จะดีเช่นไร หากก้าวขึ้นสู่ทำเนียบผู้ประกอบการแล้วยังได้อุดหนุนผลผลิตเกษตรจากบ้านเกิด แถมขยายเครือข่ายไปสู่เกษตรกรอื่น และที่สำคัญไปกว่า ทำอย่างไรให้สินค้ายังคงคุณภาพ และพัฒนายิ่งๆขึ้นไป จนสามารถเป็นที่เชื่อใจของร้านสะดวกซื้อ วางจำหน่ายบนเชลฟ์ได้ยาวนานถึง 15 ปี
“หลังจบปริญญาตรี สาขาการตลาด และจบ MBA จากธรรมศาสตร์ ทำงานด้านจัดซื้อ ด้านการตลาดในบริษัทเอกชน ด้วยครอบครัวอยู่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีขนมปังไส้สับปะรดอร่อยมาก สมัยเรียนและตอนทำงานมักซื้อมาฝากเพื่อนๆเป็นประจำ จึงมีแนวคิดทำชีสไส้สับปะรดเอง ปี 2547 จึงตัดสินใจซื้อสับปะรดจากปราณบุรีมาทำ ภายใต้แบรนด์ “แน็คเก็ต” เริ่มจากเสนอขายตามยี่ปั๊ว ร้านกาแฟ และในตลาดชุมชน พอธุรกิจเริ่มไปได้จึงขยายตลาดมาจนปัจจุบัน”
พัทธนันท์ แสงสุขเกษมศักดิ์ ผู้ประกอบการวัย 44 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ จำกัด ย่านบางพลัด กรุงเทพฯ เล่าที่มาของขนมชีสไส้สับปะรด ก่อนขยายสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ช่วงแรกแค่ขนมชีสไส้สับปะรดอย่างเดียวก็มียอดขายหลักหมื่น แต่ช่วงดีๆได้ถึงหลักแสน เมื่อคิดขยายตลาด อย่างแรกก็มองไปที่ร้านเซเว่นฯที่มีสาขาจำนวนมากทั่วประเทศ ปี 2549 จึงนำสินค้าไปเสนอ แต่กว่าจะได้ขายของจริงก็ปี 2550 เพราะทางเซเว่นฯต้องเข้ามาสำรวจสถานที่ผลิต ได้มาตรฐาน มีกำลังผลิตเพียงพอหรือไม่
...
“บริษัทกับทางเซเว่นฯใช้เวลาพัฒนาสินค้าร่วมกัน 1 ปี เพราะเราต้องพัฒนาตัวเอง ต้องยกระดับ และพัฒนาสินค้า จากเดิมโรงงานผลิตย่านบางพลัด มีแค่มาตรฐาน อย. พัฒนาให้สูงขึ้นจนได้มาตรฐาน GMP และ HACCP ต่อมาเพิ่มไลน์สินค้า จนทุกวันนี้มีทั้งหมด 22 รายการ ส่วนใหญ่เป็นขนมขบเคี้ยว ถือเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรในชุมชนมาแปรรูป ช่วยทำให้ชาวบ้านและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เป็นเครือข่ายจาก 5 จังหวัด มีงานทำ รวมกันเป็นเครือข่าย จนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ”
สำหรับสินค้ามีทั้งหมด 5 กลุ่ม กลุ่มแรก แครกเกอร์ไส้สับปะรด ไส้ สตอว์เบอร์รี รับซื้อจากเกษตรกรปีละ 70-100 ตัน กลุ่มที่ 2 ปั้นสิบไส้ต่างๆ ผสมข้าวสังข์หยดของ จ.พัทลุง เช่น ไส้ปลา ไส้ถั่ว ไส้ต้มยำกุ้ง รับซื้อจากเกษตรกรปีละ 20-30 ตัน กลุ่มที่ 3 กลุ่มกล้วยทอดสุญญากาศ เป็นกล้วยหอมทอดจาก จ.ชุมพร รับซื้อจากเกษตรกรปีละ 20-30 ตัน กลุ่มที่ 4 ผัก ผลไม้ทอด เช่น กล้วย เผือก มัน ฟักทอง จาก จ.สุโขทัย รับซื้อจากเกษตรกรปีละ 100 ตัน และ กลุ่มที่ 5 อาหารทะเลจาก จ.ตราด รับซื้อจากเกษตรกรปีละ 30 ตัน
รวมแล้วรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรปีละเกือบ 300 ตัน
โดยมีสินค้ากลุ่มกล้วย มัน เผือก ฟักทองทอด ขายดีอันดับหนึ่ง รองลงมากลุ่มอาหารทะเล ปูกรอบ กุ้งกรอบผสมสมุนไพร และอันดับ 3 เป็นกลุ่มกล้วยหอมทองกรอบ
เจ้าของบริษัท ทันน่า ฟู๊ดส์ฯ บอกถึงเคล็ดลับเหตุใดจึงยืนหยัดค้าขายกับร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทุกหัวระแหงของประเทศมาได้ยาวนานถึง 15 ปี กระทั่งสิ้นปีที่แล้ว ปั้นยอดขายไปกว่า 40 ล้านบาท...ต้องทำผลิตภัณฑ์ให้มีจุดเด่น อร่อย ได้คุณภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชนเพื่อกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยบริษัทซื้อสินค้าจากชุมชนปีละหลายร้อยตัน และมีความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งปริมาณสินค้า มาตรฐานที่สากลยอมรับ
...
ที่สำคัญต้องไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาสินค้า เพื่อเพิ่มยอดขาย และให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น อย่างที่นี่ปี 2564 ก็จะนำสินค้าที่ขายอยู่แล้วนำมาพัฒนา เช่น ขนมปังชีสไส้สับปะรด ไส้สตรอว์เบอร์รี และขนมปั้นสิบ จะปรับแพ็กเกจใหม่ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมกับปรับสูตรพัฒนาให้อร่อยขึ้น
เพราะเซเว่นฯ ทำงานเป็นขั้นตอน ถ้าสินค้าเราพร้อมมีมาตรฐานครบถ้วน เซเว่นฯเปิดโอกาสและสนับสนุนผู้ประกอบการ นับเป็นผู้ประกอบการอีกรายที่เมื่อจังหวะและโอกาสมาถึง ก็ใช้ความพยายาม และยอมรับปรับเพื่อการพัฒนา เข้ามาผสมผสานกัน จนประสบความสำเร็จ.
...
กรวัฒน์ วีนิล