การฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-8 พ.ค. รวม 70 วัน ฉีดได้ 1,743,720 โดส เป็น เข็มที่ 1 จำนวน 1,273,666 ราย แบ่งเป็น ซิโนแวค 1,167,398 ราย แอสตราเซเนกา 106,268 ราย ฉีดครบ 2 เข็ม 470,054 ราย แบ่งเป็น บุคลากรสาธารณสุข 42.45% ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 40.10% เจ้าหน้าที่อื่นๆ 11.15% ผู้มีโรคประจำตัว 6.11% ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 0.10% เชื่องช้าจนน่าเป็นห่วง เฉลี่ยฉีดได้วันละ 24,910 ราย ถ้าฉีดในอัตรานี้ ต้องใช้เวลา 6.59 ปี จึงจะฉีดครบ 70 ล้านคน
วันศุกร์ที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า จะปูพรมฉีดวัคซีนให้ผู้ใหญ่ 60 ล้านคน ในประเทศให้ได้ครึ่งหนึ่ง (30 ล้านคน) ภายในเดือนกรกฎาคม ผมหวังว่า ท่านนายกฯจะรักษาคำพูด ที่ประกาศไปแล้ว ไม่อย่างนั้นเสียคนอีกครั้งแน่นอน
ผมมีโอกาสคุยกับ “แพทย์ผู้ใหญ่” ท่านหนึ่ง ท่านได้ “แนะนำวิธีใหม่” รับมือกับโควิด-19 ซึ่งน่าจะได้ผลดีกว่าแบบเดิม คือ ให้เลิกการตรวจหาเชื้อแบบ Swab หรือ PCR ที่ใช้ไม้สำลีแหย่เข้าไปในโพรงจมูก การตรวจเชื้อแบบนี้ใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล และมีค่าใช้จ่ายสูงเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีน ท่านจึงเสนอให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปเลย ไม่ต้องไปตรวจหาเชื้อโควิดก่อนแล้วค่อยไปฉีดวัคซีน วัคซีนเข็มละไม่กี่ร้อยบาท แต่การตรวจ Swab ครั้งละ 3,000 บาท ถ้าตรวจสองครั้งเพื่อให้แน่ใจก็ 6,000 บาท แต่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ราคาแค่พันกว่าบาท เช่น ซิโนแวค เข็มละ 30 เหรียญ 900 บาท 2 เข็ม ก็ 1,800 บาท ถ้าเป็น แอสตราเซเนกา ถูกลงมาเยอะ เข็มละ 4 เหรียญ 120 บาท 2 เข็มแค่ 240 บาทเท่านั้น
...
การตรวจโควิดก็เพื่อให้รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ แต่การฉีดวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้รับวัคซีนทันที ไม่ว่าในเวลาต่อมาจะติดเชื้อหรือไม่ก็ตาม ผมฟังแล้วก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตนำมาเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ฉีดวัคซีนปูพรมให้คนไทยทุกคนอย่างที่ท่านประกาศ ดีกว่าไปงมหาผู้ป่วยให้เสียเวลาเสียเงิน
แต่ป้องกันไม่ได้
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเปรียบเทียบภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในประเทศไทย ระหว่าง วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ในระยะเวลา 1 เดือน และ วัคซีนแอสตราเซเนกา 1 เข็ม ในระยะเวลา 1 เดือน กับ ภูมิต้านทานในผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ช่วง 4-8 สัปดาห์หลังติดเชื้อ ผลปรากฏว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะพบภูมิต้านทานสูงถึง 98-99% ในขณะที่ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบภูมิต้านทานอยู่ที่ 92.4%
คุณหมอยง สรุปผลการศึกษาครั้งนี้ว่า ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นนี้ แสดงให้เห็นว่า วัคซีนทั้งสองชนิดที่ฉีดในประเทศไทย กระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกับประชากรไทย ทั้ง วัคซีนซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา แต่ ระดับภูมิต้านทานจะอยู่ได้นานแค่ไหน ขณะนี้กำลังติดตามในระยะยาว ถ้าภูมิต้านทานลดลงมาก ก็อาจจะต้องมีการกระตุ้นด้วยการฉีดวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นสูงตลอดเวลา เพราะ เชื้อโควิด-19 มีระยะการฟักตัวสั้น จึงต้องอาศัยภูมิต้านทานที่สูงอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
งานวิจัยของ ศ.นพ.ยง สอดคล้องกับ ข้อเสนอแนะของผม ที่เสนอให้ ซื้อวัคซีนให้มากที่สุดและฉีดให้คนไทยทุกคนแบบปูพรม และยังสอดคล้องกับ ข้อเสนอของแพทย์ผู้ใหญ่ ที่เสนอให้ ฉีดวัคซีนทันที เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ต้องรอตรวจหาเชื้อก่อน ระหว่างที่รอผลตรวจเชื้ออาจจะแพร่ไปอีกไม่รู้เท่าไหร่ เชื้อในร่างกายก็เพิ่มขึ้น ทำให้ป่วยหนักเร็วขึ้น
ผมคิดว่านายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. น่าจะนำข้อเสนอ การฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แทนวิธีเดิม ตรวจหาเชื้อก่อน เสนอ คณะแพทย์ที่ปรึกษา เพื่อเปลี่ยนวิธีสู้กับโควิด เหมือนการเปลี่ยนวิธีรักษาผู้ป่วยโควิด ด้วย “ยาฟาวิพิราเวียร์” ที่ทำไปแล้ว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”