สภาพอากาศในระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลันเตาให้เฝ้าสังเกตการระบาดของ โรคราแป้ง เพราะช่วงปลายหนาว ราแป้งจะระบาดมากกว่าฤดูอื่น
โดยเชื้อราจะเข้าทำลายถั่วลันเตาได้ทุกระยะ ตั้งแต่อายุยังน้อยไปจนออกดอกและติดฝัก...อาการเริ่มแรกจะเกิดเป็นจุดผงสีขาวคล้ายผงแป้งกระจายเป็นหย่อมๆ ทั้งด้านบนใบและด้านใต้ใบ คอยดูดกินน้ำเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ทำให้ใบและส่วนต่างๆของถั่วลันเตามีอาการเหลืองซีด ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาล เพราะเกิดการตายของเซลล์พืช ถ้าเชื้อเข้าทำลายในระยะออกดอก จะทำให้ต้นแคระแกร็นติดฝักน้อย ขนาดของฝักและเมล็ดลีบเล็กลง
เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และบริเวณใกล้เคียงนำไปทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความชื้น ลดแหล่งสะสมเชื้อราสาเหตุโรค และทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค
หากเริ่มพบต้นที่เป็นโรค ให้ฉีดพ่นด้วย ซัลเฟอร์ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนแคป 19.5% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ซัลเฟต 30% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 12.5-25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร... ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน
แต่ให้หลีกเลี่ยงการพ่นซัลเฟอร์ในสภาพอากาศร้อนหรือมีแดดจัด เพราะอาจจะทำให้ใบไหม้ได้
แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้เกษตรกรเก็บซากต้นถั่วลันเตานำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราก่อโรค และในการปลูกฤดูถัดไป ไม่ควรปลูกพืชแน่นจนเกินไป ควรปรับระยะปลูกให้มีความเหมาะสม อากาศถ่ายเทสะดวก และมีแสงแดดส่องผ่านแปลงปลูกได้อย่างทั่วถึง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรเมื่อใช้ในแปลงที่มีการระบาดแล้ว เกษตรกรควรนำเครื่องมือมาทำความสะอาดด้วยการล้างและผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำกลับไปใช้ในแปลงทุกครั้ง.
...
สะ-เล-เต