ต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (the Commission on Narcotic Drugs : CND) ได้พิจารณาข้อเสนอของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนการควบคุมกัญชาและสารที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจำนวน 6 ประเด็น โดยมีมติเห็นชอบ 1 ประเด็น คือ การถอดกัญชา ซึ่งหมายถึงช่อดอก และยางกัญชา (Cannabis and Cannabis resin) ออกจากรายชื่อสารควบคุมในระดับสูงสุดของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 แต่ยังให้คงอยู่ในรายชื่อสารควบคุมที่อนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์ ของอนุสัญญาฯ ด้วยคะแนน เสียงจำนวน 27 เสียง จากประเทศสมาชิก CND ทั้งหมด 53 ประเทศ

โดยประเทศที่เห็นชอบ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี อินเดีย ไทย ส่วนข้อเสนออีก 5 ประเด็นที่เหลือยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม CND

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอกว่า มติดังกล่าวไม่ใช่การปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด เป็นเพียงแค่การปรับลดระดับการควบคุมเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้มากขึ้น จากเดิมที่กัญชาและยางกัญชาถูกควบคุมในระดับสูงสุดของอนุสัญญาฯ ซึ่งมีข้อจำกัดการใช้ทาง การแพทย์และการศึกษาวิจัยอย่างมาก

...

“การลดระดับการควบคุมกัญชาและยางกัญชาในครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้มากขึ้น แต่การผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก และครอบครองกัญชายังคงต้องมีใบอนุญาตและใช้ตามคำสั่งแพทย์”

เลขาธิการ อย. ย้ำพร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มติครั้งนี้ไม่ใช่การถอดกัญชาออกจากอนุสัญญาฯ และไม่มีผลต่อการควบคุมกัญชาของประเทศไทย เนื่องจากกฎหมายไทยก้าวหน้าไปกว่ามติดังกล่าวแล้ว เพราะไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และให้แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านเป็นผู้สั่งจ่ายยากัญชาให้กับผู้ป่วยอยู่แล้ว

ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอกว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีสาระสำคัญในการ ปลดล็อกทุกส่วนของต้นกัญชา กัญชง ออกจากยาเสพติดให้โทษ ยกเว้น ช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอกของกัญชาและกัญชง และเมล็ดกัญชา เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์กัญชาและกัญชงเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ การปลูกกัญชาขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ปลูกโดยทั่วไป เกษตรกรยังคงต้องรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ โดยสามารถระบุเงื่อนไขการนำส่วนต่างๆ ที่ได้รับการยกเว้นตามประกาศฯฉบับนี้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ขออนุญาตปลูกกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม 2563 นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยังบอกด้วยว่า ประกาศดังกล่าวยังรวมถึงกัญชง พืชกระท่อม พืชฝิ่น เห็ดขี้ควาย หรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยในกรณีของกัญชาและกัญชง การนำเข้ายังคงต้องนำเข้าตามกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ยกเว้น เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง พร้อมกับบอกว่า ได้เดินทางลงพื้นที่ เยี่ยมชมความคืบหน้าการปลูกกัญชาโดยวิสาหกิจชุมชน ณ วิสาหกิจชุมชนรักจังฟาร์ม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐพัฒนาโมเดลการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในรูปแบบโรงเรือน (กรีนเฮาส์) เพื่อส่งผลผลิตไปผลิตเป็นตำรับยากัญชาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยหวังนำไปต่อยอดขยายผลไปยังวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาทางการแพทย์ ให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าต่อพี่น้องเกษตรกร นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของประชาชน และสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ในกลุ่มผู้ปลูกและผู้ประกอบการในอนาคตต่อไป

ภญ.สุภัทรา บอกในตอนท้ายว่า คาดว่าทิศทางสำหรับกัญชาในปี 2564 นี้ คนไทยจะได้เห็นภาพของพัฒนาผลิตภัณฑ์และงานบริการเพื่อสุขภาพที่มีการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาและกัญชงอย่างถูกต้อง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในฐานราก และการพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา กัญชงได้อย่างยั่งยืน.

...