ประกาศใช้พร้อมกันทั่วประ เทศ “ระบบประเมินวิทยฐานะใหม่PA” พลิกโฉมปฏิรูปวิชาชีพครูสู่คุณภาพการศึกษา “พัฒนาเด็กไทยดีกว่าเดิม” เปลี่ยนแปลงปัจจุบันให้ทันโลกอนาคต

หลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่นี้ “ครู” ต้องพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนดด้วยการทำบันทึกข้อตกลงกับ ผอ.โรงเรียนพิจารณาความเห็นชอบแล้วมี “คณะกรรมการ 3 คน” ประเมินการสอนในห้องเรียนจริงต้องไม่ต่ำกว่า 70% นำผลข้อมูลแต่ละรอบปีเข้าระบบครบกำหนดเลื่อนวิทยฐานะ 4 ปี

แล้วเสนอผลงานผ่านคลิปวิดีโอเข้าระบบ DPA ส่งมายัง “คณะกรรมการกลาง” พิจารณาผ่านออนไลน์ที่ต้องมีผลลัพธ์จาก “ผู้เรียน” เป็นตัววัด

ผลสัมฤทธิ์ต่อ “การรับผลตอบแทน” ที่มีความเหมาะสมเป็นธรรม ส่วนใครไม่ทำงานคิด “เลื่อนวิทยฐานะ” ทำเฉพาะผลงานวิชาการแบบอดีตคงไม่ได้อีก

แก้ข้อครหา “ครูทิ้งห้องเรียนทำเอกสาร หรือตัดปัญหาจ้างทำผลงาน” ส่งผู้บริหารรับเงินเดือนสูงขึ้น ดร.วิสุทธิ์ เวียงสมุทร ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี มองว่า ตอนนี้ “ระบบการศึกษาไทย” ไปไม่ทันโลกการศึกษาสมัยใหม่ เพราะด้วยปัจจัย“ครูผู้สอนมีแนวคิดแบบเดิม” เน้นการสอนในห้องเรียน และหลักสูตรในการใช้พัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยก็ยังเป็นแบบเก่าอีก

...

แม้ว่า “ภาครัฐ” พยายามปรับทักษะเปลี่ยนหลักสูตรสู่ “โลกการศึกษาใหม่” ท่ามกลางปัญหา “ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน” ที่มีอยู่มากมายนี้ เช่น โรงเรียนในเมืองมีความพร้อมระบบสนับสนุนค่อนข้างดีกว่าโรงเรียนชนบทไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีไฟฟ้า และครูก็มีศักยภาพการสอนผ่านออนไลน์ได้น้อยด้วย

เรื่องนี้ “ปรับการศึกษาให้ทันสมัย” ประเด็นเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญแต่ปัญหาอยู่ที่ “เด็กบางคนคิดไม่เป็นไม่รักการอ่าน” เพราะขาดการเอาใจใส่จนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มากมาย เช่นนี้มีอุปกรณ์เทคโนโลยีแล้วก็ไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาการเรียนรู้ได้ เพราะสุดท้ายเด็กไม่มีทักษะรักการอ่านเช่นเดิม

หนำซ้ำ “รัฐบาล” กลับไม่เข้าใจจุดนี้พยายามแก้ด้วยการจัดสรรระบบไอทีใหม่ให้โรงเรียน ตั้งแต่แจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1 ให้เด็กฝึกเขียน แจกคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนแต่ว่า “ครูยังยึดมั่นการสอนแบบเดิม” กลายเป็น “ความไม่พร้อมตัวบุคคล” ส่งผลให้ “คอมฯ แท็บเล็ตเป็นขยะในโรงเรียน” แล้วคุณภาพการศึกษาก็ไม่ได้ดีขึ้น...ดังนั้นหัวใจ “ในการก้าวสู่โลกการศึกษาใหม่” ครูต้องเปลี่ยนบทบาทการสอนให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกคอยชี้แนะ หรือเป็นโค้ช ในการสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้เรียนอยากรู้ อยากเรียน และรักการอ่าน

หลักสำคัญเริ่มจาก “ปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการประเมินวิทยฐานะ” ต้องมีเป้าหมายให้ครูมีจิตวิญญาณยึดเด็กนักเรียนเป็นที่ตั้งสำคัญ เพราะยังมีปัญหาไม่สอดรับต่อการพัฒนาผู้เรียนโดยตรงอีกมาก ทำให้ได้ยินคนพูดกันเสมอว่า “เงินเดือนครูสูงขึ้นตามตำแหน่งที่ขอไปแต่คุณภาพนักเรียนยังถดถอย” เหมือนเดิม

จริงๆแล้ว “วิทยฐานะ” เป็นค่าตอบแทนเฉพาะ “ครูตั้งใจทำงาน” มีผลงานดีเด่นต่อนักเรียนที่มีความรู้ก้าวหน้าสร้างชาติแล้วปรับแก้ไขกันเป็น “ประเมินจากตัวเขียนรายงาน” จนไม่เกี่ยวกับเด็กด้วยซ้ำ

ทำให้ “ครูบางคน” ไม่ใส่ใจเด็กเท่าที่ควร มุ่งสนใจทำงานวิทยานิพนธ์เป็นสำคัญ จนมีข่าวเสมอว่า “ครูบางคนทำวิจัยตามกำหนดไม่ได้มักไปจ้างทำให้กัน” เมื่อผลงานผ่านได้ค่าตอบแทนตามตำแหน่งที่มีการขอไปตั้งแต่ 3,500-12,000 บาทต่อเดือนแล้ว “ปล่อยเกียร์” ทำให้เด็กอ่านไม่ออกก็ปล่อยไม่สนใจอีก

แม้ว่า “เด็กอ่านไม่ออก” ก็ไม่กระทบต่อเงินเดือนที่ขึ้นอยู่ทุกปี แล้วยังได้รับค่าตำแหน่งเพิ่มอีกเสมือนเป็น “เสือนอนกินไปจนเกษียณ” ด้วยซ้ำ ในเรื่องนี้ “หน่วยงานภาครัฐ” ต่างมีความพยายามปรับปรุงรูปแบบวิทยฐานะมาหลายต่อหลายครั้ง แต่สุดท้ายยังไม่ได้ผลยังคงมุ่งการประเมินวิทยฐานะด้วยเอกสารเช่นเดิม

...

กระทั่งล่าสุดมี “การปรับหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่ PA” ด้วยการให้ครูจัดทำคลิปวิดีโอการเรียนการสอนในห้อง อันเป็นหลักเกณฑ์ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาประเมินเลื่อนระดับวิทยฐานะผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดภาระจัดทำเอกสาร และการจัดทำผลงานทางวิชาการนี้

กลายเป็นข้อกังวลเพราะยังมองเห็น “ช่องโหว่ให้มิจฉาชีพรับจ้างทำงานวิทยฐานะ” ที่ไม่อาจป้องกันการปลอมเอกสารได้แถมอาจกลับมาทำนองเดิม “วิทยฐานะสูงขึ้นคุณภาพผู้เรียนสวนทางเงินเดือนครู” ทั้งที่การปรับประเมินวิทยฐานะครั้งนี้ เพื่อให้ครูทุ่มเทเสียสละสอนเด็กแท้จริงแล้วได้ค่าตอบแทนตามสมควร

“ถ้ายังมีรูปแบบการประเมินอย่างอื่นนอกเหนือจากผลชี้วัดของตัวผู้เรียน ย่อมทำให้ครูหันไปมุ่งทำตามหลักเกณฑ์ประเมินแบบใหม่ “โอกาสเด็กถูกทอดทิ้งก็มีสูง” แล้วก็ไม่เชื่อว่าการทำคลิปวิดีโอการสอนในห้องเรียนส่งคณะกรรมการประเมินนี้จะสามารถป้องกันมิให้กลุ่มมิจฉาชีพทำการปลอมได้” ดร.วิสุทธิ์ว่า

แม้ว่าการประเมินวิทยฐานะ PA ปรับปรุงไม่เน้นทำรายงานเอกสารแล้ว แต่การทำคลิปวิดีโอส่งประเมินก็ไม่ชัดเจน มีโอกาสสร้างภาพจัดฉากถ่ายทำแสดงละครได้เสมอ หนีไม่พ้นนักเรียนถูกทอดทิ้งเช่นเดิม

...

ตอกย้ำการแก้ปัญหา “ควรเปลี่ยนวิธีการประเมินวิทยฐานะให้โฟกัสตัวนักเรียนเป็นสำคัญ” อ้างอิงพัฒนาการผู้เรียนเป็นรายบุคคล 100%ด้วยการจัดทำแฟ้มบันทึกพัฒนาการอันเป็นเครื่องมือชี้วัดความก้าวหน้าการเรียนรู้ในห้องตามสภาพได้แท้จริงว่า “ผ่านหรือไม่ผ่าน” แล้วครูก็จะหันมาทุ่มเทสร้างผู้เรียนเป็นรายคนทันที แต่สิ่งอยากเห็นจริงๆ “วิทยฐานะใช้หลักเกณฑ์คล้ายโมเดลมอบรางวัลแมกไซไซ” ในการให้ ผอ.เขตการศึกษา หรือ ผอ.โรงเรียน “เสนอชื่อครูผู้ทำงานดีเด่น” ที่ไม่ต้องส่งเอกสารแล้ว “คณะกรรมการ” ทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาความเหมะสม และลงมาตรวจประเมินแบบไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าในการเตรียมการต้อนรับ

สิ่งนี้จะทำให้ครูไม่อาจคาดเดาได้ว่า “คณะกรรมการ” จะเข้ามาประเมินวันเวลาใดแล้วก็จะสนใจเด็กอยู่ตลอดเวลาได้ มิเช่นนั้นจะกลายเป็น “คันเข่าเกาที่หัว” ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด “ระบบประเมินวิทยฐานะใหม่PA” ก็จะยังไม่สามารถเปลี่ยนให้ครูผู้สอนหันมายึดผู้เรียนอันเป็นจุดสำคัญได้เช่นเดิม

อีกปัญหา “อาชีพครูไทย” มีความแตกต่างจากในต่างประเทศเช่นจีน สิงคโปร์ ออสเตรีย สหรัฐอเมริกา ที่มีระบบการจ้างครูในระยะสั้น ถ้าผลงานไม่เป็นไปตามกำหนดมักต้องถูกเลิกจ้างทันที ทำให้ “ครูตื่นตัวตลอด” ในส่วน “ประเทศไทย” บรรจุเข้ารับตำแหน่งครูก็สามารถอยู่ไปไม่มีผลงานได้เรื่อยๆตลอดชีวิต

ลือกันขนาดว่า “ผอ.สถาบันการศึกษาหลายแห่ง” มักไม่เด็ดขาดอะลุ่มอล่วยต่อการประเมินขั้นเงินเดือนกันอยู่เสมอ อย่างเช่น โรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี “ครู” ไม่ค่อยสนใจสอนเด็กเลย แต่เงินเดือนกลับขึ้นปีละ 1,500 บาท สาเหตุเพราะ ผอ.โรงเรียนไม่กล้าทำลายคนไม่ทำงานเหล่านี้

...

เหตุนี้ทำให้ไม่อาจพัฒนาศักยภาพความก้าวหน้าของครูได้ โดยเฉพาะ “การประเมินวิทยฐานะ” ที่ไม่ดูผลงานจาก “ความรู้ของนักเรียนที่ได้รับ” กลายเป็นกระทบต่อเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่เป็นจำเป็นต้องพัฒนาจิตวิญญาณด้วย “ค่าของครูอยู่ที่ผลของงานในห้องเรียน” เพื่อให้เป็นไปตามแบบต้องการ

ย้ำว่าถ้าต้อง “การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้สูงขึ้น” ภาครัฐต้องเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนบทบาทการบริหารจัดการในระดับนโยบายก่อนเป็นอันดับแรกแล้วต้องพัฒนาครูในเขตพื้นที่ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนไปพร้อมกัน ยึดทลายกระบวนการเก่าที่เคยทำมาให้หมดนำกระบวนการใหม่มาแทน

ขอฝากไว้ว่า ภายหลังการระบาดโควิด-19 “ระบบการศึกษา”ควรเน้นทำหลักสูตร และแนวคิดให้อยู่ในระบบออนไลน์ ทั้งส่งเสริมการเรียนระบบออนไลน์โดยติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้มีทุกโรงเรียนแล้ว เพื่อพร้อมรองรับสถานการณ์ในวันข้างหน้าทุกรูปแบบให้สามารถเรียนต่อได้ตลอดเวลา

สุดท้ายทางออก “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น” ควรเริ่มต้นเปลี่ยน “ครูให้โฟกัสมายังตัวเด็ก” ด้วยการประเมินวิทยฐานะตามสภาพจริงแล้วครูก็จะหันมาสร้างผู้เรียนทุ่มเทการสอนจริงๆ...