เตรียมรับมือพายุ 2 ลูก เข้าไทยกระทบอีสานตอนเหนือ จ.ขอนแก่น ตั้งแนวป้องกันน้ำชีทะลักเข้าพื้นที่เศรษฐกิจ มวลน้ำทะลักไหลเข้าร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ แจ้งชาวบ้านริมน้ำยกของขึ้นที่สูง ส่วนอุทยานโกสัมพีอ่วม ทะลักเข้าท่วมมิดหัว ที่บึงบอระเพ็ด เร่งระบายน้ำ อ่างทองท่วมหนัก 3 อำเภอ อยุธยาเสริมแนวกั้นเกาะเมือง ส่วนเจ้าหน้าที่เจรจากับชาวบ้าน เปิดทางน้ำลงทุ่งนาสำเร็จ ขณะที่ กอนช.แจ้งน้ำทะเล หนุน 7-10 ต.ค. เตือนกรุงเทพฯ นนท์ และปทุมธานี เกิดน้ำทะลัก

วิกฤติน้ำท่วมแม่น้ำชีเริ่มไหลเข้า 4 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำเตรียมอพยพ ส่วนโคราช ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง ชาวบ้านเดือดร้อนขาดน้ำดื่มและขยะส่งกลิ่นเหม็น ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาระดับน้ำท่วมสูงต่อเนื่อง ชาวบ้านริมน้ำต้องอพยพมาอยู่บนถนน ระดับน้ำมิดหลังคา อยุธยาน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมตัวเมือง กรมอุตุแจ้งเตรียมรับมรสุมลูกใหม่

โคราชคุมน้ำได้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัด ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่ถนนมิตรภาพ ซอย 5 เทศบาลนครนครราชสีมา อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง นายวิเชียรเปิดเผยว่า มวลน้ำขณะนี้ไหลไปยัง อ.ชุมพวง กระจายออกไปตามท้องทุ่งนาเป็นบริเวณกว้าง น้ำจะท่วมในที่ลุ่มต่ำเป็นส่วนใหญ่ น่าจะเบากว่า อ.ด่านขุนทด อ.เมือง อ.โนนสูง อ.โนนไทย และ อ.พิมายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนที่มีประกาศแจ้งเตือนอ่างห้วยบ้านยาง ต.สุรนารี และ ต.บ้านใหม่ อ.เมืองนครราชสีมา มีระดับน้ำขึ้นสูงเต็มความจุ ชาวบ้านรีบเก็บของขึ้นที่สูง หากเกิดฝนตกลงมาอีก ขณะเดียวกันมีหลายพื้นที่น้ำลดลงแล้วอยู่ระหว่างฟื้นฟู เช่น อ.ด่านขุนทด ชุมชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยรวมสามารถคุมสถานการณ์น้ำท่วมไว้ได้แล้ว

...

แพทย์เตือนโรคมากับน้ำ

ด้าน นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โรคภัย ไข้เจ็บต่างๆที่มากับน้ำ ประชาชนป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้าเป็นจำนวนมาก ตามมาด้วยโรคทางเดินอาหาร เนื่องจากภาชนะอุปกรณ์ประกอบอาหารอาจจะถูกน้ำท่วมทำให้ไม่สะอาดเพียงพอ ฉะนั้นขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและอาหารร้อนๆ นอกจากนี้ยังมีโรคท้องร่วงรุนแรง โรคไทฟอยด์ โรคบิด โรคผดผื่น คัน ลมพิษ แมลงสัตว์กัดต่อย ส่วนช่วงหลังน้ำลดจะมีโรคที่มาบ่อยๆ คือ โรคฉี่หนู หรือไข้ฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเร่งให้ความรู้กับชาวบ้านและระมัดระวังร่วมกัน ตั้งหน่วยให้การรักษาพยาบาลตามจุดต่างๆ ทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ที่มีน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้

ถนนเชื่อมสะพานขาด

สำรวจสถานการณ์ริมแม่น้ำชีในพื้นที่ ต. ท่าพระ อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ระยะทาง 15 กม.พบว่า น้ำชีเอ่อท่วมทุ่งนาและบ้านเรือนประชาชนที่อยู่สองริมฝั่งแม่น้ำ ระดับน้ำสูงน้ำท่วมมิดหลังคา เจ้าหน้าที่ อบต.และฝ่ายปกครอง และตำรวจ นำเรือไปช่วยประชาชนขนย้ายสิ่งของ ส่วนที่ถนนสายหนองบัวดี-พระยืน มีน้ำท่วมสูงถึงหัวเข่า เจ้าหน้าที่ทำป้ายติดประกาศห้ามประชาชนสัญจรไปมาบนถนนสายดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบว่าถนนที่เชื่อมกับสะพานบนเส้นทางจากบ้านหนองบัวดีหมีจะไปบ้านหนองโพธิ์ หมู่ 8 ต.หนองแวง อ.พระยืน ถูกน้ำท่วมสูงมิดหัว น้ำกัดเซาะถนนที่เชื่อมกับสะพานขาดกว้าง 10 เมตร เสาไฟฟ้าข้างทางหักโค่น เจ้าหน้าที่สั่งปิดการจราจร

เนินดักเกิดน้ำเน่าเหม็น

ขณะที่นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า มวลน้ำจากแม่น้ำพองและแม่น้ำชีจะไหลลงสู่ จ.มหาสารคาม ตามเส้นทางน้ำประมาณ 7-14 วัน ขณะที่น้ำค้างทุ่งที่เกิดจากลักษณะภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ เมื่อเกิดน้ำท่วมสูงและมีเนินดัก ทำให้น้ำไม่สามารถไหลออกไปได้เกิดการเน่าเสียของหญ้า และทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ขณะนี้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจพื้นที่ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำพองจะมีน้ำมาหนุนในปริมาณที่ไม่มาก ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ 87 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ถือเป็นทิศทางที่ดี เนื่องจากน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์น้อยลง ที่ผ่านมามีการเปิด ให้ยืดหยุ่น คือสามารถระบายน้ำตั้งแต่ 15-35 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ขณะนี้ระบายน้ำอยู่ที่ 25 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน มีเงื่อนไขว่าหากมีน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณน้อยจะลดการระบายน้ำลง ปรับลดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.แวงน้อย และ อ.แวงใหญ่ อยู่ในลักษณะที่บางจุดมีน้ำลดลงและบางจุดยังคงที่

ป้องไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ

นายสมศักดิ์เปิดเผยอีกว่า สถานการณ์น้ำท่วม อ.พระยืน มีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มในระดับที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่เลี้ยงสุกรได้รับความเดือดร้อน ส่งผลกระทบกับสุกรจำนวนมากกว่า 4,000 ตัว จังหวัดปรับแผนให้พื้นที่ที่น้ำลดแล้วทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดขอนแก่น ทั้ง อ.ภูเวียง อ.สีชมพู อ.ชุมแพ หรือ อ.ภูผาม่าน ถอนกำลังมาช่วยทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ คาดการณ์ว่าผู้เลี้ยงสุกรที่นำสุกรไปอยู่บนที่สูงน่าจะสามารถเคลื่อนย้ายกลับมาได้แล้วบางส่วน สิ่งที่จังหวัดพยายามที่จะควบคุมคือ ปริมาณน้ำที่เอ่อล้นมาจากลำน้ำชี เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดจะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินร่วมกันว่ามีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปในพื้นที่เศรษฐกิจจากจุดใดบ้าง

ร่วมกตัญญูช่วยขอนแก่น

สายวันที่ 5 ต.ค. ไทด์-เอกพัน บรรลือฤทธิ์ พร้อมด้วย ต้น-อธิวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และฝอยทอง เชิญยิ้ม นำกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูพร้อมเรือท้องแบนเข้าไปยังพื้นที่ ต.หนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ถูกน้ำท่วมสูงมิดหัว ช่วยอพยพชาวบ้านและสิ่งของเครื่องใช้ไปยังศูนย์พักพิง วัดโพธาราม บ้านหนองโพธิ์ ต.หนองแวง พร้อมทั้งจัดตั้งโรงครัวสนามเพื่อปรุงอาหารแจกจ่ายให้กับชาวบ้านด้วย

...

ท่วมอุทยานโกสัมพี

กระแสแม่น้ำชีเอ่อล้นท่วมวนอุทยานโกสัมพี อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม น้ำเข้าท่วมภายในอุทยานโกสัมพีกว่า 70 ไร่ จาก 125 ไร่ จุดลึกที่สุดกว่า 3 เมตร ฝูงลิงแสมอาศัยอยู่กว่า 800 ตัว ต้องอพยพขึ้นตามต้นไม้และถนน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตวนอุทยานฯ ไม่สามารถหาอาหารตามธรรมชาติได้ ต้องอพยพมาอยู่ด้านหน้าวนอุทยานและตามต้นไม้ใหญ่ ตามกำแพงวัด และโรงเรียน ส่วนที่เขื่อนมหาสารคามน้ำเริ่มสูงกว่าประมาณกักเก็บแล้วกว่า 2.36 เมตร

ทะลักเข้าอำเภอ

ด้านนายอนันต์ศักดิ์ แย้มชื่น ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงชีกลาง กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.มหาสารคาม เขื่อนมหาสารคามระดับเก็บกัก +146.80 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือ รทก.) ระดับน้ำหน้าเขื่อน +149.16 ม.รทก. สูงกว่าระดับกักเก็บแล้ว 2.36 เมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 858.00 ลบ.ม.ต่อวินาที แม่น้ำชีไหลเอ่อล้นคาดว่าน้ำจะท่วมพื้นที่บ้านโคกกลาง ต.เขวาไร่ อ.โกสุมพิสัย-บ้านดอนจำปา ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย ระดับน้ำสูงต่อเนื่อง พื้นที่ริมน้ำเฝ้าระวัง

...

ร้อยเอ็ดเตรียมรับน้ำชี

นายภูสิต สมจิตต์ ผวจ.ร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า มอบ นโยบายให้นายอำเภอ 8 อำเภอพื้นที่เสี่ยง ที่มีลำน้ำชี ไหลผ่านประกอบด้วย อ.จังหาร อ.เชียงขวัญ อ.ธวัชบุรี อ.โพธิ์ชัย อ.เสลภูมิ อ.ทุ่งเขาหลวง อ.พนมไพร และ อ.อาจสามารถ เฝ้าระวังเตรียมความพร้อมรับมือมวลน้ำที่ไหลผ่านลำช้ำชีมาจาก จ.ชัยภูมิ ปัจจุบันถึงพื้นที่ จ.ขอนแก่นแล้ว เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานจะ ต้องสนับสนุนช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะพื้นที่ 8 อำเภอเสี่ยง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จะต้อง เตรียมพร้อมรับมือ ทั้งสรรพกำลังต่างๆ และต้องติดต่อ สื่อสารกันตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชน ในพื้นที่เสี่ยงเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางผู้ป่วยติดเตียงและคนแก่ ออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย และจัดเตรียมศูนย์พักพิง ห้องน้ำ และอาหาร ประสาน อบต.ในท้องที่ให้กระตือรือร้นในการ ช่วยเหลือประชาชน เตรียมการเรื่องถุงยังชีพ เตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนให้ดี อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวร้อยเอ็ดให้ผ่านพ้น สถานการณ์นี้ไปด้วยกัน

ปักธงเหลืองเฝ้าระวัง

สถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังจากมวลน้ำจาก จ.ชัยภูมิไหลผ่าน จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม เข้าพื้นที่ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ แล้ว พบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตรวจสอบระดับน้ำ ที่บริเวณเขื่อนระบายน้ำวังยางพบว่า ระดับน้ำอยู่ที่ 138 เมตร รทก. ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 40-50 ซม. เฉลี่ย ชั่วโมงละ 2 ซม. อีกประมาณ 50 ชม. น้ำจะล้นตลิ่ง ในที่ลุ่ม ขณะนี้ปักธงเหลืองเพื่อเฝ้าระวังแล้ว และทำการ แขวนประตูระบายน้ำทั้งหมดเพื่อให้น้ำไหลผ่านให้เร็วที่สุด ส่วนการป้องกันขณะนี้แจ้งให้ผู้นำส่วน ท้องถิ่นประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ติดแม่น้ำลำน้ำชี เฝ้าระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมวลน้ำยังคงไหลเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงเตรียมพร้อมนำกระสอบทรายไปอุดบริเวณประตูระบายน้ำและจุดที่เสี่ยง เพื่อป้องกันน้ำทะลักเข้าพื้นที่บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน

...

น้ำเอ่อล้นพยุหะคีรี

ที่ จ.นครสวรรค์ เทศบาลตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหัก อ.พยุหะคีรี เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะสูงขึ้นหลังจากที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ลดการ ระบายน้ำลง เพื่อไม่ให้บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายน้ำได้รับผลกระทบ ถึงแม้แม่น้ำปิงจะลดระดับลงเล็กน้อย แม่น้ำน่านและน้ำเจ้าพระยายังคงมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีน้ำหนุนจากเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้น้ำท่วมสูงขึ้นและขยายวงกว้าง ที่สะพานกลับรถลอดใต้สะพานสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ในพื้นที่ อ.พยุหะคีรี น้ำท่วมสูงรถไม่ สามารถสัญจรผ่านได้ รวมถึงถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ อ.พยุหะคีรี มีน้ำท่วมขังในหลายจุด ส่วนที่ อ.โกรกพระ ระดับน้ำท่วมสูงมิดหลังคา ชาวบ้าน หนีไปอยู่ที่ชั้น 2

บึงบอระเพ็ดเร่งระบาย

นายวิวัฒน์ ปรารมภ์ ประมงจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ระดับน้ำในบึงบอระเพ็ดมีน้ำเต็มพื้นที่ล่าสุด บึงบอระเพ็ดมีระดับน้ำอยู่ที่ 25.55 เมตร รทก. คิดเป็นปริมาตรน้ำประมาณ 338.4 ล้าน ลบ.ม. (188% จากความจุ 180 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นพื้นที่น้ำประมาณ 187,365.15 ไร่ และระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีน้ำจากอำเภอรอบนอกทั้ง อ.ไพศาลี อ.หนองบัวและ อ.ท่าตะโก ไหลลงสู่ บึงบอระเพ็ดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ปิดประตูน้ำคลองบึงบอระเพ็ด เพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำ น่านไหลเข้าบึงแล้ว พร้อมกับปล่อยน้ำบริเวณฝายกักเก็บให้น้ำออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อบรรเทาความ เดือดร้อนกับชาวบ้านรอบบึงบอระเพ็ดอีกเป็นจำนวนมาก

อ่างทองอ่วม 3 อำเภอ

ส่วนพื้นที่หมู่ 3 ต.จระเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง มวลน้ำยังคงไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนอย่างต่อเนื่อง และขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ใกล้เคียงท่วมพื้นที่การเกษตร ระดับน้ำสูงมิดหลังคา ชาวบ้านอยู่ในสภาพติดเกาะ จ.อ่างทาง ได้รับผลกระทบ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ป่าโมก อ.วิเศษชัยชาญ อ.ไชโย อ.เมือง และ อ.สามโก้

ทัพทันเริ่มบิ๊กคลีนนิ่ง

จากสถานการณ์อุทกภัยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ทะลักลงสู่แม่น้ำตากแดดทะลักเข้าท่วมอย่างหนักในหลายพื้นที่ ต.โคกหม้อ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ล่าสุดน้ำลดเข้าสู่ ภาวะปกติ ประชาชนทยอยขนของเข้าบ้าน ส่วนกรม ทหารราบที่ 4 ค่ายจิระประวัติ จังหวัดนครสวรรค์ จัดส่ง กำลังพลร่วมกับฝ่ายปกครอง “บิ๊กคลีนนิ่ง” วัดในพื้นที่

อยุธยาป้องกันเกาะเมือง

นายสันต์ สร้อยแสง ปภ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า การระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาในวันที่ 5 ต.ค. ระบายในอัตรา 2,766 ลบ.ม.ต่อวินาที และ ที่เขื่อนพระรามหกการระบายอยู่ที่ 942 ลบ.ม.ต่อ วินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและคลองธรรมชาตินอกคันกั้นน้ำชลประทาน ได้รับผลกระทบน้ำ เอ่อล้นตลิ่งจากแม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลอง บางบาล ท่วมบริเวณบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย 10 อำเภอ ประกอบไปด้วย อ.เสนา อ.บางไทร อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.ท่าเรือ อ.บางปะหัน อ.บางปะอิน อ.นครหลวง อ.มหาราช และ อ.พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบจำนวน 130 ตำบล 683 หมู่บ้าน ชุมชน 31,030 ครัวเรือน ทั้งนี้ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ กั้นกระสอบทรายเป็นพนังกั้นน้ำ ในพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ลุ่มต่ำ ประกอบกับจัดเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังทุกประตูระบายน้ำ หากเกิดภาวะฉุกเฉินจะมี หน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมเครื่องสูบน้ำเข้าดำเนินการ ติดตั้งทันที หรือหากบางจุดน้ำท่วมถนนภายในเกาะเมือง เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาจะตั้งคันดินป้องกันทันที ส่วนที่ชุมชนวัดแม่นางปลื้ม ต.หัวรอ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่เทศบาล พร้อมด้วย ชาวบ้านในชุมชน ต่างต้องเตรียมอุปกรณ์ทำสะพานไม้ เพื่อใช้เดินเข้าออกชุมชน บางส่วนนำกระสอบทราย มากั้นไม่ให้น้ำเข้าท่วมในชุมชน ในขณะที่เด็กๆต่างสนุก สนานกับน้ำท่วม ใช้ฝากระติกเป็นเรือให้ผู้ใหญ่ลากจูง

เจรจาปล่อยน้ำเข้าทุ่ง

น.ส.นุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รอง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมฝ่ายปกครองและทหาร ร่วมเจรจากับประชาชนในพื้นที่ อ.บางบาล เพื่อขอปล่อยน้ำเข้าทุ่งนามีเนื้อที่ 120,000 ไร่ รวมทั้งอีก 4 อำเภอ ในพื้นที่ใกล้เคียงผลการเจรจาชาวบ้านยินยอมให้ชลประทานระบายน้ำลงสู่ทุ่งบางบาล ทำให้ในเขตเทศบาลและโบราณสถานต่างๆรอดพ้น น้ำท่วมในครั้งนี้

ท่วมตลาดโบราณ

กระแสน้ำป่าสักทะลักขยายวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เร่งระบายน้ำลงสู่ ท้ายเขื่อนเพื่อเป็นการรองรับน้ำเหนือ ส่งผลกระทบบ้านเรือนท้ายเขื่อนในพื้นที่ จ.สระบุรี ร่วม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งคอย อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เมือง และอ.เสาไห้ นอกจากนี้ น้ำไหลท่วมตลาดน้ำโบราณบ้านต้นตาล อ.เสาไห้ เป็นตลาดอันเก่าแก่และเป็น แหล่งท่องเที่ยวที่สัมผัสวิถีเอกลักษณ์ชีวิตวัฒนธรรม ระดับน้ำสูงมิดหลังคา

“ซีพีเอฟ” ช่วยชาวบ้าน

นายพุทธพงษ์ สุริยะสิงห์ นายอำเภอบ้านหมอ จ.สระบุรี รับมอบไข่ไก่สด เนื้อสุกร และน้ำดื่มซีพีจากซีพีเอฟ เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสนับสนุนโรงครัวพระราชทาน ช่วยเหลือชาวอำเภอบ้านหมอผู้ประสบภัยน้ำท่วม จำนวนกว่า 2,000 หลังคาเรือน จากกรณีที่แนวกั้นน้ำบริเวณถนนช่วงต้นคลอง 23R ที่แยกจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ขาดพังทลายทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่หลายตำบลในอำเภอบ้านหมอ โดยมี นายวุฒิ สมานวงศ์ และนายชาญณรงค์ ส้มแก้ว เป็นผู้แทนซีพีเอฟ นำทีมงานจิตอาสาร่วมมอบ ณ วัดสารภี ตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ

วางกระสอบทราย 2.8 ม.

นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 4 ต.ค. พบว่าน้ำขึ้นสูงสุดที่ระดับ 2.42 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง อยู่ในระดับที่เทศบาลสามารถรับมือได้ ขณะนี้เทศบาลนครนนทบุรีวางแนวกระสอบทรายในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่เป็นจุดโหว่ตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 10 กม. ใช้กระสอบทราย 80,000 ใบ ยังเหลือกระสอบทรายอีกประมาณ 20,000 ใบ และสั่งกระสอบทรายเข้ามาเพิ่มอีก 100,000 ใบ พร้อมทั้งสำรวจและเร่งวางแนวกระสอบทรายให้สูงขึ้นให้อยู่ในระดับ 2.8 เมตร

ผู้ว่าฯ หมูป่าตรวจน้ำ

ที่ท่าเรือเฉลิมพระเกียรติ (สวนเทพปทุม) ต.บางปรอก อ.เมืองปทุมธานี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.ปทุมธานี ลงเรือล่องตามลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อตรวจสอบและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.สามโคก พร้อมสั่งการขอให้กรมชลประทานในพื้นที่ช่วยติดตามและประเมินช่วงน้ำหนุนจากสภาพอากาศโดยเฉพาะพายุ เพื่อเตรียมการไว้หากเกิดกรณีฉุกเฉินจะได้มีกำลังพลพร้อมช่วยประชาชน สถานการณ์โดยทั่วไปในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ยังถือว่าอยู่ในขั้นปลอดภัย

เสริมแนวป้องกันอุทยาน

ส่วนนายจำลอง ขำสา รองนายก อบจ.นนทบุรี พร้อมชาวบ้านช่วยกันนำกระสอบทราย 2,000 กระสอบ วางแนวกั้นน้ำพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บางศรีเมือง อ.เมืองนนทบุรี พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง และของสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทานที่ 12 อีก 1 เครื่อง ป้องกันน้ำท่วมเข้าพื้นที่อุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษก เป็นสถานที่สำคัญในพื้นที่

กทม.เตรียมแนวป้องกัน

นายณรงค์ เรืองศรี ผอ.สำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำจากภาคกลางที่ไหลผ่านเข้าสู่พื้นที่ กทม.ว่า สำนักการระบายน้ำ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูง ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือหลากและประชุมร่วมกับกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์และหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา นำมาใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำ ความยาว 78.93 กม. สำหรับบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรหรือบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ ได้เรียงกระสอบทรายเสริมระดับความสูงในการกั้นน้ำเอ่อล้น นอกจากนั้นยังตรวจสอบความพร้อมการใช้งานของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา 97 สถานีและบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ในช่วงน้ำทะเลขึ้น และเตรียมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมตามแนวกระสอบทราย พร้อมวัสดุอุปกรณ์และกระสอบทราย เพื่อแก้ไขจุดที่คาดว่าอาจจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ชั้นในอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สามารถแจ้งปัญหาน้ำท่วมขังใน กทม. หรือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนที่ 1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม 0-2248-5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

“ป้อม” จับตาพายุ 8-10 ต.ค.

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำที่จะมีพายุเข้าระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.ว่า ขณะนี้อธิบดีกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมการอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง และในวันที่ 7 ต.ค. ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้น 50 ซม. สำหรับพายุที่มีการแจ้งเตือนว่าจะเข้ามาทางด้านเหนือ เป็นผลดีจะมีน้ำเข้าเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ขณะที่ภาคกลางจะได้รับอิทธิพลแค่ห่างๆ ทั้งนี้แจ้งเตือนประชาชนตลอดเวลาอยู่แล้ว ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เตรียมการณ์ไว้แล้ว จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากน้ำท่วม

“วราวุธ” เร่งผันน้ำออกทะเล

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า ภาพรวมฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากรมชล ประทานเพิ่มปริมาณน้ำที่ผันจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยามาทางประตูน้ำพลเทพลงแม่น้ำท่าจีนเพิ่มมากขึ้น และชะลอปริมาณน้ำทุ่งที่จะไหลมาจากแม่น้ำท่าจีน ทำให้น้ำที่ไหลในแม่น้ำท่าจีนมีเท่าเดิมอยู่ เนื่องจากน้ำในฝั่งตะวันตกมีปริมาณมาก ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือและประสานงานกับกรมชล ประทานนำเครื่องผลักดันน้ำไปติดตามจุดต่างๆ ผลักดันน้ำจากแม่น้ำท่าจีนไปสู่อ่าวไทยโดยเร็ว ทั้งนี้ฝั่งตะวันตกมีจุดด้อยคือการเดินตัวของน้ำช้าจากฝั่งตะวันออกคือ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สถานการณ์ฝั่งตะวันออกหนักไม่แพ้กัน เนื่องจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักที่มีความจุเกิน 100 ล้าน ลบ.ม. ทำให้สถานการณ์ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทองหนักหนาขึ้น

“ศักดิ์สยาม” เตรียมป้องกัน-ฟื้นฟู

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม และปริมาณ น้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นล้นทางระบายน้ำล้น ช่วงวันที่ 6-10 ต.ค. ในส่วนของกระทรวงคมนาคมสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมแล้ว ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันสาธารณภัย ทั้งเตรียมความพร้อมการป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาในทุกมิติตลอด 24 ชั่วโมง

กอนช.เตือนน้ำทะเลหนุน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 19/2564 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุว่า สถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักพบว่าเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,775-2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที และเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ปริมาณน้ำหลากสูงสุดจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกสูงสุดในอัตรา 762 ลบ.ม.ต่อวินาที คาดว่าปริมาณน้ำจะไหลหลากรวมกันผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์สูงสุด 3,050-3,150 ลบ.ม.ต่อวินาที จะไหลออกสู่อ่าวไทยในช่วงวันที่ 7-10 ต.ค. ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 ซม. พื้นที่ที่ควรเฝ้าระวัง ประกอบด้วย 1. จ.ปทุมธานี และจ.นนทบุรี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 2.กรุงเทพมหานคร บริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบให้ระดับน้ำล้นคันป้องกันน้ำริมแม่น้ำของกรุงเทพฯ ยกเว้นบริเวณที่ไม่มีระบบคันป้องกันริมแม่น้ำ

มท.สั่งทุก จว.เร่งสำรวจเยียวยา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สั่งการไปยัง ผวจ.ทุกจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายในด้านต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็ว และเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง จังหวัดที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำที่มีสมรรถนะสูง ให้ประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และให้ทุกจังหวัด และทุกอำเภอ จัดทำแผนที่เส้นทางน้ำไปติดตั้งประจำศาลากลางจังหวัด และที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง เพื่อใช้วิเคราะห์ติดตาม และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่

จับตาพายุเข้า 2 ลูก

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือทีมกรุ๊ป ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เปิดเผยว่า เฝ้าจับตาพายุที่จะพัดเข้ามาในประเทศไทยอีก 2 ลูก ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ลูกแรกจะเข้ามาช่วงวันที่ 11-12 ต.ค. ชื่อพายุ “ไลออนร็อก” พัดมาจากฟิลิปปินส์ผ่านไหหลำ เข้าเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม เข้าไทยพื้นที่จังหวัดอีสานเหนือ ได้แก่ นครพนม บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร และเลย จะต้องระมัดระวังเรื่องน้ำที่ระบายช้า พื้นที่อยู่ติดแม่น้ำโขงไม่น่าห่วง เพราะระบายลงแม่น้ำโขงได้ แต่พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสงครามและท่าอุเทนจะท่วมนาน ส่วน อ.เมืองนครพนม และ จ.บึงกาฬ จะระบายน้ำลงแม่น้ำโขงได้ไม่น่าห่วง ส่วน จ.หนองคาย อาจจะระบายช้าเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะที่ จ.อุดรธานี ต้องระมัดระวังตัวเมืองระบายน้ำไม่ทัน อีกลูกเป็นพายุหมายเลข 18 ชื่อ “คมปาซุ” ช่วงวันที่ 13-16 ต.ค. จะผ่านเข้าภาคอีสานตอนเหนือ แต่อาจจะมาไม่ถึง จ.เพชรบูรณ์ และ จ.ลพบุรี ต้องรอ ดูผลกระทบที่ประเทศฟิลิปปินส์ว่ารุนแรงแค่ไหน หากรุนแรงจะมาถึงลุ่มแม่น้ำป่าสัก จ.พระนครศรีอยุธยา ซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม