“ไทยเคยครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกมายาวนาน และเป็นพระเอกสร้างรายได้ให้ประเทศปีละนับแสนล้านบาท แต่วันนี้กลับเสียแชมป์ให้ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งของโลก ภูมิภาคอเมริกา ที่เคยผลิตได้เป็นรองชาติในเอเชียมาตลอด กำลังแซงหน้าเรา โดยมีเอกวาดอร์เป็นผู้นำ ขณะที่ผลผลิตกุ้งในภูมิภาคเอเชียตอนนี้เวียดนามก็กลายมาเป็นดาวเด่น โดยมีการคาดการณ์ว่า ผลผลิตกุ้งโลกในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 8-10% หากภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงรักษาระดับเท่ากับปัจจุบัน”

ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย อธิบายถึงสถานการณ์กุ้งไทยและกุ้งโลกที่กำลังเปลี่ยนไป...สำหรับปริมาณผลผลิตกุ้งของไทยปีนี้ภาพรวมอยู่ที่ 280,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาราว 4% และคาดว่าในปี 2565 จะมีผลผลิตกุ้งอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตัน โดยผลผลิตกุ้งไทยลดลงตั้งแต่ปี 2545-ปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาโรคระบาดกุ้ง ผนวกกับความไม่ชัดเจนของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของภาครัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งผู้นำการผลิตกุ้งของโลกที่เคยทำได้เป็นอันดับ 1 ในช่วง 10 ปีก่อน
...
ส่วนสถานการณ์การส่งออก ไทยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ถึง 80% โดยมีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน โดยปี 2565 คาดการณ์ว่าการส่งออกกุ้งจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยในส่วนของประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อโควิดของกุ้งจากเอกวาดอร์ที่ส่งไปจีน ทำให้เป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกกุ้งไปจีนได้มากขึ้น และจากการที่สถานการณ์โควิดมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้การนำเข้าและบริโภคกุ้งของประเทศต่างๆมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นก็เป็นโอกาสการส่งออกกุ้งเช่นกัน

แต่ขณะเดียวกันกุ้งไทยต้องเผชิญ ปัญหาจีเอสพีที่สหภาพยุโรป (EU) ตัดสิทธิพิเศษทางภาษี ส่งผลให้การส่งออกกุ้งของไทยไป EU ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงมูลค่า อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคกลุ่ม EU ยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเล็กน้อย เพื่อซื้อสินค้ากุ้งที่มีคุณภาพ และมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ ดังนั้น สมาคมกุ้งไทยจึงประเมินว่าประเทศผู้ผลิตกุ้งหลายแห่งจะมุ่งเน้นการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ หากไทยต้องการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ต้องมุ่งเน้นในส่วนของการทำกุ้งพรีเมียม เพื่อสร้างความแตกต่าง
ทั้งนี้ จากผลผลิตกุ้งไทยที่ถดถอยลง ทำให้ไทยมีวัตถุดิบกุ้งไม่เพียงพอสำหรับแปรรูปส่งออก ข้อมูลจากกลุ่มวิเคราะห์การค้าเศรษฐกิจการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2564 มีการนำเข้ากุ้งในปริมาณ 28,272.71 ตัน มูลค่า 4,154.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146.66% และ 155.84% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นกุ้งนำเข้าจาก เอกวาดอร์มากที่สุด 51.79% อาร์เจนตินา 32.09% เมียนมา 1.85% อินเดีย 1.74% กรีนแลนด์ 1.74% และประเทศอื่นๆ 10.79% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ากุ้งน้ำเย็น กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ และกุ้งอื่นๆ แช่เย็นแช่แข็ง เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อการส่งออก

“หากไทยสามารถสร้างผลผลิตกุ้งได้อย่างเพียงพอบนต้นทุนที่แข่งขันได้ ไม่จำเป็นต้องนำเข้ากุ้งเหล่านี้ เพราะมีความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดที่อาจเข้ามาซ้ำเติมเกษตรกร ขณะเดียวกันมูลค่าเงินที่เสียไปกับการนำเข้าจะหมุนเวียนอยู่กับเกษตรกรในประเทศ และเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยมากกว่า ฉะนั้น เราจำเป็นต้องจัดการปัญหาโรคระบาด รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง รวมถึงคลี่คลายประเด็นจีเอสพีในตลาดยุโรปให้ได้”
...
บทสรุป...การแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมกุ้งไทย ไม่ใช่การแก้ปัญหาทีละจุดหรือต่างคนต่างแก้ปัญหากันเอง แต่ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมกุ้งจำเป็นต้องร่วมมือกันมุ่งเน้นไปที่ภาพรวมของประเทศ โดยวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมกุ้งในระดับประเทศให้ชัดเจนและรอบด้าน จัดการทั้งปัญหาโรคกุ้ง และระบบการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งอย่างมีเป้าหมาย ตลอดจนเจรจาปัญหาการค้าในตลาดสำคัญอย่างยุโรป โดยภาครัฐต้องเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อน ทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์และกระจายนโยบายสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือกับคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board เมื่อนั้นอุตสาหกรรมกุ้งไทยจึงจะกลับมาอยู่ในแถวหน้าของโลกได้อีกครั้ง.
กรวัฒน์ วีนิล