ทุกวัน เวลาผมกลับถึงบ้าน คอยถามลูกด้วยความเป็นห่วงว่า เรียนออนไลน์เป็นอย่างไรบ้างเพราะลูกต้องนั่งอยู่หน้าจอ iPad ทั้งวัน และแทบไม่ได้ออกจากห้องนอนเลยตลอด 24 ชม. (ยกเว้นช่วงเย็นที่เราพากันออกไปเดินเล่น)...
เขาก็บอกพอไหว แต่เบื่อและคิดถึงเพื่อนๆเหลือเกิน ลูกบอกว่า แม้หนูจะตั้งใจเต็มที่ แต่ยอมรับว่าประสิทธิภาพการเรียนรู้ไม่ได้เต็มที่ เพื่อนบางคนสมาธิหลุด เอาโทรศัพท์มาเล่น ดู YouTube line คุยกัน

ผมรู้ดีว่าการสอนออนไลน์มันยาก ใช้พลังมากกว่าสอนแบบเจอกันตัวเป็นๆมาก และไม่ว่าครูจะตั้งใจเพียงใดก็ไม่ใช่ ครูทุกคนจะสอนออนไลน์ได้มีประสิทธิภาพ สามารถเอาเด็กอยู่ทั้งชั่วโมงกันทุกคน เท่าที่รับทราบมา เริ่มปรากฏ เด็กมีปัญหาทางสุขภาพจิตมากขึ้น บ้างเครียด วิตกกังวล เพราะเรียนตามเพื่อนไม่ทัน
...ไม่รู้จะถามครูอย่างไร บ้างมีอาการซึมเศร้า ขาดปฏิสัมพันธ์กับสังคมเพื่อนๆตัวเป็นๆ ขาดการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นของการใช้ชีวิตจริงๆ ยิ่งถ้าเป็นเด็กอนุบาลด้วยแล้ว การเรียนออนไลน์อยู่หน้าจอทั้งวันมันทารุณและดูจะเป็นการทำร้ายเด็กเสียมากกว่า จนไม่อาจเรียกได้ว่านี่คือ การศึกษา
...
“พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน ไม่มีใครเฝ้า ดูแลเป็นเพื่อนเด็ก หลายบ้านต้องปล่อยเด็กอยู่บ้านคนเดียว ค่าเน็ตก็ไม่มีเงินจ่าย เด็กบางคนต้องดูจากจอมือถือเก่าๆเล็กๆ เรียกว่าแทบมองไม่เห็นอะไรเลยที่ครูสอน ซ้ำแล้วบางคนไม่มีเลย บ้างต้องไปกู้ ไปซื้อหามา ในภาวะที่รายได้ไม่มี”
(หากการศึกษาคือภาคบังคับ รัฐไม่ควรปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นภาระประชาชน)
เราไปต่อแบบนี้ไม่ไหวจริงๆครับ ถ้าไม่พร้อมเปิดก็ให้มันเป็น gap year ไปเลย (ข้อดีข้อเสียมากมายต้องอภิปรายกัน) หรือให้โปรเจกต์ ให้เด็กๆไปเรียนรู้ ค้นคว้าเอง เสริมสร้าง ประสบการณ์ชีวิตอื่นๆที่จำเป็น
พบเจอกันหน้าจอช่วงสั้นๆ จะมาหวังยัดเยียดเนื้อหาแบบเดิม วัดประมวลผลแบบเดิม มันเป็นไปไม่ได้

เราจำเป็นต้องเปิด ร.ร. แต่ต้องเปิดอย่างมีกลยุทธ์และความพร้อม วันนี้แต่ละพื้นที่ ครูได้รับวัคซีนกันไปเท่าใดแล้ว ใครตอบได้บ้าง ผมอยากเห็นแผนเชิงรุกของกระทรวงศึกษาธิการ และสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนให้ครู ภารโรง คนขับรถ ตลอดจนแม่ค้าขายอาหารในโรงเรียน
เตรียมความพร้อมการระดมตรวจ ATK เป็นระยะ หากมีการระบาด ฯลฯ
นักเรียนรุ่นโควิดโดยเฉพาะเด็กเล็กเป็นเด็กที่น่าสงสาร ขาดทักษะและโอกาสการเรียนรู้พัฒนาการหลายด้านซึ่งอาจส่งผลกับตัวตน บุคลิก ทัศนคติของพวกเขาและสังคมโดยรวมในอนาคต
ครอบครัวต้องช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปให้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีความพร้อมในทุกด้านเพียงพอที่จะลดผลกระทบนี้ได้ ผมเป็นห่วงอนาคตของชาติ อยากเห็นแผนเชิงรุกเตรียมพร้อมเปิด ร.ร. ที่มียุทธศาสตร์เป็นรูปธรรมครับ

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” อาจารย์แพทย์โรคหัวใจคนดังและนักอนุรักษ์รางวัลลูกโลกสีเขียว เปิดมุมมองเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ของเด็กไทยทั้งหมดข้างต้นนี้ผ่านประสบการณ์ส่วนตัว เปิดเผยไว้ในเฟซบุ๊ก “Rungsrit Kanjanavanit” เมื่อปลายเดือนที่แล้ว
ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ “ผู้ปกครอง” หลายครอบครัวสะท้อนปัญหามุมคิด ด้วยว่ามีกรณี สำนักงานศึกษาธิการภาค 2 จัดฝึกอบรมวิชาลูกเสือจราจร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ระหว่างวันที่ 28-29 สิงหาคม 2564 รูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรมไมโครซอฟต์ทีม ณ ห้องประชุมอาคารริมน้ำ อ.เมืองปทุมธานี
...
ปัญหามีว่า...วันอบรมเป็นวันเสาร์อาทิตย์ และระยะเวลาอบรมแต่ ละวันก็จัดเต็มเช้าถึงเย็น 08.00-16.30 น. การเรียนออนไลน์ในวันธรรมดาก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เด็กยังต้องมาเผชิญกับหน้าจอเต็มๆอีก
ผลสัมฤทธิ์...ประโยชน์ที่เกิดมีกับตัวผู้เข้าอบรมแน่ๆ มากบ้างน้อยบ้างตามความสนใจของเด็กแต่ละคน ทว่ากิจกรรมแบบนี้กับ “เด็กนักเรียน” ในยุคนิวนอร์มอลจำเป็นมากน้อยแค่ไหนเพียงใด จนผู้ปกครอบบางคนอดคิดไม่ได้ ทำไปเพื่อใช้งบประมาณให้หมดหรือเปล่า และที่พีกที่สุดเด็กต้องแต่งชุดลูกเสือ เนตรนารีจัดเต็มเลยจ้า


...
ท่ามกลางสถานการณ์ “โควิด-19” ระบาดหนักไม่คลี่คลายโดยง่าย การเปิดโรงเรียนหรือไม่ อย่างไร? ยังเป็นคำถามสำคัญ ประเด็น “การเปิดเรียน : มาตรการการป้องกันและความปลอดภัย” นพ.ภาสิน เหมะจุฑา และ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา สะท้อนมุมมองให้ฟังว่า
“เด็กเล็กอย่างน้อยตั้งแต่สองขวบจนกระทั่งถึง 18 ปี มีการติดเชื้อโควิดโดยเฉพาะตั้งแต่มีสายพันธุ์เดลตาไม่แตกต่างกับผู้ใหญ่และกลายเป็นคนแพร่เชื้อที่มีประสิทธิภาพที่สุด”
แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตและความรุนแรงในช่วงระยะแรกจะน้อยกว่า แต่ในระยะถัดมาใน 2-4 เดือน และระยะยาวกว่านั้น พบผลกระทบในรูปลักษณะ มีการอักเสบในหลายอวัยวะจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล และในระยะยาวเป็นไปได้อย่างสูง ที่จะมีผลกระทบกับทุกอวัยวะ
แน่นอนว่า จะส่งผลไปถึงการพัฒนาการการเจริญเติบโต โดยเฉพาะผลกระทบทางสมอง ทั้งนี้ แม้ว่าความรุนแรงของการติดเชื้อในระยะแรกจะมีไม่มากหรือแทบไม่มีก็ตาม
มาตรการที่ควรกระทำ ลำดับแรก...ให้วัคซีนกับเด็กทุกอายุตั้งแต่สองปีขึ้นไป ทั้งนี้ วัคซีน mRNA ไบโอเอ็นเทค กำลังอยู่ในระหว่างการอนุมัติฉีดตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป (ข้อมูลวันที่ 11 กันยายน 2564) โดยใช้ขนาดเนื้อวัคซีนน้อยลง เพื่อปิดช่องว่างให้ต่อเนื่องกับการใช้ในอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังก็คือในเด็กจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสำหรับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบสูงที่สุดและแม้ว่าจะมีการให้ความมั่นใจว่าอาการไม่รุนแรงและรักษาทันท่วงทีก็ตาม แต่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
“เนื่องจากในเด็กกลุ่มอายุเหล่านี้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตจะน้อยกว่ากลุ่มผู้ใหญ่มาก ยกเว้นเป็นในเด็กที่มีโรคประจำตัวมากอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าว การใช้วัคซีนเชื้อตายดังที่มีการปฏิบัติในประเทศจีนแล้วน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องความปลอดภัย”
...
เนื่องจากวัคซีนเชื้อตายมีการใช้ในการป้องกันโรคอื่นมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปีแล้ว

“การฉีดเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันที่ป้องกันการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคให้ได้เร็วที่สุดสามารถกระทำได้โดยการฉีดเข้าชั้นผิวหนังด้วยปริมาณ 0.1 ซีซี ในวันที่ศูนย์และวันที่เจ็ด และเป็นไปได้ที่ภูมิคุ้มกันจะขึ้นภายในสองถึงสี่สัปดาห์ขึ้นไป ตามรูปแบบการฉีดป้องกันล่วงหน้าวัคซีนพิษสุนัขบ้า”
และ...สามารถเปิดเรียนได้ในหนึ่งเดือนหลังจากฉีดเข็มที่สอง
หลังจากนั้นเพื่อครอบคลุมสายพันธุ์เช่นเดลตาจำเป็นต้องมีการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน เช่น ไบโอเอ็นเทค แบบชั้นผิวหนัง 0.1 ซีซี ในช่วงเวลาเดือนครึ่งถึงสามเดือนหลังจากเข็มที่สอง
ถัดมา...การตรวจคัดกรองที่มีความไวโอกาสผิดพลาดน้อย เป็นมาตรการเสริมกับการฉีดวัคซีน ตรวจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน จนกระทั่งถึงวันเว้นวัน แต่เจ้าหน้าที่โรงเรียน...สถานศึกษาจะต้องมีการตรวจถี่กว่า อย่างน้อยวันเว้นวัน ถ้าปรากฏผลบวก อาจจะถือว่ามีการแพร่ในโรงเรียนหรือสถานศึกษานั้นแล้ว
โดยขอบเขตการแพร่อยู่ที่การ “สืบสวน” และ “สอบสวน” ต่อ
“ป้องกันตัว การ์ดอย่าตก ทุกที่...ทุกเวลา” เรายังต้องสู้อยู่กับไวรัสร้าย “โควิด-19” ให้ได้.