ผมเคยเขียนดักคอเรื่องหมู...หมูที่ไม่หมูกับแนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐ

โดยทิ้งท้ายเอาไว้เกี่ยวกับประเด็นการปกปิดเรื่องโรค ASF หรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever : ASF) ที่ กรมปศุสัตว์ปฏิเสธเหย็งๆว่าไม่ใช่โรค ASF แต่เป็น โรคเพิร์ส หรือ PRRS

ทำให้โรคมันลุกลามไปทั่วประเทศ จนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยพากันเจ๊ง ล้มหายตายจากไปก็มาก อันเป็นที่มาทำให้หมูขาดตลาด บ่อเกิดปัญหาราคาเนื้อหมูแพงเป็นประวัติการณ์อยู่ขณะนี้

“ช้างตายทั้งตัว ยังเอาใบบัวปิดไม่มิด” แต่นี่ “หมูตายไปหลายหมื่นเล้าจะเอาใบบัวมาปิดให้มิดได้ยังไง”

ผลสุดท้ายก็โป๊ะแตก เมื่อ ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย 14 สถาบัน “Thailand Veterinary Dean Consortium (TVDC)” นำโดย น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ประธานภาคีฯ

ร่อนแถลงการณ์ถึง น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ แสดงความห่วงใยต่อ สถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร ระบุว่า

“ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบ ด้วยคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย ทั้ง 14 สถาบัน มีความกังวลกับสถานการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับได้รับคำถามเป็นจำนวนมาก จากเกษตรกรและประชาชน ถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข

จากการตรวจวินิจฉัยโรคโดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever : ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์แล้วนั้น

ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ฯ ขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนทางวิชาการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้างความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ที่ดีของวิชาชีพสัตวแพทย์ของประเทศไทย”

...

เป็นการตบหน้าแบบนิ่มๆ ที่เอาแต่ปฏิเสธเสียงแข็งมาตลอด สงสัยท่านนายกฯต้องเอาจริง หวดให้หนักๆกันสักรอบ

ขณะที่ นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ เพิ่งจะงัวเงียนำทีมลงพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตั้งเป้าให้เป็นพื้นที่นำร่อง ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยง กลับมาเลี้ยงสุกรได้อีกครั้ง

เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือมีผู้เลี้ยงรายเล็ก รายย่อยกระจายอยู่ราว 70,000 ราย สำหรับพันธุ์สุกร จะเร่งจัดหามาจากศูนย์วิจัยของกรมปศุสัตว์ เครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ ที่มีแม่พันธุ์อยู่ราวๆ 5,000 ตัว

รวมถึงการเจรจาขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ มหาวิทยาลัยต่างๆ และวิทยาลัยเกษตรทั่วประเทศ ให้ช่วยผลิตลูกสุกร

ทั้งหมดอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ผมไม่ติดใจกับการขอความสนับสนุนจากหน่วยงาน หรือองค์กรภาครัฐ ทั้งจากศูนย์วิจัยต่างๆ หรือมหาวิทยาลัยที่จะให้การสนับสนุน

แต่ยังมีข้อกังวลกับการขอความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ จะมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยเหล่านี้ ต้องเสียเปรียบ ตกเป็นเบี้ยล่างให้กลุ่มทุนใหญ่อีกหรือไม่

เพราะแน่นอนว่า “ของฟรีย่อมไม่มีในโลก”.

เพลิงสุริยะ