วิกฤติโควิด-19 สมุนไพรไทยอย่างฟ้าทะลายโจรถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ด้วยสรรพคุณมากมายที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฤทธิ์ในการทำลายเชื้อไวรัส สุดท้ายเลยกลายเป็นกระแสส่งเสริมให้ปลูกกันแทบทุก หัวระแหง แต่ปลูกแล้วจะเอาไปใช้อย่างไร ต่อยอดอะไร ชาวบ้านได้อะไร ยังไร้คำตอบจากผู้ที่ออกมาส่งเสริม แต่ไม่ใช่กับที่ ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา

นายธัชวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร เผยว่า โครงการปลูกฟ้าทะลายโจรนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ดร.จิระ สุวรรณประเสริฐ ผอ.สวพ.8 กับ นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายก อบจ.สงขลา ดร.สมมาตร แก้วมณี นายก อบต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ร่วมมือกันในการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรเพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19

“เจตนารมณ์ของความร่วมมือเกิดขึ้นจากความต้องการพึ่งตนเองด้านสมุนไพรรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งวงการแพทย์ให้คำแนะนำในการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาโรคได้ นอกจากนั้นฟ้าทะลายโจรยังมีสรรพคุณทางยาอีกหลายอย่างในการรักษาโรคหวัด แก้อักเสบจากอาการเจ็บคอ ไอ ต่อมทอมซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ และอื่นๆ เป็นที่ใช้กันอย่างแพร่ หลายมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ฟ้าทะลายโจรเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น จึงได้เกิดแนวความคิดในการพัฒนาให้ชุมชนสามารถดูแลตนเองเรื่องพืชสมุนไพรชุมชนขึ้นมา โดยให้ อบต.รำแดง ผลิตฟ้าทะลายโจรเพื่อการแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชน”

...

ทั้งนี้ ต.รำแดง ได้รับการสนับสนุนต้นกล้าฟ้าทะลายโจรสายพันธุ์ป่าขาด ที่มีสารแอนโดกราโฟไลด์ 6% จาก สวพ.8 ตามโครงการสงขลาเมืองสมุนไพรต้านโควิด-19 ได้ทำการปลูกและดูแลอย่างดีจนได้ผลผลิตสด นำไปตากแห้ง และส่งไปแปรรูป บรรจุแคปซูลที่โรงงานมาตรฐาน อย. ได้ยาแคปซูลจำนวน 21,000 แคปซูล พร้อมที่จะนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน ต.รำแดง ที่มีอยู่ 656 ครัวเรือน และกำลังทำการผลิตรอบใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 1 แสนแคปซูล เพื่อแจกจ่ายให้ครัวเรือนละประมาณ 200 แคปซูล เพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆตามสรรพคุณของฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของตำบลรำแดง ที่นำหลักพระราชดำริตามคำพ่อสอนในการพึ่งตนเองและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชุมชน

ตำบลรำแดงถือว่าเป็นต้นแบบของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรในการพัฒนาการผลิตพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรพึ่งตนเองได้สำเร็จ ปลูกฟ้าทะลายโจร อย่างน้อยที่สุดช่วยให้ชาวบ้านมีภูมิคุ้มกันหมู่ ชาวบ้านแถบนี้เวลารู้ว่าป่วยไข้จะกินฟ้าทะลายโจรที่ตัวเองมีส่วนร่วมในการปลูก นอกจากสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชนแล้ว เปอร์เซ็นต์ติดเชื้อของประชากรในตำบลกว่า 2,000 คนยังแทบเป็นศูนย์อีกด้วย หาก อบต. หรือเทศบาลใดสนใจที่จะนำรูปแบบนี้ไปดำเนินการ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สวพ.8 โทร.07-4445-9056.