังหวัดก็ไม่รู้อัปเดตข้อมูลหรือไม่?” ทำให้ตั้งข้อสงสัยสลากถูกส่งนั้นถึงผู้ว่าฯ หรือถึงมือยี่ปั๊วด้วยซ้ำ ดังนั้นเพื่อเคลียร์ปัญหานี้ควรต้องล้างบางระบบบัญชีโควตาทั้งหมด แล้วให้ผู้ค้าสลากเข้าสู่บัญชีระบบผ่านประตูเดียวกัน “จองล่วงหน้าผ่านตู้ ATM ธ.กรุงไทย” ให้เหลือบัญชีผู้ค้าสลากบัญชีเดียว

เพื่อจะง่ายต่อการตรวจสอบและร่อนตะแกรง เอาตัวปลอมออกไประหว่างทางอยู่เรื่อยๆ

ถัดมาคือ “แหล่งที่มาของสลากต้องมีแหล่งเดียว คือ มาจากสำนักงานสลากเท่านั้น” เพราะตอนนี้มีแหล่งที่มาของสลากนำออกมาขายในตลาดราคาแพงจาก “กลุ่มคนจำนวนหนึ่งต้องการขายสลากไม่ได้โควตาหรือจองล่วงหน้าผ่านตู้ ATM ไม่ทัน” ก็หันไปหาซื้อจาก “ยี่ปั๊ว” “ซาปั๊ว” ...ตามตลาดขายส่งแทน

...

อันนี้ก็เป็นเสมือน “สลากมาจากนอกระบบสำนักงานสลากฯ” ดังนั้นตราบใด “คนต้องการขายสลากหาซื้อตามตลาดค้าส่งได้เสมอ” ก็ไม่อาจควบคุมคนกลุ่มนี้ได้ จึงจำเป็นต้องปิดประตูลอดช่องไม่ให้เกิดผู้ค้านอกระบบสำนักงานสลากฯ ที่ควบคุมไม่ได้ เพื่อให้ “สลาก” และ “ผู้ขายสลาก” มีที่มาจากระบบแหล่งเดียว

“ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว เจ้าของตลาดค้าส่ง คือ ยี่ปั๊วคู่ค้าของสำนักงานสลากฯ เก่าอันเป็นโมเดลธุรกิจเคยถูกใช้ในการขายสลากก่อนหน้านี้ แล้วช่วงหลังเกิดปัญหาสลากแพงส่งผลให้ยี่ปั๊วต้องตกเป็นผู้ต้องหาถูกกล่าวอ้างเป็นผู้ทำสลากแพงจนถูกตัดโควตาทั้งหมด แต่มีคำถามว่าเมื่อถูกตัดโควตาทำไมตลาดค้ายังมีหลงเหลืออยู่...?” ธนากรว่า

สิ่งนี้สะท้อนเห็นว่า “มีกระบวนการนำสลากลอตใหญ่ออกมาซื้อขายกัน” แล้วก็อาจเป็นผู้ค้ากดจองผ่านตู้ ATM นำมาขายให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือเป็นการกวาดต้อนหาซื้อมาก็ได้ ที่เรียกว่า “ซื้อ-ขายช่วง” ทำให้สลากไหลมารวมกันในตลาดค้าส่งนี้เป็นผู้กำหนดราคาเอากำไรมากขึ้นเป็นทอดๆ จนราคาหน้าแผงแพงเกินจริง

...

หนำซ้ำบางงวด “กำหนดราคาตรงจากตลาดค้าส่งก็มี” ด้วยอัปราคาสูงตามกลไกเหตุผลเป้าหมายสร้างเม็ดเงินอย่างมีนัยอะไรก็ไม่แน่ใจ ส่วนปล่อยกระแส “เลขดัง” เป็นการปั่นราคาตลาดให้เลขนั้นขายราคาสูงขึ้น

ตั้งข้อสงสัย? กันว่าอาจเป็นฝีมือ “บรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือผู้ค้ารายใหญ่” กระตุ้นการตลาดที่เรียกว่า “ดีมานด์เทียม” มักอ้างอิงเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ “ปั่นราคาให้คนสนใจแย่งชิงกัน” ดังนั้น “สำนักงานสลากฯ หรือรัฐบาล” ต้องใช้อำนาจที่มีจัดการไม่ให้มีตลาดค้าส่ง ที่อาจจะตั้งโต๊ะปราบปรามจับกุมเข้มงวดก็แล้วแต่

ตอกย้ำวิธีตรวจสอบ “ขายผ่านเครื่องช่วยควบคุม” โดยสำนักงานสลากฯ อาจพัฒนารูปแบบอย่างที่คิดกัน “เปิดแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์” แล้วผู้ค้ามาเปิดแผงขายในระบบ ที่สำนักงานสลากฯสามารถควบคุม และตรวจสอบได้ตลอดทาง ถ้าไม่สะดวกก็ให้ “เอกชนมาประมูลขอเปิดแพลตฟอร์ม” ทำหน้าที่ให้บริการแทนก็ได้

ยิ่งกว่านั้น ในช่วงนี้ “การแก้ปัญหาสลากแพงกำลังอีนุงตุงนังหาบท สรุปไม่ลง” จนถูกวิพากษ์วิจารณ์กล่าวอ้างเป็นเพราะว่า “สลากกินแบ่ง

รัฐบาลเป็นสินค้าการเมือง” ที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในกิจการการค้าสลากตลอดเวลา...มีข้อสังเกตสำคัญจาก “รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย” มักให้ความสำคัญมากกับกิจการสลากฯ

...

อดีตสมัยก่อน “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” มักเข้ามานั่งเป็นประธานบอร์ดสลากเองด้วยซ้ำ ลือกันในยุคหลังมานี้ “ผอ.สำนักงานสลากฯ หรือประธานบอร์ด” ก็มักเป็นฝ่ายการเมืองที่ไว้วางใจอย่างเช่น...ยุคตำรวจก็ให้ตำรวจมาเป็น ผอ. หากยุคทหารก็ให้ทหารมาเป็น ผอ. แสดงให้เห็นว่ากิจการนี้มีความหมายต่อฝ่ายการเมืองยิ่ง

แถมลือกันหนาหูต่อเนื่องกันไปอีกว่า “ผลประโยชน์จากวงการค้าสลากโยงใยกับฝ่ายการเมือง” ที่เห็นชัดเจนคือเรื่องการแก้ปัญหาสลากมักถูกใช้เป็นเครื่องแซะการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทั้งการตั้งทีมแก้ปัญหาวางตัวบุคคล และมุ่งเป้าแซะยังกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในการจับกิจการบางอย่างที่มีเส้นสายเชื่อมโยงถึงฝ่ายการเมือง

ใช้เหตุผลแก้ปัญหาสลากแพงเป็นประโยชน์ทำลายฝั่งที่ไม่ใช่พวกพ้องของตน และก็ถูกฝ่ายตรงกันข้ามนำเรื่องนี้มาแซะโต้ตอบกลับเสมอ เพราะด้วย “การเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการสลากฯ

ทำให้การแก้ปัญหาสลากแพงที่ผ่านมาไม่เป็นไปอย่างตรงไปตรงมามักแก้ปัญหาแบบเกาไม่ถูกที่คันมาเสมอ เหมือน “ลูบหน้าปะจมูก” เพราะกลัวกระทบกระเทือนผลประโยชน์ไม่ของตัวเองก็ของพวกพ้อง ส่วนรัฐบาลก็ไม่อยากไปอะไรเรื่องนี้มาก “ด้วยประโยชน์สามารถยึดเม็ดเงินเข้ารัฐได้มากขึ้น” เพราะใช้เป็นข้ออ้างพิมพ์สลากเพิ่ม...รวมหวยชุด รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ล้วนแต่นำมาซึ่งส่วนแบ่งนำเงินเข้ารัฐเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น

แล้วการปล่อยให้มีการขายเกินราคาเฉลี่ยใบละ 20 บาทกับสลากหลายสิบล้านใบในแต่ละงวดก็ย่อมสร้างเม็ดเงินนอกระบบจำนวนมหาศาล ที่แน่นอนว่าจำนวนไม่น้อยไหลมาสู่กลุ่มก๊วนทางการเมืองด้วยหรือไม่...?

เมื่อเป็นเช่นนั้น “การแก้สลากราคาแพงให้จบจริง” ก็ต้องให้ฝ่ายการเมืองจัดการปัญหา เพราะเป็นอำนาจนอกเหนือ “สำนักงานสลากฯที่เป็นข้าราชการประจำ” ไม่อาจชนกับฝ่ายการเมืองได้ ฉะนั้นหากจะแก้ให้ตรงจุดตามที่เสนอมาข้างต้นบุคคลสำคัญสามารถสั่งการได้คือ “นายกรัฐมนตรี” ต้องใช้ความเด็ดขาดตรงจุดนี้

ถึงแม้ว่าอาจมี “คนเจ็บแต่จบปัญหาคาราคาซังเนิ่นนานก็ควรต้องยอม” เพื่อเคลียร์ผู้ไม่ควรได้รับผลประโยชน์ออกไป มิเช่นนั้นคนกลุ่มนี้จะทำให้ราคาสลากแพงดังเดิม ในส่วนกลุ่มคนสมควรได้รับผลประโยชน์ที่เป็นผู้ค้าจริงก็คงอยู่ในระบบเช่นเดิม แล้วท่านนายกฯจะได้คะแนนทางการเมืองไปแบบเต็มๆ

นี่คือต้นตอ “ขบวนการนอกระบบทำสลากแพง” ถูกฝังรากลึกมายาวนาน เรื่องนี้คงต้องฝากวิงวอนไปถึง “ท่านนายกฯ” ช่วยเคลียร์ปัญหาคาราคาซังนี้เพื่อให้ “คนไทย” จะได้ซื้อหวยราคาถูกกันสักที.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง