ไม่เกินคาดไทยติดเชื้อโควิด-19 พุ่งไม่หยุด ล่าสุดยังเฉียด 8 พันคนต่อวัน พบเชื้อสายพันธุ์ โอมิครอนกระจายแล้ว 71 จังหวัด จากสารพัดคลัสเตอร์ รวมถึงสังสรรค์-รวมตัวช่วงปีใหม่ แซงเดลตาแต่ยอดตายยังทรงตัวส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย-มีโรคเรื้อรัง คาดหากยังคุมไม่ได้สิ้น ม.ค. เจอวันละ 2 หมื่นคน ส่วน “อนุทิน” วาดหวังหากป่วย-ตายลด พร้อมผ่อนคลายมาตรการเทสต์แอนด์โกทันที ด้านทีมแพทย์ สธ.คาดใน 1 ปี จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น พร้อมขอประชาชนและทุกหน่วยงานเข้มงวดมาตรการที่กำหนด หลังบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อพุ่ง เร่งฉีดวัคซีนให้เด็ก 5-11 ปี และย้ำตอนนี้ ยังไม่มีเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ “เดลตาครอน”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยเริ่มน่าห่วง เมื่อพบติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเขยิบสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ผู้ติดเชื้อจะพุ่งหลังสังสรรค์รวมกลุ่มในเทศกาลปีใหม่

ติดเชื้อใหม่อีก 7.9 พันคน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 10 ม.ค.พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,926 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,319 คน มาจากเรือนจำ 195 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 412 คน จาก 54 ประเทศ โดย 5 ประเทศแรกที่พบติดเชื้อสูงสุดได้แก่ รัสเซีย 43 คน เยอรมนี 40 คน สหราชอาณาจักร 37 คน ออสเตรเลีย 32 คน และสหรัฐอเมริกา 28 คน แยกเป็นระบบเทสต์แอนด์โก 250 คน แซนด์บ็อกซ์ 148 คน ควอรันทีน 13 คน ลักลอบเข้ามา 1 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,277,476 คน ส่วนผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มขึ้น 3,612 คน อยู่ระหว่างรักษา 58,159 คน อาการหนัก 495 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 115 คน มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,197,479 คน
...
สูงวัย-มีโรคเรื้อรังตายต่อเนื่อง
ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 13 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 9 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10 คน มีโรคเรื้อรัง 3 คน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,838 คน ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 ม.ค.มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 138,885 โดส เป็นเข็มแรก 12,766 ราย เข็มสอง 32,977 ราย และเข็มสาม 93,142 ราย รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 106,475,122 โดส
โอมิครอนกระจาย 71 จังหวัด
พญ.สุมนีกล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 9 ม.ค.มีการตรวจหาเชื้อแบบ ATK จำนวน 52,329 คน พบผลเป็นบวก 1,262 คน มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้ให้ข้อมูลว่า จากการสุ่มตรวจจำแนกสายพันธุ์สายพันธุ์ที่เฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64-9 ม.ค.65 จำนวน 15,345 คน พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา 9,929 คน คิดเป็นร้อยละ 64.71 เป็นสายพันธุ์โอมิครอน 5,397 คน คิดเป็นร้อยละ 35.17 กระจายตัวไปแล้วเกือบทั่วประเทศ 71 จังหวัด แต่หากดูเฉพาะสัปดาห์ล่าสุดระหว่างวันที่ 2-8 ม.ค.2565 พบเป็นโอมิครอนถึงร้อยละ 70.3 เดลตาร้อยละ 29.7 สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 9 ม.ค.ได้แก่ ชลบุรี 767 คน สมุทรปราการ 693 คน กทม. 534 คน ภูเก็ต 513 คน อุบลราชธานี 383 คน นนทบุรี 261 คน นครศรีธรรมราช 227 คน ขอนแก่น 203 คน เชียงใหม่ 200 คน และอุดรธานี 182 คน โดยมีจังหวัดที่ผู้ติดเชื้อเกิน 100 คน 18 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) พื้นที่เศรษฐกิจ จังหวัดเหล่านั้นจึงต้องเข้มข้นมาตรการให้มากขึ้น
คลัสเตอร์สังสรรค์ปีใหม่มาอื้อ
พญ.สุมนีกล่าวอีกว่าขณะเดียวกันยังพบคลัสเตอร์ใหม่ๆหลายแห่ง อาทิ คลัสเตอร์ตลาดที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ปทุมธานี และพิษณุโลก คลัสเตอร์แคมป์คนงานที่ จ.นครราชสีมา คลัสเตอร์โรงเรียน สถานศึกษาที่ จ.นครปฐม คลัสเตอร์ค่ายทหารที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ คลัสเตอร์สถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ กทม.และปทุมธานี พบคลัสเตอร์งานวันเกิดที่ จ.จันทบุรี ส่วนคลัสเตอร์ร้านอาหาร สถานบันเทิง ที่ จ.ขอนแก่น บุรีรัมย์ พะเยา นนทบุรี ชลบุรี นครราชสีมา นครปฐม น่าน ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และคลัสเตอร์การสังสรรค์จากเทศกาลปีใหม่ที่ จ.อุบลราชธานี ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช ราชบุรี ลพบุรี พะเยา น่าน อำนาจเจริญ ชลบุรี ยโสธร มหาสารคาม ปัจจัยสำคัญของคลัสเตอร์เหล่านี้มาจากการรวมตัวกันของคนที่หนาแน่นในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี

คาดติดเชื้อพุ่งวันละ 2 หมื่น
พญ.สุมนีกล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันผู้ติดเชื้ออยู่ในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์กรณีประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองครอบจักรวาล หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอัตราผู้ติดเชื้อช่วงปลายเดือน ม.ค.จะไปแตะที่วันละ 2 หมื่นคน และปลายเดือน ก.พ.จะไปแตะที่วันละ 3 หมื่นราย ขณะที่การคาดการณ์การเสียชีวิตในปัจจุบันยังต่ำ สอดคล้องกับสถานการณ์โลก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับวัคซีนกันแล้ว ทั้งนี้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข เตรียมการยกระดับการจัดการเอาไว้แล้ว ต่างจากการระบาดหนักในช่วงระลอกเมษายน ปี 64 ที่ผ่านมา ในขณะนั้น คนไทยยังได้รับวัคซีนไม่ครอบคลุมและช่วงนั้น เพิ่งเริ่มทำระบบการกับตัวรักษาที่บ้าน (HI) และการดูแลรักษาในชุมชน (CI) แต่ตอนนี้จะไม่เหมือนกับตอนนั้นแล้ว โดยจังหวัดที่จะต้องเตรียมความพร้อมอย่างมากคือจังหวัดที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก 10 อันดับแรก และเป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าหลักร้อย และเป็นจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยว
เตรียมพร้อมรักษาผู้ป่วยเด็ก
...
พญ.สุมนีกล่าวว่า หากมีผลตรวจ ATK เป็นบวกคือติด แต่มีอาการน้อยให้ติดต่อที่โทร.1330 หรือไลน์@สปสช. แต่ถ้าในต่างจังหวัดให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของจังหวัดหรืออำเภอนั้นๆ เพื่อที่จะ ได้เข้าสู่ระบบการรักษาที่บ้านหรือในชุมชน แต่ถ้ามีอาการหนักจะพิจารณาตามเกณฑ์ให้ส่งต่อเข้ารักษาในโรงพยาบาล รวมถึงการดูแลผู้ป่วยเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในกลุ่ม 5-11 ปี มีการเตรียมยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่เป็นฟาวิพิราเวียร์แบบน้ำ และเตรียมพร้อมที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กใน CI สำหรับผู้ปกครองในการที่จะไปดูแลบุตรด้วยกันได้ โดยจะมีการประสานงานทั้งใน กทม.และในภูมิภาค ทั้งนี้ประชาชนที่สงสัยตัวเองว่ามีความเสี่ยง เช่น ไปในสถานที่เสี่ยง เข้าร่วมกิจกรรมเสี่ยง คือที่มีคนหนาแน่นมากๆ ให้ช่วยสังเกตอาการ โดยลักษณะอัตราการติดเชื้อของโอมิครอน ร้อยละ 48 ที่ไม่มีอาการ ส่วนอาการอื่นๆที่พบมากที่สุด คือ อาการไอ ร้อยละ 54 เจ็บคอ ร้อยละ 37 มีไข้ร้อยละ 29 ซึ่งน้อยกว่าตอนช่วงการระบาดเดลตา นอกจากนั้นพบอาการอื่นอีกเพียงเล็กน้อย อาทิ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ มีน้ำมูก ได้กลิ่นลดลง
สั่ง อภ.จัดหา ATK ราคาถูก
ต่อมาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงปัญหา ATK ขาดตลาดว่าได้สั่งการไปยัง ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เร่งจัดหาให้มากที่สุด และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งกระจาย ATK ที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านชุดไปยังพื้นที่เป้าหมายให้มากที่สุด ส่วนที่มีรายงานราคา ATK พุ่งขึ้น เชื่อว่าเมื่อนำเข้ามามากจะเป็นไปตามกลไกการตลาด ราคาจะถูกลง สำหรับเรื่องยาเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงเตียงได้เตรียมพร้อมเต็มที่ ปลัด สธ.รายงานสถานการณ์เตียงยังไม่พบปัญหา และยืนยันไม่มีการกันเตียง เน้นการรักษากลุ่มไม่มีอาการ หรืออาการน้อยที่ HI/CI ส่วนคนไม่มีอาการ แต่ต้องการเข้ารักษาเพื่อหวังเคลมประกันสุขภาพโควิด-19 ย้ำว่าการรักษาเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ และเป็นไปตามไกด์ไลน์ของกรมการแพทย์
...
ยัน สธ.รายงานตามข้อมูลจริง
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สธ. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้ามีข้อมูลจริงกว่านี้ขอให้นำมา สธ.ไม่มี การรายงานต่ำกว่าจริง รายงานตามข้อมูลเครือข่ายเฝ้าระวังโรคอยู่แล้ว ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาไม่เคยปิดบังข้อมูล หรือยักย้ายถ่ายเทข้อมูล ส่วนการจัดวิ่งมาราธอนที่ จ.บุรีรัมย์ ที่มีคนมารวมตัวจำนวนมากนั้น ก็ไม่เกี่ยวกับตน เพราะการอนุญาตในการจัดกิจกรรมต่างๆขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นเลขาฯ เป็นผู้พิจารณา
ปรับมาตรการหากป่วย-ตายลด
สำหรับการจะกลับมาเปิดระบบ Test & Go เมื่อใดนั้น นายอนุทินกล่าวว่า จะมีการประเมินตามอัตราผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต ซึ่งช่วงวันที่ 15-20 ม.ค.จะเห็นข้อมูลคลัสเตอร์เฉลิมฉลองปีใหม่เป็นอย่างไร หากอัตราติดเชื้อป่วยหนัก เสียชีวิตลดลงจะผ่อนคลายมาตรการทันที ยอมรับว่าหลังประกาศชะลอ Test & Go ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงบ้าง แต่เพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ ส่วนนักท่องเที่ยวที่ค้างท่อกรมควบคุมโรคแจ้งมีประมาณ 1-2 หมื่นราย ยังให้เข้ามาได้ โดยเฉพาะคนไทยที่ไปต่างประเทศตั้งแต่เดือน ธ.ค.อยากให้กลับมาเร็วจะดีที่สุด
คาดใน 1 ปีเป็นโรคประจำถิ่น
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ปี 2565 ในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 คือการชะลอการแพร่ระบาด การติดเชื้อไม่น่ากลัว แต่เรากลัวแพร่ระบาดที่รวดเร็ว อาจทำให้ล้นและโหลดระบบสาธารณสุข หรือเชื้อกลายพันธุ์ได้อีก ดังนั้นจึงกำหนดแผนเป็น 4 มาตรการ ส่วนการจะเป็นโรคประจำถิ่นนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงโรค ประชาชนเคร่งครัดมาตรการการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้อัตราผู้ติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตลด หากเสียชีวิตลดได้ในสัดส่วนร้อยละ 0.1 จะเข้าข่ายเป็นโรคประจำถิ่น หากเป็นไปตามคาดหมายน่าจะประมาณ 2 เดือน จะค่อยๆลดลงอีกสักระยะ คาดว่าภายใน 1 ปีจะเป็นโรคประจำถิ่น
...

ฟันธงยังไม่มีเดลตาครอน
นพ.ศุภกิจยังกล่าวถึงรายงานที่ระบุพบเดลตาครอนว่า กรมวิทย์ฯได้คุยกับฐานข้อมูลกลางโควิดโลกหรือ GISAID ที่มีรายงานผู้เชี่ยวชาญที่ไซปรัซส่งข้อมูลไปที่ GISAID เป็นข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบว่าใน 24 ตัวอย่างมีการกลายพันธุ์ทั้งในส่วนที่เป็นเดลตาและโอมิครอนอยู่ด้วยกัน แต่จากการตรวจเพิ่มพบส่วนที่เป็นโอมิครอนมีความเหมือนกันหมด แต่ว่าส่วนที่เป็นเดลตามีความแตกต่างกันไปตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะหากเป็นสายพันธุ์ใหม่จริงจะต้องตรวจทั้งสองฟากเหมือนกันไม่ใช่ตรวจแล้วมีแค่ฟากเดียวที่มีความแตกต่าง เพราะตอนนี้เชื้อเดลตามีสายพันธุ์ย่อยถึง 120 สายพันธุ์ เพราะฉะนั้นที่ไซปรัสสรุปว่า GISAID ยังจัดชั้นการค้นพบ 24 รายนี้เป็นเดลตา ไม่ใช่เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด และโอกาสที่จะเกิดได้มากที่สุดคือเป็นเรื่องของการปนเปื้อนในสิ่งส่งตรวจคือติดเดลตา แต่ไปปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโอมิครอน ทำให้พบ 2 สายพันธุ์ในตัวอย่างเดียวกัน อีกหนึ่งอย่างที่อาจจะเป็นไปได้แต่น้อยมากคือการติด 2 สายพันธุ์ในคนเดียว ฟันธงได้เลยที่บอกว่าเป็นตัวใหม่ เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือเป็นลูกผสม เป็นไฮบริดนั้น โอกาสน่าจะเป็นศูนย์เลยจากคาแรกเตอร์ที่เจอ แต่กรมวิทย์ฯจะติดตามข้อมูลต่อไป
บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อพุ่ง
ส่วน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ว่า เทียบ เม.ย.64 ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสูงสุดกว่า 100 คน ขณะนี้เดือน ม.ค. มีการระบาดของโอมิครอนพบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดวันละ 30-40 ราย ถือว่ามากพอควร ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากที่บ้านมีกิจกรรมร่วมกัน และมาเชื่อมต่อติดกับเพื่อนร่วมงาน ยังเน้นย้ำ ในหน่วยงานให้เคร่งครัดมาตรการ ไม่ต้องถึงขนาดปิดแผนก ส่วนในจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูง คือชลบุรี สมุทรปราการ กทม. แนวโน้มเริ่มชะลอตัว หากลดกิจกรรมเสี่ยง ลดการเคลื่อนที่จะลดการแพร่ระบาด ที่ชลบุรี ภูเก็ต ขณะนี้มีการตรวจเชิงรุกมากขึ้น นำรถ ชีวนิรภัยพระราชทานลงไปเพื่อควบคุมสถานการณ์ต่างๆให้ดีขึ้น หากเคร่งครัดทุกมาตรการที่รัฐกำหนด คาดภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มาก จะสามารถคุมสถานการณ์ได้
ใช้เตียงเขียวเพิ่มเหลืองแดงลด
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้พบอัตราการครองเตียงในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อัตราครองเตียงในผู้ป่วยสีเหลืองสีแดงลดลง เปรียบเทียบอัตราการครองเตียงในวันที่ 31 ธ.ค.2564 กับวันที่ 9 ม.ค.2565 จากจำนวนเตียงทั่วประเทศ 178,139 เตียง ภาพรวมใช้เตียงทั่วประเทศ เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 22.7 จากเดิม ร้อยละ 11 เตียงผู้ป่วยสีเขียว 122,256 เตียง มีการใช้ทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 จากเดิมร้อยละ 13.5 ขณะที่อัตราครองเตียงสีแดง 4,955 เตียง ทั่วประเทศมีการใช้ไปร้อยละ 4.3 จากเดิมร้อยละ 9.5 ผู้ติดเชื้อโอมิครอนร้อยละ 50 ไม่แสดง อาการ ไม่จำเป็นต้องนอน รพ. เพื่อสำรองให้ผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรัง ส่วนอาการในเด็กและผู้ใหญ่ต่างกันไม่มาก ในเด็กมักมีอาการซึม ดูดนมได้น้อย ทานอาหารน้อยและท้องเสีย ร้อยละ 20-30 จึงให้ หมั่นสังเกตอาการ และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่ รพ. ขอให้หมั่นสังเกตอาการ ขอให้ปรึกษาทุก รพ.มีกุมารแพทย์ติดตามและประเมิน อาการแรกรับ หากมีการเข้าระบบแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการติดต่อเข้าระบบรักษาผ่านหมายเลข 1330 ขอให้ โทร.มาก่อนเวลา 15.00 น. เพื่อการเข้าระบบอย่างรวดเร็ว

ยันฉีดวัคซีนเด็กปลาย ม.ค.นี้
ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ. สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการ เสวนา “โอมิครอน ร้ายจริงหรือ? ถึงต้องปิดโรงเรียน” ว่า อัตราการติดเชื้อในเด็กอาจเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่อัตราการป่วยและรุนแรงยังเท่าเดิม รวมถึงอัตราการ เสียชีวิตยังคงที่ เพราะผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ มาจาก 7 กลุ่มโรคเสี่ยงและผู้สูงอายุ และยังไม่ได้ รับวัคซีน แต่ในเด็กยังไม่เจอว่าเด็กติดเชื้อแล้วเสียชีวิต เด็กติดเชื้อเร็วแต่ความรุนแรงไม่มาก อีกทั้งการติดเชื้อ รุนแรงในเด็กจะเกิดกับเด็กในกลุ่มโรคเสี่ยง เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ขณะที่เด็กกลุ่ม อายุ 12 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 4 ล้านคน คิดว่า เด็กกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันรุนแรงของโรคได้ ส่วนเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เตรียมความพร้อมการฉีด วัคซีนไฟเซอร์ไว้หมดแล้ว เป็นโดสเฉพาะสำหรับเด็กเล็กกลุ่มนี้เราวางแผนปลายเดือน ม.ค.เริ่มฉีดได้ ขณะนี้มีผู้ปกครองยินยอมให้ฉีดวัคซีนในกลุ่ม เด็กอายุ 5-11 ปี มีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน ส่วนขนาดโดสที่ใช้คาดว่าจะใช้เพียง 1 ใน 3 (10 ไมโครกรัม) ของผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป
“ซูซี่” ไม่รู้ติดโควิดก่อนไปปาร์ตี้
ส่วนกรณีนักแสดงสาวชื่อดังจากละคร “บุพเพ สันนิวาส” ซูซี่-สุษิรา แน่นหนา ถูกคนในโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าติดโควิด-19 แต่ไม่กักตัวนั้น ต่อมาเมื่อดึกวันที่ 9 ม.ค. ซูซี่ได้ชี้แจงเรื่องนี้ผ่านไอจีส่วนตัวว่า ติดเชื้อโควิด-19 จริง พร้อมโต้ข่าวลือเป็นดาราติดเชื้อโควิดแต่ยังเที่ยวปาร์ตี้จนทำให้เกิดคลัสเตอร์จังหวัดเชียงใหม่ โดยเขียนจดหมายชี้แจงข้อเท็จจริง ยืนยันไม่ได้รู้ตัวว่าติดเชื้อโควิดก่อนร่วมปาร์ตี้เคาต์ดาวน์ แต่ทราบจากหลานโทร.มาแจ้งมีอาการไข้ ทำให้ตัดสินใจตรวจ ATK ผลออกมาเป็นลบ จนกระทั่งวันถัดมาเริ่มมีอาการเป็นไข้ เจ็บคอ จึงไปตรวจหาเชื้ออีกครั้ง กระทั่งได้รับการยืนยันติดเชื้อ แต่อาการไม่หนักจึงรักษาตัวแบบโฮม ไอโซเลชัน พร้อมแจ้งเพื่อนในกลุ่มทราบ
ภูเก็ตติดเชื้อนิวไฮต่อเนื่อง
ส่วนสถานการณ์ในจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงจำนวนมาก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอด วันที่ 10 ม.ค. ทีมสาธารณสุขแต่ละจังหวัดเข้าตรวจเชิงรุกต่อเนื่อง เร่งตั้งศูนย์พักคอยและเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 โดยที่ จ.ภูเก็ต พบผู้ติดเชื้อมาอีก 742 คน ทำสถิตินิวไฮอีกครั้ง แบ่งเป็นติดเชื้อภายในพื้นที่ 513 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 2 คน โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 133 คน เทสต์แอนด์โก 94 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ นพ.ชัยวัฒน์ ทองไหม สสจ.กระบี่ ระบุว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ 87 คน เป็นชาวต่างชาติ 28 คน คนไทยและแรงงานต่างด้าว 59 คน จึงให้ อบต.อ่าวนาง จัดศูนย์พักคอยชุมชนที่โรงเรียนบ้านเกาะพีพี ขณะที่ จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 217 คน พร้อมเปิดคัดกรองเพิ่มอีก 3 จุด โดยทุกแห่งเต็มไปด้วยประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้าตรวจหาเชื้อตลอดทั้งวัน

ศรีสะเกษ-บุรีรัมย์-โคราช พุ่ง
ขณะที่สถานการณ์ใน จ.กาฬสินธุ์ เริ่มดีขึ้น เมื่อพบผู้ป่วยใหม่ 29 คน จำนวนนี้เชื่อมโยงคลัสเตอร์ตลาดโรงสีที่อยู่ในระบบกักตัวใน ต.โคกสมบูรณ์ อ.กมลาไสย 4 คน ต่างจาก จ.ศรีสะเกษ ที่ผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงถึง 124 คน ส่วนใหญ่อยู่ที่ อ.กันทรลักษ์ 45 คน เช่นเดียวกับ จ.บุรีรัมย์ พบติดเชื้อรายใหม่ 171 คน กระจายใน 15 อำเภอ จากทั้งหมด 23 อำเภอ ตามด้วย จ.นครราชสีมา ติดเชื้อเพิ่มอีก 110 คน ในจำนวนนี้พบมาจาก 3 คลัสเตอร์ใหม่คือ คลัสเตอร์ชนไก่ บ้านหนองรังกา ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา คลัสเตอร์ร้าน The Blacklist ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง และคลัสเตอร์สังสรรค์ปีใหม่เครือญาติ ต.รักกาใหญ่ อ.พิมาย นอกจากนี้ พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพเป็นหญิง อายุ 74 ปี ใน อ.เมืองนครราชสีมา ที่ป่วยโรคมะเร็งมานาน
ชลบุรียอดล้นแต่ยังดริงก์เกินเวลา
ด้าน จ.ชลบุรี ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 767 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 ศพ แต่เมื่อช่วงดึกวันที่ 9 ม.ค.นายพรชัย สังข์เอียด ปลัดอำเภอบางละมุง พร้อมตำรวจเมืองพัทยา ออกตรวจสถานบริการที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าบางร้านทำทีปิดหน้าร้าน แต่ยังคงให้นักท่องเที่ยวนั่งดื่มภายในร้าน รวมถึงบริเวณตลาดทีทาวน์ ซอยบัวขาว จุดที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ยังคงมีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมากเข้ามานั่งรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันอย่างแออัด ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าตรวจก่อนเข้าใช้บริการแต่อย่างใด
ยันค้นพบเดลตาครอนไม่มั่ว
สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศวันเดียวกัน นายลีออนดิออส คอสตริคิส ศาสตราจารย์ชีววิทยา ประจำมหาวิทยาลัยไซปรัส ในประเทศไซปรัส ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ได้ตอบอีเมลของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก สหรัฐอเมริกา กรณีมีการตั้งข้อสงสัยในกลุ่มนักไวรัสวิทยาว่า เชื้อกลายพันธุ์ลูกผสมระหว่างเดลตากับโอมิครอน ที่เรียกว่า “เดลตาครอน” นั้น เป็นผลจากการปนเปื้อนระหว่างขั้นตอนตรวจสอบในห้องแล็บ นายคอสตริคิสระบุว่า สมมติฐานดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะจากการตรวจสอบพบว่ามีการติดเชื้อเดลตาครอนจริง และเดลตาครอนมีอัตราการลุกลามในร่างกายของผู้ติดเชื้อที่มีอาการ สูงกว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อีกทั้งทีมวิจัยในไซปรัส ยังขอให้ประเทศอื่นๆช่วยตรวจสอบด้วย พร้อมร่วมกันตรวจลำดับดีเอ็นเอหลายต่อหลายครั้ง และพบว่าที่อิสราเอลมีการตรวจพบลำดับดีเอ็นเอที่คล้ายคลึงกับลักษณะของเดลตาครอน และอิสราเอลเองได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้ฐานข้อมูลกลางโควิดโลก (GISAID) ไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนนายไมเคิล ฮัดจิพันเทลา รมว.สาธารณสุขไซปรัสกล่าวว่า เชื้อกลายพันธุ์เดลตาครอนไม่ใช่เรื่องน่าวิตกกังวล และรัฐบาลจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมภายในสัปดาห์นี้