น่าสนใจแนวคิด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในเรื่องงานสอบสวนของตำรวจ ในการมอบนโยบายบริหารราชการ ประจำปีงบประมาณ 2565 บอกว่า พนักงานสอบสวนต้องเป็นมากกว่าผู้รักษากฎหมาย ต้องเป็นมากกว่าการตีความโดยเคร่งครัดทางกฎหมาย เวลาชาวบ้านเดือดร้อนมาแจ้งความ บางเรื่องแม้ตามกฎหมาย ตำรวจไม่รับคดีก็ได้ แต่ถ้าเราไปตีความแบบนั้น แม้จะถูกต้องตามกฎหมาย

แต่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม

ผบ.ตร.มองว่าพนักงานสอบสวนต้องให้คำแนะนำทางกฎหมาย หาทางออกให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรม มากกว่าการบอกปัดไม่รับคดี หนักกว่านั้นพนักงานสอบสวนบางคนบ่ายเบี่ยงตีความในทางที่ไม่รับคดี

เหมือนกับคดีข่มขืนที่เกิดภาคอีสาน พนักงานสอบสวนปล่อยคดีเนิ่นนานกว่า 4-5 เดือน ไม่ทำอะไร เพราะไปตีความแบบไม่อยากทำ ไม่อยากรับคดีตั้งแต่แรก ทั้งที่ผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อน

ผบ.ตร.ฝากให้ ผบช.แต่ละหน่วยไปอบรมทำความเข้าใจกับพนักงานสอบสวนในการทำหน้าที่มากกว่าคนอ่านกฎหมาย คนตีความกฎหมาย ต้องให้ความเป็นธรรม ช่วยเหลือผู้เสียหาย บำบัดทุกข์ชาวบ้านคนที่ได้รับความเดือดร้อนมาแจ้งความดำเนินคดี ให้ ผบช.ดูแล ช่วยเหลือพนักงานสอบสวน ไม่ปล่อยให้ทำงานหนักเกินไป

จะได้ดูแลประชาชนได้เต็มที่

หลังจากที่ได้ฟังสิ่งที่ ผบ.ตร.ถ่ายทอดออกมาเป็นนโยบายให้ ผบช. ยอมรับว่า ผบ.ตร.มีวิสัยทัศน์ คิดเป็นระบบ ผบ.ตร.เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนขึ้นมาโรงพัก ชาวบ้านที่ไปแจ้งความ

เขาไม่ต้องการการตีความแบบเคร่งครัด แต่ไม่ช่วยอะไรเลย บางครั้ง กลับถูกด่า ถูกไล่ลงจากโรงพัก

ปัดให้ไปแจ้งความที่อื่นบ้าง เป็นเรื่องทางแพ่งบ้าง ชาวบ้านอยากได้พนักงานสอบสวนที่เข้าใจ รับฟัง ช่วยแก้ปัญหา ให้คำแนะนำ บางคดีแม้เป็นคดีทางแพ่ง หากร้อยเวรโทรศัพท์ช่วยพูดคุยไกล่เกลี่ยให้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ชาวบ้านก็ดีใจแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านต้องการจากพนักงานสอบสวนคือ

...

สิ่งที่ ผบ.ตร.ให้แนวคิดไว้ พนักงานสอบสวนเป็นมากกว่านักกฎหมาย ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ชาวบ้าน

หากพนักงานสอบสวนทั่วประเทศมีแนวคิดแบบนี้เชื่อว่าภาพลักษณ์ตำรวจดีขึ้น

ชาวบ้านจะรักและศรัทธาองค์กรตำรวจมากขึ้น

แนวคิด ผบ.ตร.เกี่ยวกับ “งานสอบสวน” เป็นเรื่องที่ดี และโดนใจพี่น้องประชาชน

แต่จะเป็นผลหรือไม่อยู่ที่ ผบช. ผู้นำหน่วยเข้าใจแก่นแท้งานสอบสวนอย่างที่ ผบ.ตร.เข้าใจหรือไม่

ที่น่าห่วงที่สุด “ผบช.” ทำกันเป็นหรือไม่.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th