ผมมโนเอาเองมานาน บ้าน “ทมยันตี” ที่อำเภอสารภี เชียงใหม่ เพิ่งเห็นเป็นรูปร่างจากข่าวทีวี นี่คือบ้านในจินตนาการ ล้านนาเทวาศรม ย้อนคำแปลตรงตัว อาศรมเทวาแห่งล้านนาไม่คิดก็ต้องคิดนะครับ ความหมายของชื่อบ้าน เอามาต่อกับฉากสุดท้าย
“ทมยันตี” สิ้นลมหายใจในท่านั่งสมาธิ กลมกลืนไปด้วยกัน
ข่าวแรกที่เพื่อนโทร.มาบอก...พี่อี๊ดหลับไปแบบสบายๆ แค่นี้ สำหรับชีวิตมนุษย์สามัญ นี่คือวิถีของคนมีบุญ
คนส่วนใหญ่ก่อนตาย ก็ต้องเจ็บป่วย ทุกข์ทรมานจะมากจะน้อยก็ต้องมี
และหาก เกิดมีการตาย ด้วยท่าทีที่ไม่ว่านั่งสมาธิ คุมสติตัวเองได้มั่นคง ในทางพุทธศาสนา นับถือกันว่าเป็นความตายของผู้มีระดับจิตสูงเหนือมนุษย์สามัญ
พระลามะผู้ใหญ่...ในทิเบต มีที่บรรจุศพอยู่สองแบบ แบบแรก หากนอนตาย เป็นหลุมศพธรรมดา แต่ถ้านั่งตาย สถูปจะก่อเป็นทรงกลมสูง
ใครที่เคยดูหนัง ลิตเติลบุ๊ดด้า ที่ คีนูรีฟ เล่นเป็นพระสิทธัตถะ คงจำได้ เมื่อภารกิจตามหาลามะดอเจ เสร็จสิ้นลามะองค์อาจารย์ ก็เข้าห้อง จัดท่านั่งสมาธิ ปิดจมูกทดสอบลมหายใจคล่อง ดึงชายจีวรคลุมศีรษะ
นาน เท่าไหร่ ก็คงหลายวัน จนโน่นแหละ ชายจีวรที่คลุมหลุดจากศีรษะ นั่นคือสัญญาณ ท่านมรณภาพ
พระไทยระดับหลวงพ่อชื่อดังๆ เท่าที่เล่าขาน หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน (บพิตรพิมุข) สวดมนต์ไหว้พระแล้ว ก็นั่งสมาธิ ชาวพุทธเชื่อกันว่า พระที่มีสมาธิกล้าแข็ง ระงับเวทนา คืออาการเจ็บปวดจากการป่วยไข้ได้
เมื่อศีรษะท่านเอียงซบไหล่...ลูกศิษย์ที่แวดล้อม ก็รู้กันท่านหมดลมหายใจ
หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม อัมพวา ก็อีกองค์ ท่านแข็งแรงพอปีนนั่งร้าน ขึ้นไปนั่งดูความเรียบร้อยของพระประธาน ในโบสถ์วัดใหม่ ที่ท่านไปสร้างให้
ครู่หนึ่งท่านก็พนมมือในท่าสวดมนต์ นั่นคือท่านั่งสุดท้าย
...
คนไม่เชื่อก็ว่า ท่านเป็นลมหาย คนเชื่อก็มั่นใจ เมื่อเสร็จธุระ หมดห่วงบ่วงใยที่ตั้งใจ ท่านก็ลา
ย้อนมาถึง “ทมยันตี” ผมพอจำได้เป็นเค้าๆ สมัยวัยรุ่นอยู่เรืออวนลาก...มีหนังสือ “บางกอก” รายสัปดาห์ เป็นสรณะเดียว นักเขียนระดับจอมยุทธ อย่าง รพีพร หรือทมยันตี เคยเขียนเรื่องแนวสมาธิแข่งให้พวกเราอ่าน
ถ้าเป็นชาวพุทธ ก็คงจะพอเข้าใจ ระดับความรู้ในเรื่องจิตภาวนา นักเขียนแถวหน้า เข้าถึงลึกซึ้งทุกคน
พ็อกเกตบุ๊ก ที่ “พี่อี๊ด” ยื่นให้กับมือ แล้วดักใจ “พี่ว่าเธออ่านไม่จบ” ผมอ่านแล้ว วิธีฝึกจิตในเรื่อง แปลกไปจากอานาปานสติ ที่ผมเรียนรู้ จากท่านอาจารย์พุทธทาส
แต่ก็พอเข้าใจ นักเขียนรุ่นที่ผมเชื่อว่าบรรลุแล้ว เธอก็ต้องมีวิถีแบบของตัวเอง
ไม่ใช่เรื่องแปลก
ผมเก็บหนังสือพิมพ์เล่มที่เขียนข่าว “ทมยันตี” ไว้ข้างตัว อย่าพูดถึงนิยายที่เธอแต่ง แค่นามปากกา ก็ยังแทบจำไม่ไหว...นิยายทุกเรื่องนั้น คนอ่าน ก็รู้เท่ากัน ตอนจบสำคัญที่สุด ตอนจบแต่ละเรื่องให้อารมณ์หลากหลาย
ท่อนหนึ่ง เสียงเพลงประกอบสารคดีทีวี แว่วมาเข้าหูชีวิตลิขิตเอง ไม่ต้องเกรงปัญหาใดๆ ผมแน่ใจ ว่า ทมยันตีตั้งใจเขียนตอนจบชีวิตให้ตัวเอง สงบและงาม
ในโลกนี้ มีนักเขียนมากมาย แต่จะมีนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่สักกี่คน ที่เขียนบทชีวิตตัวเองได้ โลกคงลืมเธอไม่ลง.
กิเลน ประลองเชิง