สถานการณ์การระบาดไวรัสร้าย “โควิด-19” ไปทั่วทุกมุมโลก ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ณ วันที่ 16 เมษายน 2564 พุ่งทะยานไปแล้วเกือบ 140 ล้านราย...กำลังรักษาตัว 56.9 ล้านคน...รักษาหายแล้ว 79.2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 3 ล้านคน
หลากหลายธุรกิจ แทบจะทุกสาขาอาชีพได้รับผลกระทบอย่างหนัก เหลียวมอง “ประเทศไทย” ในมิติ “ทิศทางการส่งออกข้าวไทยปี’64” ในฐานะเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ...ท่ามกลางวิกฤตินี้จะเป็นเช่นใด

ย้อนไปเมื่อต้นปี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมกำหนดนโยบายร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดเป็นองคาพยพสำคัญ
โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ 17 แห่งที่มีตลาดส่งออกข้าวไทย และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด 20 แห่ง ...เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญ ร่วมประชุม รับฟังแลกเปลี่ยนความเห็นพร้อมทั้งสะท้อนปัญหา
...

ก่อนที่จะเคาะมติเดินหน้า “ฝ่าวิกฤติโควิด-19” ดันการส่งออกข้าวไทยปี 2564 ซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศไปทั่วโลก ผ่านมาถึงวันนี้มีความคืบหน้า...มีโอกาส...มีความหวัง มากน้อยแค่ไหนอย่างไร?
มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนตัวเลขบอกว่า เป้าส่งออกปี 64 อยู่ที่ 6 ล้านตันเพิ่มจากปีที่แล้ว 4.9% ที่ 5.7 ล้านตัน...แบ่งเป็นตลาดพรีเมียม ตลาดทั่วไป ตลาดเฉพาะ “ตลาดทั่วไป”...จะเน้นการทําตลาดแบบ G to G เช่น อิรัก ซึ่งขณะนี้เอ็มโอยูอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่
อีกตัวอย่างความสำเร็จที่โตรอนโต เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแคนาดาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่นั่นเราสามารถเพิ่มยอดส่งออกจาก 8.7 หมื่นตันเป็น 1.1 แสนตัน ขยายตัว 21% จากการเพิ่มขึ้นของผู้อพยพชาวเอเชียที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขยายตัวของ...ข้าวกล้อง และ...ข้าวสี สําหรับผู้รักสุขภาพ
ในปี 64 นี้เราก็จะเน้นทําตลาดในกลุ่มชาวแคนาดาเชื้อสายจีนและมีเอเชีย 3 ล้านคนในจำนวน 38 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3 แสนคน ยุทธศาสตร์คือที่นั่นใช้วิธีโดยชาวแคนาดาที่พูดฝรั่งเศสและทํากิจกรรมกับโรงเรียนสอนทําอาหาร อาทิ กอร์ดองเบลอ
พร้อมทำแผนประชาสัมพันธ์ว่า “ข้าวไทย” สามารถประยุกต์ใช้กับอาหารหลากหลายประเภทและทําง่าย เน้นทําตลาดข้าว กข43 ผ่านความร่วมมือกับเซลส์แมนจังหวัด นําตัวอย่างข้าว กข43 เข้ามาทําตลาด
ทั้งหมดเหล่านี้มีเป้าหมาย...รักษายอดการส่งออกข้าวในแคนาดา 1 แสนตันไว้สอดคล้องกับนโยบายเจ้ากระทรวง...พื้นที่เป้าหมายตลาดข้าว ต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงประชากร ประชาสัมพันธ์คุณภาพข้าว
รวมทั้งแผนกลยุทธ์ที่จะใช้ “ข้าว” ประยุกต์เป็น “อาหาร” ในรูปแบบ ต่างๆได้

ภายใต้วิสัยทัศน์ “ไทยเป็นผู้นำการผลิตการตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก” ยุทธศาสตร์ คือ “ตลาดนำการผลิต” หัวใจสำคัญวันนี้...แม้จะมีสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่ประชากร “ทุกประเทศ” ก็ต้อง “กิน” ดังนั้นยุทธวิธีของเราคือไม่ให้สถานการณ์ใดเป็นอุปสรรคสำหรับการค้าขาย
“ความจริงเรามีแผนกิจกรรมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ตัวอย่างเช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในสหรัฐอเมริกา มะนิลา แวนคูเวอร์ โตรอนโต เฮก เจดดาห์ ก็มีจัดการส่งเสริมการขายในห้างสรรพสินค้าในซุปเปอร์มาร์เกตที่นั่นต่อเนื่อง”
...
ขณะเดียวกันที่สหรัฐอเมริกา มะนิลา คุนหมิง มาดริด มิลาน เฮก และดูไบ ก็จัดประชาสัมพันธ์ข้าวไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของที่นั่น...ส่วนที่เจดดาห์ คุนหมิง โตรอนโต บูดาเปสต์ มาดริด มิลาน เฮก ก็จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ข้าวไทย
ส่วนกรมการค้าต่างประเทศก็มีจัดประกวดเมนูข้าวไทยผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และผู้บริหารกรมที่เกี่ยวข้องในกระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีความสม่ำเสมอในการใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวไทยในแต่ละประเทศ...ยังไม่นับที่ข้าวไทยจะต้องเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญของโลกต่างๆ
ในวิกฤติก็มีโอกาส แต่ในโอกาสก็ยังมีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการส่งออกข้าว?

มัลลิกา มองว่า ข้าวขาวน่าจะขยายตัวได้ที่อิรักที่ยอมรับให้นําข้าวไทย ไปประมูลแล้วแต่ยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานข้าว ซึ่งทางไทยต้องให้เทรดเดอร์ เป็นผู้ประมูลแทน รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับทางการอิรักว่า...การกำหนดประเภทข้าวเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลราคามีปัญหา
...
“อิรักเข้าใจว่าข้าวร้อยเปอร์เซ็นต์ของไทยคือข้าว 5% ทําให้ราคาที่ไทยเสนอนั้นดูแพง ซึ่งปัจจุบันมีการหารือกับกรมการค้าต่างประเทศแล้ว ผู้ใหญ่ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก”
นอกจากนี้มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย ก็มีการเสนอว่าควรแก้ไขให้จดทะเบียนเครื่องหมายรับรองสีเขียว (แบบสมัครใจ) มีค่าใช้จ่ายลดลง ควรเปลี่ยนเป็นเครื่องหมายการค้าจะได้ลดค่าใช้จ่าย
“สถาบันตรวจสอบข้าว” มีอยู่ที่เดียวที่กำแพงแสน จ.นครปฐมของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ เขาว่ามีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานานเกือบ 2 อาทิตย์เพื่อการตรวจสอบดีเอ็นเอ กรณีนี้เป็นปัญหาทางเทคนิค
เรื่องอื่นๆก็มีการจัดประกวด “ข้าวพันธุ์ใหม่” ปัจจุบันที่การประกวดโดยกระทรวงพาณิชย์และกรมการข้าวเป็นการชิมรสชาติแล้วจบไป แต่ตอนนี้จะเน้นการประกวดได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่เน้นตั้งแต่ผลผลิตจากการปลูกเป็นต้นมา ประเด็นใหม่ๆในมุม “ผู้ส่งออก” ก็อยากให้มีระบบการแยกพันธุ์ข้าวที่สามารถแยกออกได้ด้วยตา
เช่น การแยกข้าวแข็ง...ข้าวนิ่ม อาจจะทําโซนนิง เรื่องนี้ก็ขอให้หารือกัน ก่อนการจัดประกวดพันธุ์ข้าวใหม่ นอกจากนั้นเป็นเรื่องขอให้เดินหน้าประชาสัมพันธ์ข้าวไทยภายใต้ธีม “Think rice think Thailand”
“เน้นประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์...ข้าวไทย อยากขอให้มีการประเมินผลการทํางานด้วย เช่น ที่ฮ่องกง ทําให้การนําเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นและจากเวียดนามตกลงในปีที่ผ่านมา และลอสแอนเจลิสอเมริกาก็มีการนําเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นโดยเน้นการใช้...อินฟลูเอนเซอร์บนสื่อออนไลน์ และดารามาทําตลาดคนรุ่นใหม่”
อีกปัญหาสุดท้าย...การส่งออกท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือ “ค่าระวางเรือ” ยังแพงและ “คอนเทนเนอร์” ยังมีไม่เพียงพอ ต้องร่วมมือกันลดต้นทุน...แก้ปัญหา หาทางออก
...

“ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไรประชาชนคนไทยไม่ยอมคนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก”
ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านโคกกูแวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส พ.ศ.2536 ตอกย้ำ “ประเทศไทย”...จำเป็นต้องก้าวให้ทันกระแสเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลง
นอกจากไม่ทิ้งวิถีชีวิตชาวนา เกษตรกรนับเนื่องจากในอดีตที่สืบทอดกันมาแต่โบราณแล้ว ยังต้องสานต่อไม่ให้แปรเปลี่ยน จบหายไป หรือ...พ่ายแพ้ชาติใดในโลก
ในวิกฤติเช่นนี้ อนาคต “ข้าวไทย” ถือเป็นโอกาสสำคัญ ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกันผลักดันตั้งแต่...ต้นน้ำ...กลางน้ำ...ปลายน้ำ ให้ข้าวไทยได้ไปอยู่ในทุก “ครัวโลก” ให้ได้.