สธ.โล่ง ช่วงลอยกระทงไม่พบการติดเชื้อเป็นกลุ่ม แต่กลับเจอในงานบุญ งานประเพณี และตลาดมากกว่า รอไปลุ้นช่วงปีใหม่ หลังผลโพลชี้คนกังวล “โอมิครอน” จะระบาด ขณะที่ภาพรวมรายวันยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ยืนที่เลข 4 พันคนต่อเนื่อง เสียชีวิตเพิ่ม 39 คน ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็ก รอ อย.อนุมัติก่อน ด้าน “หมอประสิทธิ์” ระบุอาจเป็นข่าวดีเมื่อการกลายพันธุ์ของโอมิครอนไม่กระทบต่อ T Cell ส่งผลถึงลดอาการป่วยรุนแรงถึงเสียชีวิตในคนฉีดวัคซีนครบโดส แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ ต้องคุมเข้มต่างชาติแห่เข้าไทย ขณะที่ “หมอยง” แนะเร่งฉีดเข็ม 3 กระตุ้นภูมิให้สูงขึ้นรับมือเชื้อโอมิครอน

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในไทยยังทรงตัว เมื่อพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเล็กน้อยแต่ยังยืนที่ 4 พันกว่าคนต่อเนื่อง และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ติดโควิดเพิ่ม 4 พันคน

ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,079 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,044 คน จากเรือนจำ 19 คน มาจากต่างประเทศ 16 คน โดยมาจากประเทศอิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ประเทศละ 2 คน สหราช อาณาจักร สวีเดน เยอรมนี ไต้หวัน สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์และอุซเบกิสถาน ประเทศละ 1 คน สหรัฐอเมริกา 3 คน และมาจากกัมพูชาผ่านช่องทางธรรมชาติ 1 คน

7 จังหวัดป่วยเกินร้อยคน

ส่วนผู้ป่วยรักษาป่วยเพิ่ม 7,302 คน อยู่ระหว่างรักษา 53,455 คน อาการหนัก 1,115 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 315 คน เสียชีวิตเพิ่ม 39 คน เป็นชาย 16 คน หญิง 23 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 27 คน มีโรคเรื้อรัง 10 คน พบผู้เสียชีวิตมากสุดใน จ.เชียงใหม่ 5 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 2,164,859 คน ยอดหายป่วยสะสม 2,090,253 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 21,151 คน 10 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด กทม. 664 คน นครศรีธรรมราช 371 คน สงขลา 226 คน สุราษฎร์ธานี 146 คน ชลบุรี 140 คน สมุทรปราการ 130 คน ปัตตานี 107 คน เชียงใหม่ 88 คน ชุมพร 82 คน และตรัง 78 คน จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มี 1 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ ส่วนการพบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก ขณะนี้มี 65 ประเทศ

...

ฉีดสะสม 97.85 ล้านโดส

สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ฉีดได้เพิ่ม 355,567 โดส ทำให้ยอดรวมวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 ถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 97,177,327 โดส แยกเป็นเข็มแรก 49,589,697 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 69.2 ของประชากร เข็มที่สอง 43,234,343 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 60.0 ของประชากร และเข็มที่สาม 4,083,287 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 5.7 ของประชากร

สั่งสกัดต่างด้าวลอบเข้าไทย

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่นายกฯสั่งกำชับไปยังหน่วยงานความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดตามแนวชายแดน เร่งสกัดการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาแรงงานเถื่อน อาชญากรรม รวมทั้งลดความเสี่ยงการนำเข้าเชื้อไวรัสโควิด ทำให้มีการจับกุมได้จำนวนมาก และนายกฯย้ำให้มีการสืบสวนทั้งกระบวนการ โดยเฉพาะหากมีข้าราชการส่วนใดเข้าไปเกี่ยวข้องต้องได้รับโทษตามกฎหมายสูงสุด นายกฯยังขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการ นายจ้าง ให้เข้มงวดในการจ้างงานแรงงานที่ถูกกฎหมาย ขณะนี้ รัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านตาม MOU ต้องได้รับการคัดกรองโควิด-19 และมีสถานที่ทำงานที่ชัดเจน แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะคลี่คลาย ผู้ติดเชื้อลดลง ผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นกว่า 98 ล้านโดส แต่นายกฯยังย้ำเสมอไทยจะต้องไม่ประมาท และต้องปิดทุกช่องเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์

เร่งฉีดเข็ม 3 กันโอมิครอน

วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับโควิด-19 การเตรียมรับมือกับโอมิครอนว่า เป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่าโอมิครอนสามารถติดต่อได้ง่าย และทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ลดลงหรือพูดง่ายๆคือ ต้องการภูมิต้านทานที่สูงขึ้น ในการต่อสู้กับโอมิครอน ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วถึงแม้ว่าติดเชื้อ จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย การเตรียมรับมือกับโอมิครอน จะต้องให้ทุกคนมีภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด ดังนั้นจะต้องให้วัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มให้กับประชากรหมู่มากให้ได้เร็วที่สุด และใครที่ได้รับ ครบ 2 เข็มมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน ควรได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น รองรับสายพันธุ์โอมิครอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

รอ อย.อนุมัติวัคซีนเด็ก

ศ.นพ.ยงระบุอีกว่า ขณะนี้และต่อไป วัคซีนในประเทศไทยมีจำนวนมากเพียงพอ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการที่ให้กับประชากรในกลุ่มที่ควรจะได้รับวัคซีนทุกคน และเพียงพอในการกระตุ้นเข็มที่ 3 ส่วนประชากรกลุ่มเด็ก กำลังรอวัคซีนให้องค์การอาหารและยาอนุมัติให้เร็วที่สุด เพื่อจะให้ได้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อคนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อหรือฉีดวัคซีน เมื่อสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาสู่ประเทศ ไทย ถึงแม้จะมีการติดเชื้อ ส่วนใหญ่จะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ แล้วในที่สุดโรคนี้ก็จะเป็นแบบโรคทางเดินหายใจที่พบได้

ลุ้นผลโอมิครอนรายที่ 4

ขณะที่ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยว่า ขณะนี้ได้รับการยืนยันแล้ว 3 คน รายแรกคือ ชายชาวอเมริกัน เดินทางมาจากประเทศสเปน รายที่ 2 และ 3 เป็นหญิงไทย เดินทางกลับมาจากประเทศไนจีเรีย ส่วนรายที่ 4 เป็นชายไทย เดินทางกลับมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อยู่ในระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวหรือโฮลจีโนมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยผลยังไม่ออก แต่มีแนวโน้มเป็นไปได้สูง

...

อัตราติดเชื้อไม่ถึงร้อยละ 1

นพ.เฉวตสรรกล่าวอีกว่า จากการติดตามดูตัวเลขผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. มียอดประมาณ 3,000 กว่าคน โดยประเทศแอฟริกาใต้มีตัวเลขสูงสุด รองลงมาคือ อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรแล้วไม่ถึงร้อยละ 1 ดังนั้น หากดูแต่ยอดตัวเลขเพียงอย่างเดียว เพิ่มขึ้นสูง ทำให้เกิดความกังวล แต่หากดูรายละเอียด เช่น สหรัฐอเมริกา หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก ก็ไม่พบผู้สัมผัสติดเชื้อสักราย ส่วนไทยยังไม่พบผู้สัมผัสติดเชื้อเช่นกัน สถานการณ์การระบาดของทั่วโลกยังเป็นสายพันธุ์เดลตา ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนจะมาแทนที่หรือไม่นั้น ต้องจับตาดูกันต่อไป ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังจับตามอง และแนะนำด้วยว่าเรากังวลกับสายพันธุ์นี้ได้ แต่ไม่ควรตกใจมากเกินไป

ยังพบติดเชื้อในงานบุญ

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่ออีกว่า สถานการณ์โควิดในประเทศไทย สัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ผู้เสียชีวิตขึ้นลง 30-50 คน คาดว่าค่าเฉลี่ยจะลงมาเรื่อยๆ เรายังพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มงานบุญ งานประเพณี สถานประกอบการ แต่ไม่ใช่กลุ่มก้อนใหญ่ ต้องคอยเตือนให้ระวังตัว ไม่ให้วางใจเกินไป แต่ภาพรวมตั้งแต่หลังลอยกระทง ไม่พบกลุ่มก้อนที่เกี่ยวเนื่องกัน ถือว่าเป็นความสำเร็จและเป็นความร่วมมือของประชาชนในการป้องกันตนเองในการออกมาร่วมงาน ส่วนกลุ่มตลาด ยังพบ เพราะเป็นสถานที่ที่มีคนหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ป่วยจากตลาด ยังพบได้อยู่ส่วนตัวเห็นว่าทำได้ขนาดนี้น่าพอใจ ขอให้ยกการ์ดสูงต่อเนื่องกันไป

...

วัคซีนครบโดสช่วยได้

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า ล่าสุดมีข้อมูลระดับหนึ่งที่นักวิจัยออกมารายงานผลการศึกษาเฉพาะในห้องวิจัยเกี่ยวกับโอมิครอน ยังไม่ใช่ข้อมูลจริงที่เกิดขึ้นในโลกพบว่า แม้ว่าจุดกลายพันธุ์กว่า 32 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนหนามไวรัส ที่อาจทำให้แพร่กระจายมากขึ้นจริง หลายประเทศในยุโรปกำลังวิเคราะห์ว่า ขณะนี้ ที่ระบาดเพิ่มขึ้นมากเกิดขึ้นจากโอมิครอนมากน้อยอย่างไร แต่กว่าร้อยละ 98 ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา รวมถึงข้อมูลยังระบุว่าผู้ที่ติดเชื้อโอมิครอน ที่รายงานทั่วโลกพบว่ามีผู้อาการรุนแรง ต้องเข้าไอซียูเพียง 1 รายในแอฟริกา และยังไม่มีการพิสูจน์ผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน จากการศึกษาจุดกลายพันธุ์ในโอมิครอน พบสิ่งที่น่าจะเป็นข่าวดีระดับหนึ่ง คือจุดที่มีโอกาสกระตุ้น T Cell ยังคงอยู่กว่าร้อยละ 80 หมาย ความว่าระบบภูมิคุ้มกันที่จะลดความรุนแรงของโรค น่าจะยังคงอยู่ในระดับหนึ่ง นั่นคือผู้ฉีดวัคซีนมาก่อนครบแล้ว น่าจะยังลดความรุนแรงของการเสียชีวิตจากโอมิครอน ได้ อย่างไรก็ตาม ในโลกความจริงยังไม่มีหลักฐาน ว่าโอมิครอนจะก่อให้เกิดความรุนแรง หากมีการเตือนจากนักวิจัย หรือแพทย์ในต่างประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลก ต่างเตือนว่าให้เฝ้าติดตาม อย่าชะล่าใจ

มาตรการดีแต่ยังมีรั่ว

เมื่อถามถึงมาตรการของไทยในการรับมือเองเพียงพอแล้วหรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า เราเจอโอมิครอนมา 2-3 สัปดาห์แล้ว ข้อมูลในโลกยังไม่พบหลักฐานว่าก่อให้เกิดความรุนแรง ต้องกลับมาดูมาตรการของไทย หากเข้มงวดจริง ดำเนินการเต็มร้อย มีการกำกับเต็มที่ แต่ยังเอาไม่อยู่ นั่นแสดงว่ามาตรการไม่พอ ต้องปรับให้มากขึ้น แต่ขณะนี้ตนมองว่ามาตรการที่ประกาศออกมาค่อนข้างดี แต่ยังมีเรื่องหลุดรั่ว เช่น ผู้ประกอบการไม่ทำตามมาตรการ หลายแห่งมีผู้ให้บริการที่ไม่ฉีดวัคซีน หากเราเข้มมาตรการและมีการประเมิน เราถึงจะบอกได้ว่ามาตรการพอหรือต้องเพิ่ม

...

ย้ำต้องคุมเข้มคนเข้าไทย

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ในกลุ่มผู้เดินทางเข้าประเทศต้องเผลอไม่ได้ เพราะโอมิครอนไปกว่า 57 ประเทศเป็นอย่างน้อย ข้อมูลคนเข้าไทยแต่ละวัน ก็มาจากประเทศที่พบแล้วทั้งนั้น ฉะนั้นต้องคิดไว้ก่อนว่าคนเหล่านี้มีโอกาสนำเชื้อเข้ามา เราต้องกักตัว ตรวจ RT-PCR ถอดเชื้อหาสายพันธุ์ ควบคู่กับการกระชับชายแดนให้ดี เพราะอย่างปีที่แล้วใกล้ปีใหม่ มีงานเยอะ มีแรงงานเข้ามาเยอะ ปีนี้เราประกาศเปิดประเทศ คาดเดาได้ว่าจะมีคนเข้ามา แต่ต้องมีมาตรการติดตามดูแลเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่หรือติดเชื้อ

คุกรับมือโควิดกลายพันธุ์

วันเดียวกัน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้เตรียมรับมือในกรณีที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอนขึ้นในประเทศ โดย ให้เรือนจำและทัณฑสถานทุกแห่ง ยกระดับการเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน โดยเฉพาะผู้ต้องขังต่างชาติเข้าใหม่ ที่มาจากพื้นที่ที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บอตสวานา มาลาวี
เอสวาตินี โมซัมบิก ซิมบับเว เลโซโท นามิเบีย อิตาลี อังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฮ่องกง อิสราเอล และออสเตรเลีย หรือประเทศอื่นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจคัดกรอง และแยกกักผู้ต้องขังกลุ่มดังกล่าวอย่างน้อย 21 วัน ออกจากผู้ต้องขังเข้าใหม่รายอื่น พร้อมตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT—PCR ก่อนออกจากห้องแยกกักโรค และตรวจหาเชื้อในกลุ่มเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกๆ 7-14 วัน หากพบติดเชื้อจะได้รับการรักษาทันที ส่วนญาติที่มาเยี่ยม โดยเฉพาะผู้มีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศ ให้แสดงผลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม รวมถึงจัดหาหน้ากากอนามัยให้กับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังทุกราย เตรียมแอลกอฮอล์เจลหรืออ่างล้างมือ เพื่อใช้ประจำจุดในเรือนจําและทัณฑสถานให้เพียงพอ

ฉีดครบโดสร้อยละ 92.5

อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวอีกว่า ให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ต้องขัง และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคน ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว จำนวน 260,900 ราย หรือร้อยละ 92.5 ของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั้งหมด 282,204 ราย และให้เรือนจำและทัณฑสถาน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย ถือปฏิบัติตามข้อสั่งการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงยุติธรรม (ศบค.ยธ.) และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมราชทัณฑ์ (ศบค.รท.) อย่างเคร่งครัด

กังวลโอมิครอนบุกช่วงปีใหม่

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจเรื่อง ความเสี่ยง และสิ่งท้าทายคนไทย ช่วงต้นปีใหม่ 2565 ศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,128 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-10 ธ.ค.ที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.0 ระบุความเป็นไปได้ระดับมากถึงมากที่สุดที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอนในช่วงต้นปีใหม่ รองลงมาคือร้อยละ 60.7 ระบุความเป็นไปได้ระดับมากถึงมากที่สุดที่เศรษฐกิจจะตกต่ำ ร้อยละ 59.8 ระบุความเป็นไปได้ระดับมากถึงมากที่สุดที่จะมีการถอนทุนคืนของนักการเมือง ร้อยละ 53.3 ระบุความเป็นไปได้ระดับมากถึงมากที่สุด ที่จะมีการชุมนุมประท้วงวุ่นวายทางการเมือง และร้อยละ 52.4 ระบุ ความเป็นไปได้ระดับมากถึงมากที่สุด ที่จะเกิดความไม่ปลอดภัยในหมู่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ขณะที่ข้อเสนอแนะความตื่นตัวรับมือของประชาชน ร้อยละ 83.5 ระบุทุกภาคส่วนต้องร่วมมือป้องกันปัญหายกการ์ดสูง รับผิดชอบตัวเองและสังคมมากขึ้น ภาครัฐ ต้องเข้มงวดกวดขันจริงจังต่อเนื่อง และมีมาตรการรับมือที่ทำความเข้าใจร่วมกัน

บึงกาฬตายเพิ่มอีก 2 ศพ

สำหรับการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่ร้านอาหารที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถาน บันเทิงตลาดคับคั่ง อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ที่ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อสะสม 109 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 370 คน กลุ่มเสี่ยงต่ำกว่า 500 คน กระจายครอบคลุมเกือบทุกอำเภอของจังหวัดบึงกาฬ ทำให้นายสนิท ขาวสอาด ผวจ.บึงกาฬ เรียกประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬเป็นการด่วน มีมติให้ฝ่ายปกครองร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ กอ.รมน.และสาธารณสุข ตรวจตราสถานประกอบการสถานบันเทิง ไม่ให้มีการฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการโรค ติดต่อจังหวัดภายใน 3 วัน หากพบว่ามีการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เช่น มีการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้าน ให้สั่งปิดทันที ไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการประเมินจากทางอำเภอและจังหวัด ขณะที่ภาพรวมของจังหวัด ยังพบคลัสเตอร์ใหม่ที่ ต.บุ่งคล้า อ.บุ่งคล้า 11 คน เป็นผู้ติดเชื้อที่เกิดจากคนในหมู่บ้านและครอบครัวเดียวกันทั้งหมด ผู้ป่วยโควิดที่เสียชีวิต 2 คน คนแรกเป็นหญิง อายุ 59 ปี ติดเชื้อจากตึกผู้ป่วย รพ.พรเจริญ เป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวกำลังรักษาอยู่ และชาย อายุ 97 ปี ติดเชื้อจากคนในครอบครัวคลัสเตอร์ ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งกู้ภัยร่วมใจบึงกาฬนำร่างทั้ง 2 ราย ไปประกอบพิธีทาง ศาสนา ที่วัดศรีสามัคคีธรรม ต.ศรีวิไล อ.ศรีวิไล

สิงคโปร์-อินโดฯเตรียมฉีดเด็ก

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีรายงานว่าสิงคโปร์อนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์เป็นกรณีฉุกเฉินสำหรับกลุ่มผู้เยาว์อายุ 5-11 ขวบ นับเป็นวัคซีนชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกลุ่มอายุนี้ โดยวางแผนเริ่มฉีดก่อนสิ้นปี โดยใช้ 2 เข็ม เข็มละ 10 ไมโครกรัม หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ใช้ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 21 วัน ส่วนกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 18-29 ปี ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วอย่างน้อย 5 เดือนจะสามารถรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นได้ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. ขณะที่อินโดนีเซียก็เตรียมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มเด็กอายุ 6-11 ขวบ ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขว่าสามารถเริ่มได้ หากรัฐบาลท้องถิ่นบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนเข็มแรกในประชาชนทั่วไปอย่างน้อยร้อยละ 70 และร้อยละ 60 ในกลุ่มผู้สูงอายุ หลังจากอนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวคของจีนในกรณีฉุกเฉินสำหรับเด็กอายุ 6-11 ขวบ ตั้งแต่เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา

ไต้หวันเจอโอมิครอนรายแรก

ที่อังกฤษมีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 24 ชม. เพิ่มถึง 58,194 คน สูงสุดนับแต่วันที่ 9 ม.ค. ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เรียกร้องให้ประชาชนออกมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างพร้อมเพรียงโดยชี้ว่า จากผลการศึกษาพบว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนแบบมีอาการได้ราวร้อยละ 70-75 หลังจากที่ไม่กี่วันที่ผ่านมาหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศเตือนว่าสายพันธุ์โอมิครอนจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลตาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ โดยอ้างอิงจากตัวเลขแนวโน้มการติดเชื้อในปัจจุบันที่คาดการณ์ว่าอาจมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนในอังกฤษเกินหนึ่งล้านคนภายในสิ้นเดือน ขณะที่ไต้หวันยืนยันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เป็นรายแรก ในหญิงชาวไต้หวัน วัย 30 ปี ที่เดินทางกลับมาจากเอสวาตินีในทวีปแอฟริกา เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.
หญิงคนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการกักตัวและไม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด ส่วนผู้โดยสารที่นั่งใกล้กันอีก 10 คนมีผลตรวจเป็นลบ