ฤดูแล้งปีนี้ พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ค่อนข้างจำกัด แค่ 7,700 ล้าน ลบ.ม.

เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ที่มีแผนปลูกข้าวนาปรังได้ 2.81 ล้านไร่ รอดพ้นจากวิกฤติภัยแล้งที่อาจจะทำให้ข้าวยืนต้นตาย

กรมชลประทานมีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งมาใช้ทำนาปรังในช่วงแล้งนี้

เพราะการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งเป็นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

สามารถลดปริมาณการใช้น้ำจากไร่ละ 1,200 ลบ.ม. เหลือเพียง 860 ลบ.ม. ลดการใช้น้ำไปได้ถึง 30% ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ได้ข้าวคุณภาพดี อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน เชื้อเพลิงในการสูบน้ำไปเลี้ยงต้นข้าว

ที่สำคัญยังช่วย ลดความเสี่ยงข้าวยืนต้นตายจากภัยแล้ง อีกด้วย

เห็นได้จากการ ทำนาของ พันจ่าโทเฉลียว น้อยแสง ประธานเกษตรแปลงใหญ่จังหวัดชัยนาท ที่ทำนา 34 ไร่ ด้วยการทำนาแบบเปียกสลับแห้งมานานกว่า 10 ปี ไม่เคยเจอปัญหานาข้าวขาดน้ำยืนต้นตายหรือทะเลาะกับเพื่อนเกษตรกรด้วยกันเพื่อแย่งน้ำ

ผลผลิตที่ใช้น้ำน้อยได้มากกว่าการใช้น้ำเยอะ ช่วยประหยัดค่าปุ๋ยเพราะไม่มีน้ำไปช่วยละลายปุ๋ย ประหยัดค่าซื้อยาฆ่าแมลง ค่ายาฆ่าหญ้า ค่าน้ำมัน เพราะไม่มีน้ำให้เพลี้ยกระโดดอาศัยอยู่ และใบข้าวที่เติบโตดีช่วยปกคลุมไม่ให้แสงแดดส่องถึงพื้นดิน จึงไม่มีวัชพืชเติบโต

และจากการนำเทคโนโลยีทำนาเปียกสลับแห้งมาใช้ทำนาปรัง ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ สำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน ที่มีการทำนาปรังไปแล้ว 130,000-150,000 ไร่ และได้รับการจัดสรรน้ำวันละประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม. แต่สามารถแบ่งปันน้ำที่มีอย่างจำกัด ส่งไปได้ถึงแปลงนาที่อยู่ปลายคลองของโครงการ

...

ได้ทั่วถึงทั้ง 28 สาย ความยาวรวม 300 กม. เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง.

สะ–เล–เต